ทุจริตสหกรณ์รถไฟพ่นพิษ 14 สหกรณ์-2แบงก์ สูญ 5 พันล้าน สมาชิกหลายหมื่นเครียด

15 มี.ค. 2561 | 15:07 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2561 | 22:07 น.
1.0 k
14 สหกรณ์ออมทรัพย์ และ 2 สถาบันการเงินพร้อมสมาชิกหลายหมื่นคนส่อแววสูญเงินกู้และเงินรับฝากรวมกว่า 5,000 ล้านบาทเหตุผลพวงโดมิโนกรณีทุจริตเงินกู้ 2,000 ล้านบาทของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ ดีเดย์ 14 มี.ค.กลุ่มธรรมาภิบาลยื่นกรมส่งเสริมสหกรณ์สอบเอกสารปลอมวาระการประชุม

นายกิ่งแก้ว โยมเมือง ทนายความกลุ่มธรรมาภิบาล เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ภายหลังการลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการบ้านจัดสรร “อาลีบาบา” และ “อาลีบาบา 2” ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตเงินกู้ 2,000 ล้านบาทของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟจำกัด ว่าความเสียหายในครั้งนี้หากภาครัฐยังเพิกเฉยจะเกิดผลกระทบในวงกว้างตามมาอย่างแน่นอนโดยเฉพาะกับการกู้เงินและการฝากเงินกับสหกรณ์ดังกล่าวนี้

โดยผลพวงที่จะส่งผลกระทบถึงสหกรณ์ออมทรัพย์อื่นๆมีจำนวน 14 สหกรณ์และอีก 2 สถาบันการเงินที่ให้เงินกู้และรับฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟจำกัด พบว่าปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟจำกัด มีสมาชิกประมาณ 6,000 คน มีทุนเรือนหุ้นประมาณ 760 ล้านบาท มีเงินรับฝากจากสมาชิกประมาณ 300 ล้านบาท โดยยังได้รับฝากเงิน และกู้เงินจากสหกรณ์อีกจำนวน 14 แห่ง(ตามภาพอินโฟกราฟิก) นอกจากนี้ยังมีเงินกู้ยืมจากธนาคารกรุงไทยอีกจำนวน 100 ล้านบาท และธนาคารกรุงเทพอีก 60 ล้านบาท หากคิดรวมความเสียหายคาดว่าจะมีกว่า 5,000 ล้านบาท

mp12-3347-aa “นอกจากกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นและสหกรณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ไม่อยากเห็นผลกระทบเกิดขึ้นรอบใหม่เพราะหากสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟจำกัดมีความเสียหายเกิดขึ้นก็จะเกิดผลกระทบต่อสมาชิกทั้ง 6,000 คนแล้วยังจะลามไปถึงสหกรณ์ทั้ง 14 แห่ง และอีก 2 สถาบันการเงินดังกล่าวด้วยซึ่งสมาชิกหลายหมื่นคนจะได้รับความเดือดร้อนและเกิดความเสียหายครั้งใหญ่ตามไปด้วย”

บาร์ไลน์ฐาน นายกิ่งแก้วกล่าวอีกว่า นอกจากนั้นตามที่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 คณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟจำกัด ได้มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ภายหลังจากที่สมาชิกได้ร้องเรียนจนเป็นคดีความ ดังนั้นในวันที่ 14 มีนาคมนี้กลุ่มธรรมาภิบาลจะยื่นหนังสือเพื่อชี้ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เห็นว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสารที่มีการอ้างในการยื่นขอกู้เงินให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ประกอบการพิจารณา และเร่งตรวจสอบการใช้เอกสารปลอมกรณีที่นายบุญส่ง หงษ์ทอง ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ได้รับมติจากคณะกรรมการชุดที่ 7 ครั้งที่ 3 เห็นชอบให้กู้เงินพิเศษเพื่อนำไปพัฒนาที่ดินในการสร้างที่อยู่อาศัยให้สมาชิกซึ่งเป็นมติที่ไม่มีการระบุเอาไว้ในวาระที่ 6 ตามข่าวที่นำเสนอไปแล้วในช่วงก่อนนี้

“โดยกรณีนี้ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์เอาไว้แล้ว ประการสำคัญยังทำให้มองไปได้ว่าจะเข้าสู่ข้อหาความผิดด้านการลักทรัพย์โดยการใช้กลอุบายด้วยการปลอมแปลงรายงานการประชุมที่นำไปยื่นอุทธรณ์ต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ในครั้งนี้ประการสำคัญคณะกรรมการชุดที่ 12 ทั้ง 9 คนที่ยังเหลืออยู่นั้นพบว่าล้วนเคยเป็นคณะกรรมการชุดที่ 7-8-9-10-11 มาแล้วทั้งสิ้นซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างมีคำสั่งให้ดำเนินคดี พร้อมเรียกเงินคืนในครั้งนี้ด้วย จึงต้องให้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เห็นว่ามีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นและเร่งแสดงบทบาทของเจ้าหน้าที่ว่าจะต้องรีบดำเนินการอย่างไรต่อไป”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,347 วันที่ 11 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว