อาการหูตึงของผู้สูงอายุ

06 พ.ค. 2566 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 19:06 น.

อาการหูตึงของผู้สูงอายุ คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อสองอาทิตย์ก่อน ผมได้เดินทางไปต่างจังหวัดทางภาคเหนือจังหวัดหนึ่ง เพื่อไปดูธุรกิจที่ผมไปทำทิ้งไว้เมื่อหลายปีก่อน ผมได้ห่างเหินกับธุรกิจของผมมานานมาก จนทำให้กลุ่มหัวขโมยคิดว่าเจ้าของคงไม่ใส่ใจแล้วกระมัง จึงได้เข้าไปตัดสายไฟ และแกะเอาเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์หลายอย่างไป เลยทำให้ผมต้องลำบากขับรถขึ้นไปดู หลังจากที่จัดการเรื่องทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็เลยแวะไปเยี่ยมน้องสาวและน้องเขย ที่เขาอาศัยอยู่ที่นั่น 

ปรากฏว่าหลานสาวที่เคยเห็นตั้งแต่ตัวเล็กๆ ก็โตเป็นสาวไปแล้ว แต่ที่น่าตกใจที่สุด คือน้องเขยที่ก่อนหน้านั้น เคยเป็นคนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงมากๆ แต่พอเกษียณอายุจากราชการมาได้ไม่กี่ปี ในวันนี้กลับกลายเป็นคนที่มี “อาการหูตึง” ที่ค่อนข้างจะรุนแรงมาก เพราะดูจากอาการที่น้องสาวผมพูดคุยกับน้องเขย เธอต้องใช้วิธีการพูดเสียงดังคล้ายๆ กับคนทะเลาะกันเลย ทั้งๆ ที่เขาทั้งสอง ไม่ได้มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกัน แถมยังรักกันมากเสียด้วยซ้ำ ทำให้ผมแปลกใจเป็นอย่างมาก ว่าทำไมถึงได้มีอาการเช่นนี้ได้ครับ
       
กลับมาถึงกรุงเทพฯ ผมก็ได้เข้าไปค้นคว้าดูในบทความวิจัยจากแหล่งต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต ที่มีทั้งภาษาไทย ญี่ปุ่น จีนและสหรัฐอเมริกา ผ่านทางเว็บไซต์ต่างๆ ก็พบว่ามีบทวิจัยเรื่องหูตึงนี้อย่างมากมาย อ่านจนตาแฉะเลยครับ ที่สำคัญคือ สาเหตุที่เกิดขึ้นกับอาการ “หูตึง” มีหลากหลายสาเหตุครับ ทั้งเป็นเพราะเหตุจากพันธุกรรม อาการที่เกิดจากการใช้ยาชนิดต่างๆ นานเกินไป ทำให้เกิดอาการแพ้ยา เกิดจากพฤติกรรมการรับฟังเสียงที่มีเสียงดังเกินกว่าหูคนปกติทั่วไปจะรับได้ เกิดจากไวรัสและการติดเชื้อ และเกิดจากปัญหาทางประสาทหู เป็นต้นครับ

อันที่จริงเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการพูดจา การกลืนอาหาร และการได้ยิน ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปก่อนอวัยวะส่วนอื่น ของร่างกาย โดยเฉพาะความเสี่ยงของการสูญเสียการได้ยินของผู้สูงวัย 

ย่อมเป็นไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ในสหรัฐอเมริกา ก็มีคนทำการวิจัยเรื่องนี้เยอะมาก ซึ่งที่ผมได้ไปอ่านพบจากผลงานวิจัยของหลายๆ บทความ พอจะสรุปได้ออกเป็นหลายๆ ประเด็น ที่อยากจะนำมาเล่าให้อ่านไว้นะครับ เผื่อว่าศรีภรรยาทั้งหลาย จะได้เข้าใจและไม่ต้องหมดความอดทน ที่จะต้องคอยตะโกนใส่กันในอนาคตครับ
            
มีบทความหนึ่งบอกว่า ความบกพร่องทางการได้ยิน ได้รับการยอมรับว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ มันส่งผลกระทบต่อประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีมากประมาณ 30% สำหรับผู้มีอายุมากกว่า 75 ปี ก็จะมีโอกาสเกิดอาการดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเป็น 40% ถึง 50%  และกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 85 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดอาการได้มากกว่า 80% เลยทีเดียวครับ

แต่ที่สำคัญอาการบกพร่องดังกล่าว ก็มีบางส่วนที่เกิดจากพันธุกรรมก็มีมากทีเดียว อีกทั้งยังเกิดจากเสียงดังมากในสภาพแวดล้อมที่มีความอึกทึกได้ด้วยครับ นอกจากนี้ผู้สูงอายุบางท่าน อาจประสบกับความผิดปกติในการสื่อสารมากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น ปัญหาด้านภาษาที่หลงเหลือจากโรคหลอดเลือดสมอง ร่วมกับการสูญเสียการได้ยิน 

นอกจากนี้ยาบางชนิดที่มีสาร ototoxic  ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการสูญเสียการได้ยินได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ที่ใช้ยาเหล่านี้เป็นประจำ ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพที่ดี ควรลดความเสี่ยงที่จะใช้ยาที่มีสาร ototoxic หรือควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยให้ก่อนจะใช้ยาครับ
        
การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับอายุ ที่ส่งผลต่อการสื่อสาร สำหรับพื้นฐานทางสรีรวิทยา ความรู้ความเข้าใจ และจิตวิทยาของผู้ที่อยู่ในวัยชรา ผู้สูงอายุต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงตามอายุ ที่ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานของอวัยวะต่างๆ นั้น ปัญหาที่พบบ่อยที่สุด คือการสูญเสียการได้ยิน และอาการฟันผุ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อ ต่อม กล้ามเนื้อในขากรรไกร ลิ้น 

สังเกตได้จากอาการของผู้สูงอายุ มักจะพบว่าการพูดก็อาจจะช้าลงกว่าเดิม นั่นอาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างต้น  เมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงของระบบสายตา ที่เกี่ยวข้องกับอายุที่มากขึ้น ผู้สูงอายุจะมีอาการหกล้มและเวียนศีรษะได้ง่ายมากขึ้น โดยรวมแล้วความชราย่อมไม่เคยรั้งรอใครครับ ดังนั้นเราจึงต้องรู้ตัวเราเองว่า “แก่แล้ว” เสมอ อย่ารอให้คนข้างเคียงบ่นแล้วจึงจะรู้ว่าแก่นะครับ เดี๋ยวจะเป็นภาระให้เขาไม่อยากอยู่ใกล้เราครับ 
        
ถ้าจะถามถึงสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียการได้ยินของน้องเขยผม ตัวเขาเองก็เป็นคนบอกผมว่า สมาชิกทั้งบ้านเขา มีอาการหูตึงกันหมด ดังนั้นจึงน่าจะเป็นกรรมพันธุ์ละครับ ท่านอื่นๆถ้าคิดว่าผมอ่านจากบทวิจัยมาเยอะน่าจะตอบคำถามถึงสาเหตุได้ คงต้องบอกว่า “ผมมิอาจทราบได้ครับ” เอาเป็นว่าขออนุญาตไม่ก้าวล่วงไปมากกว่านี้ คงต้องปล่อยให้ท่าน ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหู ตา คอ จมูก น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนกว่า จากนั้นก็ต้องทำตามแพทย์สั่งแหละครับ นี่เป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ