กฟน.เตือน! อย่าหลงเชื่อ “อุปกรณ์ประหยัดไฟ”

14 ก.ค. 2560 | 19:15 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2560 | 02:15 น.
กฟน. เตือนอย่าหลงเชื่ออุปกรณ์ประหยัดไฟ หลอกลวงประชาชน เผย วิธีการประหยัดค่าไฟที่ดีที่สุด คือ การปรับพฤติกรรม

วันที่ 14 ก.ค. 60 — การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีความห่วงใยประชาชนเกี่ยวกับโฆษณาจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีอุปกรณ์ประหยัดไฟชนิดใด สามารถช่วยลดอัตราการใช้ไฟฟ้าได้ โดยขณะนี้มีผู้ใช้ไฟฟ้าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพดังกล่าว

S__12288198 อย่างไรก็ตาม วิธีการประหยัดไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ปิดทุกครั้งเมื่อไม่ใช้, ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม ไม่ควรต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส ตลอดจนเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง

นายวิชชา ชาครพิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้มีการเผยแพร่การเตือนภัยเกี่ยวกับการจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าบนสื่อสังคมออนไลน์ ยี่ห้อหนึ่ง โดยกล่าวอ้างว่า สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้กว่าร้อยละ 50 จนมีผู้ใช้ไฟฟ้าหลงเชื่อ สั่งซื้อไปใช้งานเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ตกเป็นเหยื่อหลายรายเปิดเผยว่า อุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ตลอดจนไม่สามารถติดต่อกลับไปยังผู้จำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟดังกล่าวได้ จึงมีความพยายามในการแจ้งเตือนประชาชนคนอื่น ๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

S__12288199 กฟน. ในฐานะหน่วนงานรัฐวิสาหกิจที่จำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร, นนทบุรี และสมุทรปราการ มีความห่วงใยประชาชนต่อประเด็นการจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งแม้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าจะมีอยู่จริง แต่ตามปกติจะใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกเรียกเก็บค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์เท่านั้น เช่น กิจการขนาดกลาง, กิจการขนาดใหญ่ หรือกิจการเฉพาะอย่าง

ดังนั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยทั่วไป แทบจะไม่ได้รับประโยชน์จากการติดตั้งเครื่องประหยัดไฟฟ้าเหล่านี้ แต่สำหรับอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าที่จำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น อาจเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค โดย กฟน. ตรวจสอบพบมี 3 ลักษณะ คือ

1.เป็นกล่องหรือตู้ที่มีสายไฟสำหรับเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้า ส่วนใหญ่ภายในเป็นเพียงตัวเก็บประจุ และประเภทที่ภายในไม่มีส่วนที่เป็นวงจรไฟฟ้าเลย มีเพียงวัสดุสำหรับถ่วงน้ำหนักบรรจุไว้เท่านั้น

2.เป็นอุปกรณ์สำหรับเสียบเข้ากับเต้ารับไฟฟ้าโดยตรง

3.เป็นบัตรสำหรับติดหรือแปะกับตู้จ่ายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม กฟน. ขอแนะนำวิธีการประหยัดไฟฟ้าที่เหมาะสมที่สุด และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า โดยเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเฉพาะเวลาที่ต้องการใช้งานและปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน รวมถึงการปรับตั้งค่าการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าให้เหมาะสม โดยเฉพาะการปรับตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ ไม่ควรต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส เนื่องจากการปรับตั้งอุณหภูมิที่ต่ำเกินไปจะทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นด้วย อีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ คือ การเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประสิทธิภาพสูง เช่น หลอดไฟฟ้าชนิด LED เครื่องปรับอากาศชนิดอินเวอร์เตอร์ หรือ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับฉลากอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เป็นต้น