เอกชนระนองห่วงวิกฤติแรงงานภาคเกษตรขาด

14 มี.ค. 2559 | 12:00 น.
อกชนระนอง ห่วงวิกฤติแรงงานภาคเกษตรขาด ชี้ชัดโรงงานอุตสาหกรรมประมงโคม่า เหตุต่างด้าวไม่นิยมงานหนัก-เหนื่อย-ค่าจ้างต่ำ

นางสุดาพร ยอดพินิจ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ภาคเอกชนจังหวัดระนองได้ เปิดเวทีย่อยเพื่อเสวนาเกี่ยวกับปัญหาแรงงาน โดยมี 4 องค์กรเอกชนของจังหวัดระนองเข้าร่วมประกอบด้วยหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมผู้ประกอบการประมง สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว ทั้งนี้สิ่งที่ 4 องค์กรภาคเอกชนเป็นห่วงและกังวลมากที่สุดคือ ปัญหาขาดแคลนแรงงานและการเคลื่อนย้ายของแรงงาน

โดยเฉพาะวิกฤติปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร ที่พบว่าปัจจุบันแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านไม่นิยมที่จะทำงานในภาคการเกษตร เนื่องจากเป็นงานที่เหนื่อย ค่าจ้างต่ำเมื่อเทียบกับแรงงานในภาคธุรกิจบริการอื่นๆ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร พนักงานหน้าร้าน ที่แรงงานจะให้ความนิยมทำมากกว่า เนื่องจากเป็นงานที่สบาย แต่งตัวสวย ค่าจ้างสูง เป็นที่นิยมของแรงงานหนุ่มสาว ส่วนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็จะมีการเลือกงานมากขึ้น โดยแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมง หรือต่อเนื่องจากประมงจะเริ่มหาแรงงานยากมากขึ้น เนื่องจากแรงงานมีการเคลื่อนย้ายไปทำงานในจังหวัดชั้นใน ส่วนของอุตสาหกรรมประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

แม้ว่าปัจจุบันจะมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในไทยมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งแรงงานที่เข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านเริ่มพัฒนาฝีมือแรงงานตนเองจนทำให้แรงงานประเภทไร้ฝีมือเริ่มขาดแคลนอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจการค้า กลุ่มผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดระนองและต่างจังหวัด ต่างวิตกต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพราะจากการศึกษาข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าโครงสร้างประชากรของไทยที่พบว่าวัยเรียน วัยทำงาน และวัยเกษียณไม่สมดุลกัน

จากโครงสร้างที่พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรในวัยทำงานมากถึง 55% ในขณะที่วัยเรียน 28% และวัยเกษียณ 17% ซึ่งตัวแปรเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาในอนาคตได้เป็นอย่างดีว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า หลังจากกลุ่มประชากรวัยทำงานซึ่งมีอายุระหว่าง 20-54 ปี เข้าสู่วัยเกษียณ จะมีประชากรที่อยู่ในวัยเรียนในปัจจุบันมีเพียง 28% เข้ามาทดแทน ทำให้ประชากรวัยทำงานที่เคยมีอยู่หายไปถึง 22% ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาขาดแคลนแรงงานในระดับที่รุนแรง ซึ่งปัจจุบันปัญหาดังกล่าวเริ่มปรากฏให้เห็นที่ไทยต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านกว่า 10 ล้านคน เพื่อเข้ามาทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน แต่ก็พบว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ดังนั้นจึงทำให้ผู้ประกอบการมีความวิตกเป็นอย่างมาก เพราะจะส่งผลต่อแผนงานของแต่ละบริษัท ทั้งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนย้ายทุนออกจากประเทศไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในท้องถิ่นก็กำลังหาช่องทางที่จะขยายฐานธุรกิจเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีประชากรในวัยทำงานพร้อมรองรับการประกอบการในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559