ทางหลวงชนบทเร่งแจงชาวบ้านแนวสร้างสะพานข้ามเจ้าพระยาสนามบินน้ำรอสรุปผล

24 ส.ค. 2560 | 20:39 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2560 | 03:39 น.
1.1 k
กรมทางหลวงชนบท ขอชี้แจงกรณีที่สื่อนำเสนอข่าวเว็บไซต์ ในประเด็นที่ว่า ประชาชนในบริเวณตลาดประชานิเวศน์ 3 ร่วมลงชื่อคัดค้านโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี พร้อมระบุว่า โครงการนี้ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ได้รับรู้อย่างทั่วถึง ทำให้ไม่ทราบว่าจะมีการทำถนนยกสูงตัดผ่านชุมชน อีกทั้งเชื่อว่าการสร้างถนนดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด และไม่สามารถแก้ปัญหาจราจรติดขัดได้

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี เป็นโครงการที่อยู่ในแผนแม่บทการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวมอบหมายให้กรมทางหลวงชนบทเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนแม่บทดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556

กรมทางหลวงชนบทมีเกณฑ์การดำเนินโครงการ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นขั้นตอน จำนวน 6 ขั้นตอน ดังนี้
1. การศึกษาความเป็นไปได้ เป็นการพิจารณาแนวทางเลือก เพื่อศึกษาผลกระทบทางบวกและลบของแต่ละทางเลือกให้ได้แนวทางเลือกเพื่อนำไปสู่การจัดทำ EIAใช้ระยะเวลาดำเนินการศึกษาประมาณ 1 ปี (ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560)

2. การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ใช้ระยะเวลาศึกษา ประมาณ 1 ปี
3. การสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการ ใช้ระยะเวลาสำรวจออกแบบ ประมาณ 1 ปี
4. การตราพระราชกฤษฎีกาเวนคืน ควบคู่กับการสำรวจอสังหาริมทรัพย์การเวนคืน ใช้ระยะเวลาดำเนินการ ประมาณ 1 ปี
5. การตั้งงบประมาณเวนคืน และทำการเวนคืน ใช้ระยะเวลา ประมาณ 1 ปี
6. การก่อสร้าง ใช้ระยะเวลา ประมาณ 3 ปี

pisak

ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ กรมทางหลวงชนบทได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน บริษัทที่ปรึกษาได้วางแผนดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่น้อยกว่า 20 กลุ่ม และจัดประชุมเวทีประชาคมไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาได้จัดการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันอังคารที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 เพื่อปฐมนิเทศน์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลพื้นฐาน อาทิ ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และแนวทางพิจารณา ณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เทศบาลนครนนทบุรีเป็นเวลา 4 ชั่วโมง มีผู้เข้าร่วม 303 คน

โดยบริษัทที่ปรึกษาได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนรับทราบจากผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จดหมายเชิญของโครงการ เว็บไซต์ และป้ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งมุ่งหวังผลให้ประชาชนได้รับทราบเบื้องต้นตามวัตถุประสงค์ หลังจากนั้นบริษัทที่ปรึกษาได้จัดประชุมกลุ่มย่อยในพื้นที่อีกหลายครั้ง

 

ผลจากการประชุมครั้งที่ 1 และการลงพื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อย บริษัทที่ปรึกษาได้สรุปแนวทางเลือก 4
แนวทางเลือกที่เป็นไปได้ คือ

แนวทางเลือกที่ 1 ระยะทางประมาณ 10.103 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณใกล้วัดบัวขวัญ
แนวเส้นทางไปทางทิศตะวันตก แล้วมุ่งหน้าไปยังสามแยกสนามบินน้ำในบริเวณพื้นที่ของเทศบาลนครนนทบุรี มุ่งไปยังถนนสนามบินน้ำ แนวเส้นทางจะอยู่บนถนนสนามบินน้ำ โดยรูปแบบถนนจะเป็นทางยกระดับ แนวเส้นทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามแนวของถนนสนามบินน้ำ และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่บ้านพักกรมพลาธิการทหารบก ข้ามมายังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จะลดระดับเป็นถนนระดับพื้นดินในพื้นที่ตำบลท่าอิฐ และมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ข้ามคลองบางบัวทอง และสิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์ที่ กม. 26+500

แนวทางเลือกที่ 2 ระยะทางประมาณ 10.698 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณใกล้วัดบัวขวัญ
แนวเส้นทางไปทางทิศตะวันตก แล้วมุ่งหน้าไปยังสามแยกสนามบินน้ำในบริเวณพื้นที่ของเทศบาลนครนนทบุรี มุ่งไปยังถนนสนามบินน้ำ แนวเส้นทางจะอยู่บนถนนสนามบินน้ำ โดยรูปแบบถนนจะเป็นทางยกระดับ แนวเส้นทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามแนวของถนนสนามบินน้ำ และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่บ้านพักกรมพลาธิการทหารบก ข้ามมายังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจะลดระดับเป็นถนนระดับพื้นดินในพื้นที่ตำบลท่าอิฐ และมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ข้ามคลองบางบัวทอง และสิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์ที่ กม. 25+200

แนวทางเลือกที่ 3 ระยะทางประมาณ 9.850 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่ถนนสามัคคีตัดกับทางพิเศษศรีรัช
แนวเส้นทางจะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามแนวถนนสามัคคีโดยตลอด จนถึงสามแยกสามัคคี เมื่อผ่านแยกสามัคคีแล้วแนวเส้นทางไปทางทิศตะวันตก แล้วจึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณทิศใต้ของพุทธสถานเชิงท่า-หน้าโบสถ์ ข้ามมายังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจะลดระดับเป็นถนนระดับพื้นดินในพื้นที่ตำบลท่าอิฐ และมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ข้ามคลองบางบัวทอง และสิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์ที่ กม. 26+500

แนวทางเลือกที่ 4 ระยะทางประมาณ 10.445 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่ถนนสามัคคีตัดกับทางพิเศษศรีรัช แนวเส้นทางจะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามแนวถนนสามัคคีโดยตลอด จนถึงสามแยกสามัคคี เมื่อผ่านแยกสามัคคีแล้วแนวเส้นทางไปทางทิศตะวันตก แล้วจึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณทิศใต้ของพุทธสถานเชิงท่า-หน้าโบสถ์ ข้ามมายังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจะลดระดับเป็นถนนระดับพื้นดินในพื้นที่ตำบลท่าอิฐ และมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ข้ามคลองบางบัวทอง และสิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์ที่ กม. 25+200

tll

จากการลงพื้นที่สำรวจและการลงพื้นประชุมกลุ่มย่อยบริษัทที่ปรึกษาได้รวบรวมข้อมูลเพื่อให้คะแนนแต่ละทางเลือก โดยพิจารณาจากปัจจัย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม พบว่าแนวทางเลือกที่ 1 มีคะแนนความเป็นไปได้มากที่สุด โดยแนวโครงการเริ่มต้นที่ถนนบริเวณใกล้วัดบัวขวัญ มุ่งหน้าไปยังสามแยกสนามบินน้ำ แนวเส้นทางจะอยู่บนถนนสนามบินน้ำ โดยรูปแบบจะเป็นทางยกระดับ และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่บ้านพักกรมพลาธิการทหารบก ข้ามมายังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจะลดระดับเป็นถนนระดับพื้นดิน และสิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์ที่ กม. 26+500 ได้รับคะแนนสูงสุด

และนำไปแถลงในการจัดเวทีประชาคม ครั้งที่ 2 การประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2560 เพื่อแถลงผลการพิจารณาทางเลือกว่า ทางเลือกที่ 1 มีความเป็นไปได้ ณ โรงแรมนนทบุรี พาเลซ อ.เมือง จ.นนทบุรี เป็นเวลา 4 ชั่วโมง มีผู้เข้าร่วม 641 คน บริษัทที่ปรึกษาได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบจากผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จดหมายเชิญของโครงการ เว็บไซต์ และป้ายประชาสัมพันธ์ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษามีแผนจะจัดการประชุมครั้งที่ 3 เพื่อสรุปผลการดำเนินงานของโครงการในช่วงเดือนตุลาคมต่อไป

สำหรับประเด็นที่ประชาชนบริเวณตลาดประชานิเวศน์ 3 คัดค้าน นั้น กรมทางหลวงชนบทได้กำหนดให้บริษัท ที่ปรึกษาจัดการประชุมกลุ่มย่อยในบริเวณตลาดประชานิเวศน์ 3 โดยเฉพาะ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ชัดเจน พร้อมรับฟังความเห็นและนำข้อมูลมาทบทวนคำนวณคะแนนตามเกณฑ์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเปิดเผยต่อสาธารณะทราบต่อไป รวมทั้งได้กำชับให้มีการเผยแพร่ข้อมูลโครงการให้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและเข้าถึงตัวบุคคลของบ้านแต่ละหลังอย่างทั่วถึง