ยกเครื่อง "ศูนย์สิริกิติ์" โฉมใหม่สุดอลังการ เปิดปลายปี 65

08 เม.ย. 2562 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2562 | 19:39 น.
10.5 k


... ใกล้จะปิดให้บริการในวันที่ 13 เม.ย. นี้ สำหรับ "ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์" เพื่อขยายการลงทุนใหม่ หลังเปิดให้บริการมากว่า 27 ปี นับจากที่ถูกสร้างขึ้นในเวลา 20 เดือน เพื่อรองรับการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 46 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 2534 ซึ่งตอนนั้นมีผู้บริหารระดับสูงในแวดวงการเงินทั่วโลกกว่า 1 หมื่นคน จาก 154 ประเทศ เข้าร่วมงาน

 

ยกเครื่อง \"ศูนย์สิริกิติ์\" โฉมใหม่สุดอลังการ เปิดปลายปี 65

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2534-2562 ศูนย์ประชุมแห่งนี้ รองรับการจัดงานมาแล้วทั้งหมด 22,709 งาน และงานสุดท้าย คือ งาน Chest world Congress 2019 ซึ่งเป็นงานของสมาคมแพทย์โรคทรวงอกของประเทศสหรัฐอเมริการ่วมกับสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศ ไทย ที่จัดระหว่างวันที่ 10-12 เม.ย. นี้


⁍ ปิด 4 ปี ขยาย 1.8 แสน ตร.ม.

หลังจากงานนี้ ศูนย์ฯสิริกิติ์จะปิดให้บริการเป็นเวลา 4 ปี เพื่อปรับปรุงและขยายพื้นที่ศูนย์ประชุม นิทรรศการ และที่จอดรถ ตามแผนการลงทุนระยะที่ 3 ซึ่งมีการปรับสัญญาใหม่ มูลค่าการลงทุน 6 พัน - 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้มีการเพิ่มพื้นที่จากปัจจุบัน 6.5 หมื่นตารางเมตร เป็นไม่น้อยกว่า 1.8 แสนตารางเมตร เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจไมซ์ แทนการก่อสร้างโรงแรม 4-5 ดาว รวม 400 ห้อง ตามสัญญาเดิม เนื่องจากติดปัญหาข้อกฎหมายจากการถูกจำกัดความสูงของอาคารไม่เกิน 23 เมตร ตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ก่อนจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในช่วงปลายปี 2565

 

ยกเครื่อง \"ศูนย์สิริกิติ์\" โฉมใหม่สุดอลังการ เปิดปลายปี 65

 

ภายใต้การดำเนินการของ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เอ็น.ซี.ซี.) บริษัทในเครือ "เสี่ยเจริญ" (เจริญ สิริวัฒนภักดี) ที่ได้สิทธิเช่าดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จากกรมธนารักษ์ต่อไปอีกเป็นเวลา 50 ปี จากสัญญาเดิม 25 ปี แลกกับการที่กรมธนารักษ์จะได้ค่าธรรมเนียม 407 ล้านบาท และค่าเช่าตลอดสัญญาอีก 5 พันล้านบาท ทั้งระหว่างการก่อสร้างพนักงานกว่า 600 คน ก็จะกระจายไปทำงานอยู่ในธุรกิจต่าง ๆ ในเครือของเสี่ยเจริญ อย่างโครงการล่าสุด "สามย่านมิตรทาวน์"
 


⁍ จับตาการแข่งขันรุนแรง

อย่างไรก็ตาม การเผยโฉมใหม่ในอีก 4 ปีข้างหน้า แน่นอนว่า ในภาพรวมจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ของไทย แต่ก็นำมาซึ่งการแข่งขันในธุรกิจศูนย์ประชุมที่จะต่อสู้กันรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

เพราะหลังการลงทุนที่เกิดขึ้นจะทำให้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีพื้นที่ศูนย์ประชุมเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 1.8 แสน ตร.ม. ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือใกล้เคียงกับศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม "อิมแพ็ค เมืองทองธานี" ซึ่งมีพื้นที่จัดงานในร่มมากกว่า 1.4 แสน ตร.ม. และหากรวมการจัดงานกลางแจ้งก็อยู่ที่ราว 1.7 แสน ตร.ม. ตามมาด้วยศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคที่มีพื้นที่จัดงาน 5 หมื่น ตร.ม., รอยัลพารากอนฮอลล์ 1.2 หมื่น ตร.ม.

 

ยกเครื่อง \"ศูนย์สิริกิติ์\" โฉมใหม่สุดอลังการ เปิดปลายปี 65

 

อีกทั้งด้วยทำเลของศูนย์ฯสิริกิติ์ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็ทำให้ได้เปรียบในเรื่องของโลเกชันอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ สำหรับการจัดงานที่ต้องการผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมาก

 

ยกเครื่อง \"ศูนย์สิริกิติ์\" โฉมใหม่สุดอลังการ เปิดปลายปี 65

 

⁍ นำเอกลักษณ์ไปอยู่ในโฉมใหม่

ไม่เพียงพื้นที่การจัดงานที่จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น ศูนย์สิริกิติ์โฉมใหม่ก็จะยังคงเก็บศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านรูปทรงทางสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายใน ที่สื่อถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านผลงานศิลปะของศูนย์ประชุมแห่งนี้เอาไว้

แม้อาจจะนำผลงานศิลปะมาไม่ครบทั้ง 1,500 ชิ้น แต่ผลงานศิลปะอันโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ที่เราจะเห็นอยู่ในโฉมใหม่แน่ ๆ คือ "โลกุตระ" (ประติมากรรมคล้ายการไหว้ของคนไทย) ที่ตั้งอยู่หน้าศูนย์ประชุม "ศาลาไทย" (สถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีภาคกลางตามธรรมเนียมช่างหลวง) "พระราชพิธีอินทราภิเษก" (ประติมากรรมไม้จำหลักนูนตํ่านูนสูงและกึ่งลอยตัวขนาดใหญ่ที่สุดภาพหนึ่งในศูนย์ฯสิริกิติ์) ที่จะถูกนำกลับมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของศูนย์ฯสิริกิติ์โฉมใหม่ ที่จะเปิดตัวในอีก 4 ปีข้างหน้านี้

 

ยกเครื่อง \"ศูนย์สิริกิติ์\" โฉมใหม่สุดอลังการ เปิดปลายปี 65

 

| รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร


หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3459 ระหว่างวันที่ 7 - 10 เมษายน 2562
 

ยกเครื่อง \"ศูนย์สิริกิติ์\" โฉมใหม่สุดอลังการ เปิดปลายปี 65