คุมเข้ม‘ล้งเถื่อน’รับผลไม้3จังหวัด

14 พ.ค. 2560 | 18:00 น.
พาณิชย์คุมเข้มล้งต่างชาติผิดกฎหมาย สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่ระยอง-ตราด 22-23 พ.ค.จัดระเบียบรับผลไม้ออกสู่ตลาด เผยผลตรวจ 6 ล้งร่วมทุนไทย-จีนในพื้นที่จันทบุรียังไม่พบผิดปกติ ขณะเร่งสร้างความเข้มแข็งล้งไทยแข่งล้งจีน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในวันที่ 22-23 พฤษภาคมนี้ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พาณิชย์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบธุรกิจโรงคัดแยกและบรรจุผลไม้(ล้ง) ในจังหวัดระยอง และตราด เพื่อดูแลการบริหารจัดการล้งให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะเป็นช่วงฤดูผลไม้ที่กำลังออกสู่ท้องตลาด โดยที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจได้ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรีในการตรวจสอบการทำธุรกิจล้งร่วมทุนไทย-จีน 6 ราย เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายขึ้น

ทั้งนี้จากการตรวจสอบยังไม่พบล้งที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยคนไทยถือหุ้นมากกว่า 51% ส่วนจีนที่เข้ามาร่วมทุนถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 49% และประกอบธุรกิจเพื่อการส่งอออก โดยคนไทยจะเป็นผู้ปลูก คัดเลือกพันธุ์ และผลผลิตเพื่อนำไปขาย ขณะที่หุ้นส่วนจีนที่เข้ามาร่วมทุนช่วยในเรื่องการทำการตลาดไปยังมณฑลต่างๆ ของประเทศจีน ส่งผลดีต่อเกษตรกรที่ขายสินค้าได้ราคาดีขึ้น ทั้งช่วยลดปัญหาผลผลิตล้นตลาดด้วย เชื่อว่าจากความต้องการผลไม้ไทยมีเป็นจำนวนมาก จะทำให้ปีนี้ยังคงเป็นปีทองสำหรับเกษตรกรและราคาผลไม้ไทย โดยเฉพาะ ทุเรียน กล้วย เงาะ และลองกอง

ส่วนปัญหาล้งเถื่อนที่ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้ขออนุญาตนั้น ทางจังหวัดได้มีมาตรการในการเข้าไปจัดระเบียบและดูแลอยู่แล้ว โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เข้าไปร่วมตรวจสอบ ทำให้ล้งที่ผิดกฎหมายลดลง หันมาลงทะเบียนประกอบธุรกิจอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากผู้ใดพบเห็นการเข้ามาทำธุรกิจของต่างชาติที่ไม่ถูกกฎหมายสามารถแจ้งได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อจะได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ

"กระทรวงต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับล้งไทยหรือผู้ประกอบการค้าส่งผลไม้ไทยให้มีความเข้มแข็ง เพื่อแก้ปัญหาล้งต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงกว่าเข้ามาครองตลาดรับซื้อในระยะยาว และในอนาคต เกษตรกรจะได้มีทางเลือกมากขึ้น ทั้งนี้ได้ให้กรมการค้าภายในดำเนินการจัดอบรมเรื่องการตลาดให้แก่เกษตรกร และจัดทำนัดหมายให้ล้งไทยได้มีโอกาสพบปะกับเกษตรกรในจังหวัดต่างๆมากขึ้นเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้รู้จักล้งไทยรายใหม่ๆ รวมถึงจะผลักดันล้งไทยเหล่านี้ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเสนอขายสินค้า"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,261 วันที่ 14 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560