'ททท.' บูม 55 เมืองรอง ปั๊มรายได้ 3.5 แสนล้าน

08 ม.ค. 2561 | 18:11 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2561 | 01:11 น.
674
การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2561 ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ 3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องการสร้างประวัติศาสตร์กระตุ้นรายได้จากไทยเที่ยวไทยแตะ 1 ล้านล้านบาทเป็นปีแรก โดยโจทย์ใหญ่ของการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในปีนี้ ต้องตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระจายรายได้ ลดปัญหาความเหลื่อมลํ้า

++เพิ่ม10 ล.คนเที่ยวเมืองรอง
บทบาทของการท่องเที่ยวจากนี้ จึงเน้นกระจายรายได้สู่เมืองรอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก เพราะที่ผ่านมาแม้การท่องเที่ยวของไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี แต่รายได้ 70% กระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยว และเมืองหลัก 22 จังหวัด แต่อีก 55 จังหวัดที่จัดอยู่ในเมืองรอง (มีนักท่องเที่ยว 3.5 ล้านคน) ได้อานิสงส์เพียง 30%

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการททท.เผยว่าในปีนี้จะปรับสัดส่วนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติในพื้นที่เมืองหลักต่อเมืองรอง จาก 70:30 เป็น 65: 35 รวมถึงกระตุ้นให้คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศ 160 ล้านคนครั้ง โดยมองว่าการสร้างรายได้ไทยเที่ยวไทยที่จะแตะ 1 ล้านล้านบาทในปีนี้ จะเป็นรายได้ที่อยู่ในเมืองหลัก 6.5 แสนล้านบาทและเมืองรอง 3.5 แสนล้านบาท โดยจะเน้นการเพิ่มการท่องเที่ยวเข้าสู่เมืองรองและชุมชนให้ได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนเพิ่มขึ้น 15% เฉลี่ยการใช้จ่ายคนละ 1,000 บาทต่อครั้ง จะกระจายโอกาสในเชิงรายได้จากการท่องเที่ยวให้ลงสู่เศรษฐกิจฐานรากไม่ตํ่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท

mp22-3329-a M22-3329-B มาตรการเที่ยวลดหย่อนภาษีในเมืองรอง 55 จังหวัดตลอดทั้งปี 2561 ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ก็จัดว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ไทยเที่ยวไทย ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีมูลค่าการใช้จ่ายรวมสูงสุด 15,000 บาท คนที่ต้องเสียภาษีในฐานที่ตํ่าสุด 5% ก็จะได้ลดหย่อน 750 บาท และคนที่เสียภาษีในฐานที่สูงสุด 35% ก็จะได้รับการลดหย่อน 5,250 บาท

++จ่อขยายพื้นที่เมืองรองเพิ่ม
สำหรับผู้ประกอบการที่จะได้รับอานิสงส์ คือ โรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีใบกำกับภาษี รวมไปถึงโฮมสเตย์ ที่ได้รับมาตรฐานจากกรมการท่องเที่ยว 86 แห่งในพื้นที่เมืองรองเหล่านี้ จากทั้งหมดที่ได้รับมาตรฐาน 105 แห่งทั่วประเทศ ที่เพียงมีแค่ใบเสร็จก็ยื่นเคลมภาษีได้ ซึ่งตรวจสอบได้ ที่ www.tourism.go.th สำหรับ การขอลดหย่อนค่าห้องพัก

ขณะที่การซื้อแพ็กเกจทัวร์ ผ่านบริษัทนำเที่ยว ก็เคลมภาษีได้ เพียงแต่ต้องใช้บริการนำเที่ยวที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมาตรการภาษีที่เกิดขึ้น อีกหนึ่งนัยที่รัฐบาลอยาก เห็นคือ การดึงให้ผู้ประกอบการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มาเข้าสู่ระบบให้ถูกต้อง

ทั้งนี้ไม่เพียง 55 จังหวัดเมืองรองเท่านั้น ในขณะนี้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯก็กำลังพิจารณาว่าจะเพิ่มที่อื่นๆ ขึ้นมาในอีก 1-2 เดือนนี้ เพื่อให้ได้สิทธิลด หย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรองอย่าง จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการท่องเที่ยวมากที่หัวหิน แต่อำเภออื่นๆ มีไม่มาก ในอำเภอเหล่านี้ก็ควรจะได้รับประโยชน์เช่นกัน เป็นต้น

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยว่า มาตรการภาษีนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวกระจายไปเมืองรองเพิ่มขึ้น 10 ล้านคน และเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในระบบภาษีถึง 60-70% ทั้งยังสร้างสมดุล หากเกิดสถานการณ์ไม่แน่นอนในต่างประเทศ เพราะการท่องเที่ยวเป็นเรื่องอ่อนไหว

“การสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจ และกระจายรายได้สู่ชุมชนยังเป็นการเตรียมความพร้อมไว้รองรับตัวเลขนักท่องเที่ยวตามที่ UNWTO คาดการณ์ไว้ว่าประเทศไทยในอีก 10 ปีหรือปี 2570 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนถึง 60 ล้านคน มากกว่าประชากรของประเทศ จึงต้องสร้างเมืองใหม่ๆ ขึ้นมารองรับ” นายอิทธิฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

++7 กิจกรรมการตลาด
ไม่เพียงมาตรการภาษีเท่านั้น ขณะเดียวกันททท.ยังมีกลยุทธ์ด้านการตลาดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ผ่านแคมเปญ “Amazing Thailand Go Local : เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต” ซึ่งจะมี 7 กิจกรรมหลัก (ตารางประกอบ) ซึ่งเน้นกระตุ้นให้เกิดดีมานด์ในการเดินทางไปเที่ยว ด้วยตัวเองและเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยว ที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี และการผลักดันให้เกิดการจัดประชุม สัมมนา หรือซีเอสอาร์ ในเมืองรอง และด้านซัพพลาย คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและท้องถิ่น

โดยหวังผลผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองรอง, การท่องเที่ยวใน 55 เมืองรอง, การท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างเมืองรองและเมืองรอง และททท.จะมีการจัดทำ คู่มือแนะนำเส้นทางท่องเที่ยว Amazing Thailand Go Local เพื่อให้คนเดินทางเที่ยวเองได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9