ผงะ!! ‘คดีจำนำข้าว’ ยกฟ้องเพียบ

24 ส.ค. 2562 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2562 | 17:12 น.
203.9 k

“นิพนธ์” แฉ 2 หน่วยงานรัฐ “อคส.-อ.ต.ก.” ไล่ฟ้องจำนำข้าวแพ้กราวรูดยกฟ้องเพียบ ส่อเจตนาเจ้าหน้าที่ไม่สุจริต แต่ชม “บิ๊กตู่” ตัดสินใจเร็วเร่งขาย ก่อนการเมืองปกติ หวั่นอาศัยช่องรีดเงินผู้เกี่ยวข้อง อาจจะส่อบานปลาย แต่ยังมีข้าวผีนอกบัญชีโผล่ 8.3 หมื่นตันมองเป็นเสี้ยนหนามในอนาคต

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ยังคงเกาะติด “มหากาพย์ทุจริตจำนำข้าว” ถึงความคืบหน้าการเรียกค่าเสียหายกับผู้เกี่ยวข้องในคดีรับจำนำข้าวในสัดส่วน 80% (อีก 20% นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ)ที่มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 1.15 แสนล้านบาทนั้น ตัวเลขดังกล่าว เป็นผลมาจากการตรวจสอบข้าวคงเหลือในคลังกลางของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ตั้งแต่ปีการผลิต 2554/2555 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 จำนวน 987 คดี มีมูลค่าความเสียหาย 1.15 แสนล้านบาท (โดยแบ่ง องค์การคลังสินค้า (อคส.)กว่า 9 หมื่นล้านบาท และ องค์การตลาดเกษตรกร (อ.ต.ก.) กว่า 2.37 หมื่นล้านบาท)   ล่าสุดมีความคืบหน้าอย่างไรนั้น

ผงะ!! ‘คดีจำนำข้าว’ ยกฟ้องเพียบ

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และในฐานะคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ส่วนใหญ่คดีที่ อ.ต.ก.และอคส.ฟ้องสู้ไม่ได้ ยกฟ้องไปเยอะ ผมคิดว่าเจตนาเพราะเจ้าหน้าที่บางคนไม่สุจริต การเมืองเข้ามาเห็นช่องหาเงิน แล้วการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ลงนามในคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด เพื่อจัดการขายให้เร็วที่สุดนั่นคือสิ่งที่ “ถูกต้อง" แต่ก็ยังจัดการไม่หมดส่วนข้าวที่เหลืออยู่ (ข้าวนอกบัญชี) จำนวน 8.3 หมื่นตัน จะเป็น "เสี้ยนหนาม " ในอนาคต

ผงะ!! ‘คดีจำนำข้าว’ ยกฟ้องเพียบ

อนึ่ง โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดภาย เป็นหนึ่งในโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเข้ามาสู่สภาก็เริ่มทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนในโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท แม้จะมีการท้วงติงมากมายจากทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ รวมทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยเริ่มรับจำนำข้าวปี 2554-57 เป็นโครงการแทรกแซงตลาดข้าวไทยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยรัฐบาลใช้เงิน 9.85 แสนล้านบาทซื้อข้าว 54.4 ล้านตัน ขาดทุนทั้งสิ้น 5.4 แสนล้านบาท ภายหลังการตรวจสต๊อกข้าว พบว่าข้าวร้อยละ 80 ไม่ผ่านมาตรฐาน ถ้าตีราคาสต็อกที่ 7,500 บาท จะขาดทุน 6.6 แสนล้านบาท (ทีดีอาร์ไอ)