ปั้นแลนด์มาร์กโลก ‘สิงห์ปาร์ค’ชูท่องเที่ยว-กีฬาสู่ Worldclass Destination

08 ธ.ค. 2561 | 17:19 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2561 | 00:19 น.
619
“สิงห์ปาร์ค” เดินหน้าปั้น Worldclass Destination ด้านท่องเที่ยวและกีฬา ทุ่ม 1,000 ล้านลงทุนรีสอร์ตสไตล์ล้านนาสุดหรู 6 ดาว ปักหมุดอีเวนต์ทั้งเทศกาลดนตรี-บัลลูน-กีฬา ที่ต้องมาเยือน

กว่า 7 ปีหลังการรีแบรนด์ภาพของ “ไร่บุญรอด” สู่ชื่อใหม่ “สิงห์ปาร์ค” ด้วยหวังสร้างภาพใหม่ของแบรนด์ให้ดูทันสมัย ต่อยอดการดำเนินธุรกิจของ “บุญรอดบริวเวอรี่” ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น คืนกำไรและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนโดยรอบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Worldclass Destination ในการเป็นแลนด์มาร์กระดับโลกทั้งด้านการท่องเที่ยวและกีฬา

นายพงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของสิงห์ปาร์ค จากนี้คือการขยายรูปแบบการบริการภายในพื้นที่ให้ครบวงจรมากขึ้น พร้อมกับสร้างความเข้าใจในด้านธุรกิจและการตอบแทนสังคมให้แก่ชุมชนโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นสิงห์อาสานํ้าท่วม หรือการเข้าพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่มุ่งการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม มากกว่าการเข้าไปหวังผลกำไรในพื้นที่ หลังจากตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนไปแล้วกว่า 2,500 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสิงห์ปาร์ค ให้เหมาะกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างสิงห์ปาร์ค สู่แลนด์มาร์คระดับโลก หรือเป็น Worldclass Destination เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวและกีฬา

$RMT0JCD

“แม้ที่ผ่านมาจะเปลี่ยนชื่อจากไร่บุญรอดสู่สิงห์ปาร์ค แต่ทว่าแนวทางการทำเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจของเชียงรายยังเหมือนเดิม ซึ่งการรีแบรนด์ชื่อนั้นเนื่องมาจากคำว่าไร่บุญรอดจะเป็นการจำกัดการดำเนินธุรกิจมากจนเกินไป ทำให้มีอุปสรรคต่อการขยายงาน โดยภาพใหม่ของสิงห์ปาร์คหากเปรียบเทียบจะเป็นผู้ชายวัยกลางคนที่รักสุขภาพ ชื่นชอบการออกกำลังกาย และมีสุขภาพดี”

mp36-3424-a สำหรับแผนงานช่วง 2 ปีนับจากนี้คือการสร้างสิงห์ปาร์คให้มีความครบวงจรในตัวเองเพิ่มขึ้น ด้วยการใช้งบประมาณราว 500-1,000 ล้านบาท เปิดตัวรีสอร์ตระดับ 6 ดาว ในรูปแบบวิลล่าสไตล์ล้านนา บนพื้นที่ 60-80 ไร่ หลังจากช่วงที่ผ่านมาได้ลงทุนเปิดทะเลสาบขนาดใหญ่บนพื้นที่ 250 ไร่ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี ในการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันยังมีการเลือกปลูกพืชผักเมืองหนาวที่ไม่ซํ้าใคร โดยเป็นพันธุ์พืชจากต่างประเทศที่ไม่มีในไทย อาทิ แมคคาเดเมีย ฯลฯ การจับมือกับชาวญี่ปุ่นปลูกเมลอนญี่ปุ่นในพื้นที่เพื่อสร้างจุดเด่นของสินค้าและการท่องเที่ยวในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็พร้อมเป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรให้ชุมชนและมีการรับซื้อ

$RSC7MMK

“มีคนเคยถามคุณสันติ ภิรมย์ภักดีว่า ภาพสุดท้ายของสิงห์ปาร์คจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าคำตอบที่ได้คือ “ไม่มี” เพราะแม้จะวางเป้าหมายสู่การเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกก็ตาม เนื่องจากมองว่าพื้นที่จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าในอนาคตการทำให้ฟาร์ม เฟส กลายเป็นไอคอนิกของประเทศไทย จำเป็นต้องมีการร่วมมือกับภาครัฐในการกระตุ้นและลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเจรจาบ้างแต่ยังไม่เป็นผล”

$RBRF52W

ด้านการจัดกิจกรรมอีเวนต์ ต่างๆ จะให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมต่างๆบนพื้นฐานของวัฒนธรรมไทย และเชียงราย เพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวยุโรป หรือกลุ่มใหม่ๆมากขึ้น โดยที่ผ่านมามีกิจกรรมไฮไลต์ อาทิ “มิวสิก เฟสติวัล” สิงห์ ฟาร์ม เฟส ออน เดอะ ฮิลล์, การจดทะเบียนสมรสบนบัลลูนยักษ์ ในเทศกาลบัลลูน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวถูกบรรจุเข้าไปในปฏิทินการท่องเที่ยวของเชียงรายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

$R8ZYYU9

“การบริหารจัดการ อาหาร คุณภาพเครื่องเสียง การจัดงาน พนักงานยิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้เทศกาลมิวสิกเฟสติวัลของสิงห์ ปาร์ค กลายเป็นงานระดับเวิลด์คลาสไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากวัดจากมุมมองของชาวต่างชาติจะรู้จักชื่อและกิจกรรมในสิงห์ปาร์คและยอมรับว่าเป็นเวิลด์คลาสกว่า 50%”

นอกจากนี้ในปีหน้ายังได้เตรียมจัด“ไตรกีฬาคนเหล็ก” (Ironman Triathlon) ขึ้น พร้อมปั้นอีเวนต์การปั่นจักรยานต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่ทางสิงห์ปาร์คมีการจัดอีเวนต์กีฬาราว 14 ครั้งต่อปี เพื่อสร้างแม็กเนตใหม่ๆให้กับพื้นที่ พร้อมมองหาอีเวนต์กีฬาระดับโลกมาเสริมทัพ หวังเป็นอีกหนึ่ง Sport Destination ที่สำคัญของโลก ขณะเดียวกันยังมองหากิจกรรมที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถมาท่องเที่ยวในฤดูฝน ซึ่งเป็นหน้าโลว์ซีซันให้สามารถเข้ามาท่องเที่ยวได้ เบื้องต้นอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนงาน

$RT71WV5

นายพงษ์รัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของสิงห์ ปาร์ค ไม่เพียงแต่มุ่งมั่นสร้างการเติบโตในเชิงธุรกิจเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งนโยบายการ ทำตลาดของบริษัทส่วนหนึ่งต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคมและคนในพื้นที่ ซึ่งบริษัทมุ่งเน้นการสร้างเศรษฐกิจให้เชียงราย ผ่านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีการผสมผสานเอาวัฒนธรรมเข้าไปให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยต้องไม่ทำลายความเป็นเชียงรายและไทย ซึ่งตลอด 6 ครั้งที่มีการจัดเทศกาล Farm Fest on The Hill และเทศกาลบัลลูน พบว่าห้องพัก ร้านอาหารและโรงแรม ถูกจองจนเต็ม ขณะเดียวกันแนวโน้มจีดีพีของเชียงรายก็มีการเติบโตต่อเนื่องมาตลอด นั่นเองคือเป้าหมายของบริษัท และแน่นอนว่าทั้งในตอนนี้ไปจนถึงในอนาคตแผนงานคือต้องสร้างการเติบโตให้พื้นที่ ประชาชนในพื้นที่ได้มีรายได้จากการจ้างงาน โดยปัจจุบันสิงห์ปาร์ค เชียงรายมีการจ้างงาน 1,200 คน ซึ่งส่วนใหญ่ 90% เป็นประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป้าหมายของเราคือสร้างเพื่อให้ ไม่ได้สร้างเพื่อเอาประโยชน์

$R6TVZVE

อย่างไรก็ตาม สิงห์ปาร์คมีการเติบโต 25% ต่อปีในแง่ของยอดขาย โดยปีที่ผ่านมาสามารถปิดรายได้ที่ 375 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตแผนงานของสิงห์ปาร์ค จะต้องสามารถสร้างรายได้และทำกำไรอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะมีเม็ดเงินเข้ามาบริหารจัดการและช่วยเหลือชุมชน คนในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ปัจจุบันสิงห์ปาร์ค มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ย 2,500 คนต่อวันในวันปกติ และเพิ่มเป็น 1 หมื่นคนในช่วงไฮซีซันและช่วงที่มีการจัดอีเวนต์ต่างๆ โดยปัจจุบันธุรกิจของสิงห์ปาร์คประกอบไปด้วย 3 ขาหลักที่สร้างรายได้และยอดผู้เข้าชมให้แก่บริษัท ได้แก่ 1.Attracktion 2.Sports และ 3.Music ตามลำดับ

หน้า 36 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,424 ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2561

595959859