เบื้องลึกเด้งอธิบดีทย. เซ่นการเมืองขวางทอท.ฮุบสนามบิน

08 ก.ย. 2562 | 12:55 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2562 | 19:57 น.
44.8 k

       การสั่งโยกย้ายอธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.)อัมพวัน วรรณโก ไปนั่งเก้าอี้ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม จากมติครม.เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 ฟันธงได้เลยว่าเป็นการเด้งจากการไม่สนองการเมือง ที่เกิดขึ้นในยุค ศักดิ์สยาม ชิดชอบ นั่งกุมบังเหียนหูกวาง

       ประเด็นอยู่ที่ไปขวางลำแผนการโอนสนามบิน 4 แห่งของทย.ไปให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่ก่อนหน้านี้วงในทราบกันดีว่าอธิบดีลูกหม้อทย.คนนี้ออกตัวค้านในเรื่องนี้สุดตัว

 

เบื้องลึกเด้งอธิบดีทย.  เซ่นการเมืองขวางทอท.ฮุบสนามบิน

อัมพวัน วรรณโก

 

ใบสั่งโอนสนามบินบุรีรัมย์

       การโอนสนามบิน หากว่ากันไปตามเนื้อผ้า รัฐบาลชุดที่แล้ว การโอนย้ายสนามบินของทย. 4 แห่งให้ทอท. ที่มีการตกลงร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งทย., ทอท., คมนาคม ที่ตั้งเป็นอนุกรรมการพิจารณาในเรื่องนี้ ก็มีข้อสรุปว่าทย.จะโอนสนามบินสกลนคร, อุดรธานี, ชุมพร และตาก มาให้ทอท.ดูแล แต่ยังต้องไปหารือในเรื่องของข้อกฎหมาย เพื่อต่อจิ๊กซอว์บูรณาการเชื่อมโยงเส้นทางบินระหว่างประเทศให้เกิดแอร์พอร์ตคลัสเตอร์ ครอบคลุม 4 ภาคของไทย

      แต่วันดีคืนดีพอเปลี่ยนรัฐบาล มีใบสั่งลอยมาว่าต้องมีสนามบินบุรีรัมย์อยู่ในลิสต์ที่ต้องโอนให้ทอท.ไปดูแลด้วย งานนี้เลยมีการต่อรองกันเกิดขึ้นว่าให้เอาสนามบินกระบี่มาด้วย ถ้าได้ไปทอท.ถือว่าหยิบชิ้นปลามัน เพราะสนามบินภูเก็ตก็แน่นขนัดการจะสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่พังงาก็แค่แผน ขณะที่สนามบินกระบี่วันนี้ไม่เพียงมีการขยายตัวของผู้โดยสารที่ดี แต่รัฐบาลยังสนับสนุนงบร่วม 6พันล้านบาท และอยู่ระหว่างขยายสนามบิน


 

 

ทย.ค้านโอนสนามบินกระบี่

     งานนี้เลยเดินหน้าสมประสงค์เมื่อบอร์ดทอท.ไฟเขียวเปลี่ยนจากสนามบินสกลนคร สนามบินชุมพร มาเป็นสนามบินบุรีรัมย์และสนามบินกระบี่ แต่ยังคงรับโอนสนามบินอุดรธานี สนามบินตากไว้เหมือนเดิม เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมชงเข้าครม. แต่มาสะดุดตรงที่ทย.ออกแถลงการณ์คัดค้าน เนื่องจากเห็นอนาคตอันริบหรี่ของทย.เลยว่าจะไปไม่รอด และเป็นภาระให้กับรัฐบาลมากกว่าเดิม

       เพราะปัจจุบันสนามบินกระบี่มีผู้โดยสาร 4 ล้านคนต่อปี และเป็นสนามบินที่เลี้ยงสนามบินของทย.กว่า 28 แห่ง เนื่องจากเป็นสนามบินที่มีกำไร คิดเป็นสัดส่วน 55% ซึ่งก่อนหน้านี้ทย.ก็ยังพอทำใจว่า ทอท.เอาสนามบินอุดรธานี ที่ก็พอมีกำไรไปถัวเฉลี่ยกับ 3 สนามบินขาดทุนที่รับไป ทย.ก็ยังพอเดินต่อได้ แต่ไม่ใช่เอาสนามบินเส้นเลือดใหญ่ไป

      ทั้งยังเรื่องของความชอบธรรมในการโอนสนามบินในครั้งนี้ เพราะในอดีตการโอน 6 สนามบินของทย. อย่างดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่, แม่ฟ้าหลวงเชียงราย การโอนตอนนั้นเป็นการโอนให้หน่วยงานรัฐเหมือนกัน เพราะตอนนั้นทอท.ยังไม่ได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯ แต่นับจากทอท.เปิดขายหุ้น 30% วันนี้ถือว่าทอท.ไม่ ใช่ของรัฐ 100% เหมือนในอดีต การโอน 4 สนามบินของรัฐที่รัฐลงทุนไปให้ทอท.ที่มีสถานะเป็นบริษัทเอกชนไปต่อยอดทำกำไร จึงไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับได้

 

เบื้องลึกเด้งอธิบดีทย.  เซ่นการเมืองขวางทอท.ฮุบสนามบิน

 

ไม่ให้โอนแต่จ้างทอท.บริหาร

         นี่เองทำให้ ทย.เสนอรูปแบบที่ไม่ต้องโอน คือการบริหารสัญญาร่วม หรือจ้างบริหาร ไม่ใช่ PPP ซึ่งทั้ง 3 สนามบินไม่ว่าจะเป็นสนามบินอุดรธานี, สนามบินบุรีรัมย์, สนามบินตาก แม้ปริมาณผู้โดยสารจะยังไม่มาก แต่ทอท.มองว่า มีแนวทางที่สามารถพัฒนาได้และทอท.มีศักยภาพในการบริหารจัดการการลงทุน ซึ่งวิธี  นี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพสนามบินของ ทย.ได้ ทั้งยังไม่นับรวมผล กระทบที่ผู้โดยสารจะต้องจ่ายเพิ่มหลังการโอนสนามบิน เช่น ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (พีเอสซี) ในประเทศ ทย.เก็บ 50 บาท ก็จะกลายเป็น 100 บาท เส้นทางระหว่างประเทศจาก 400 บาทเป็น 700 บาท ค่าบริการต่างๆ ที่สายการบินจะต้องจ่ายเพิ่มตามอัตราที่ทอท.จัดเก็บ ประเด็นเหล่านี้ล้วนดึงสายการบินมาเป็นแนวร่วมในการออกโรงค้านในเรื่องนี้เช่นกัน

       บทสรุปหลังอธิบดีออก โรงค้านศักดิ์สยามนั่งหัวโต๊ะฟันธงว่าให้ทอท.เข้าบริหาร 3 สนามบินของทย.ได้แก่ สนามบินอุดรธานี, สนามบินบุรีรัมย์, สนามบินตาก ในลักษณะการจ้างทอท.บริหาร โดยไม่ต้องประมูล ซึ่ง ทย.ยังคงเป็นเจ้าของสนามบินและทรัพย์สิน โดยจะมีการตีมูลค่าทรัพย์สินในส่วนของ ทย. และเงินลงทุนในส่วนของทอท. ในการพัฒนาศักยภาพสนามบิน เพื่อแบ่งรายได้ตามสัดส่วนที่ลงทุน ซึ่งอาจจะกำหนดเป็นขั้นตํ่าไว้ (Minimum)

ทั้งนี้ผลกำไรที่เกิดขึ้นจะมีการนำส่งเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานเพื่อลดภาระงบประมาณ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพสนามบินของทย. ก่อนจะตามมาด้วยการเด้งอธิบดีทย. เข้ากรุเรียบร้อยโรงเรียนจีน

 

รายงาน โดย โต๊ะข่าวท่องเที่ยว

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3503 วันที่ 8-11 กันยายน 2562

เบื้องลึกเด้งอธิบดีทย.  เซ่นการเมืองขวางทอท.ฮุบสนามบิน