ผู้สูงวัยกับอาการปวดฉี่ตอนกลางคืน

04 มี.ค. 2566 | 06:25 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 21:33 น.
1.7 k

ผู้สูงวัยกับอาการปวดฉี่ตอนกลางคืน คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อหลายวันก่อนนี้ เพื่อนที่สมาคมตระกูลเดียวกับผมท่านหนึ่ง ที่เป็นสุภาพสตรี ได้ส่งบทความที่เป็นภาษาจีน (แต่ท่านได้แปลเป็นภาษาไทยมาให้แล้ว) มาให้อ่านเรื่องหนึ่ง คือเรื่องผู้สูงอายุหลายท่าน มีอาการปวดปัสสาวะหลายครั้งในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับผู้สูงวัย 

ในเนื้อหาใจความได้พูดถึงการใช้สมุนไพรจีนบางประเภท มาทำการรักษาอาการเช่นนี้ ต้องบอกว่าในประเทศไทยเราเอง ก็มีการรักษาด้วยตัวยาสมุนไพรไทยมาช้านานแล้วเช่นกัน เพราะอาการดังกล่าว ผู้สูงวัยหลายๆ ท่าน ล้วนต้องเผชิญกับอาการเช่นนี้มาตั้งแต่นมนานกาเลแล้วละครับ 
           
มีอยู่ช่วงหนึ่ง คือช่วงที่บริษัทของผมที่ประเทศเมียนมา ได้เป็นตัวแทนขายยาสีฟันยี่ห้อหนึ่ง ทางบริษัทฯ เขาส่งผู้จัดการที่เป็นผู้สูงวัยไปอาศัยประจำอยู่ที่บ้านผม พวกเราเรียกท่านว่าอาแปะ ทุกคืนอาแปะจะต้องตื่นนอนเพื่อปัสสาวะกลางดึกทุกคืน อย่างน้อยก็คืนละ 5-6 ครั้ง พอปัสสาวะเสร็จอาแปะจะนอนไม่หลับ เพราะท่านติดบุหรี่ค่อนข้างหนัก จะต้องไปสูบบุหรี่ก่อนที่จะนอนใหม่ทุกครั้งไป ทำให้ท่านเองจะมีอาการง่วงนอนกลางวันเสมอ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ผมเคยพบมาครับ
           

ในทางการแพทย์แผนจีน อาการดังกล่าวมักจะพูดถึง สาเหตุของอาการจะเกิดจาก “อวัยวะไต” เป็นหลัก เพราะคนจีนเชื่อว่า ไตไม่ทำงานหรือมีอาการไม่ดี จะส่งผลให้ร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องสมรรถภาพทางเพศจะลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ จึงนำเอาอาการเสื่อมของสมรรถภาพทางเพศไปผูกติดกับการทำงานของไต 

ดังนั้นจึงต้อง “เจียะโป่ว” หรือทานอาหารหรือยาบำรุงไตจึงจะหายได้ อันที่จริงแล้ว ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันทั่วไป เขาก็ให้ความสำคัญของไตมากๆ ด้วยเช่นกัน แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะไปมีสัมพันธ์กับอาการที่เกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศหรือไม่? แต่ในทางการแพทย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เขาอาจมีมุมมองอีกแบบก็ได้ ในทางการแพทย์ทางเลือกของไทย อย่างที่ผมเกริ่นนำมาว่า มีสมุนไพรไทยที่เป็นยารักษาอาการปัสสาวะในเวลากลางคืนบ่อยๆ อยู่หลายขนาน ซึ่งอาจจะรักษาได้ผลด้วยเช่นกัน แต่สมุนไพรที่ใช้จะแตกต่างกับของแพทย์แผนจีนพอสมควรครับ
       
การแพทย์แผนจีนจะมุ่งเน้นไปที่สมุนไพรที่ให้ความเย็นในร่างกายเป็นหลัก เช่น ถั่วดำ ที่มีสรรพคุณในการล้างพิษในไต กลีบของหัวดอกลิลลี่ (แปะฮะ) ที่มีสรรพคุณในการกล่อมประสาท ให้นอนหลับสบายและขจัดโรคร้อนในร่างกาย เก๋ากี่ ที่มีสรรพคุณในการบำรุงร่างกายและสายตา อีกทั้งสามารถเสริมภูมิต้านทานชะลอความแก่ได้ด้วย ผสมกับงาดำและมันป่า (ซัวเอี้ยะ) ซึ่งเป็นยาที่บำรุงไต นำมาต้มเป็นยาสมุนไพร แก้อาการปัสสาวะตอนกลางคืน อันนี้ในทางการแพทย์ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ผลทันตาหรือไม่? เพราะส่วนใหญ่ที่เป็นยาสมุนไพร มักต้องใช้เวลานานมากครับ

การแพทย์แผนไทยหรือแพทย์ทางเลือก ก็มีสมุนไพรไทยที่แก้อาการนี้ด้วยเช่นกัน คือจะใช้เนื้อของลูกมะตูมแห้ง เปลือกต้นตะโกนา เถาบอระเพ็ด หัวแห้วหมู เหง้ากระชาย เมล็ดพริกไทยดำ เปลือกต้นทิ้งถ่อน ฯลฯ นำมาเป็นยาสมุนไพร ในการรักษาอาการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืนเช่นกัน 

ซึ่งถ้าหากจะมองในทางแพทย์แผนปัจจุบัน หรือในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาการนี้มักจะเกิดกับบุคคลที่มีปัญหาของระบบทางเดินปัสสาวะโดยตรง มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เนื้องอกในต่อมลูกหมาก เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ โรคเบาหวาน โรคต่อมลูกหมากโต และโรคไต เสียเป็นส่วนใหญ่ ดังจะเห็นได้ว่า โรคเหล่านี้เป็นโรคที่เป็นท๊อปฮิตของผู้สูงอายุเลยละครับ 
   
อาการของผู้สูงวัยที่จะบ่งบอกว่าเริ่มมีความเป็นไปได้ ว่าจะเข้าสู่การนอนตื่นกลางดึกเพื่อไปถ่ายปัสสาวะบ่อยนั้น มักจะเริ่มจากมีอาการปวดหลังปวดเอว ปวดเมื่อยตามร่างกาย นอนหลับไม่สนิท ฝันบ่อย ชอบสะดุ้งระหว่างนอน หรือบางท่านอาจจะมีอาการเป็นภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นหวัดบ่อย ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้น บางท่านอาจจะเข้าข่ายหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เฉื่อยชาทางเพศ 

บางท่านก็จะมีอาการผมหงอกก่อนวัย ผมร่วง ผมบาง เส้นผมแห้งกรอบ แตกปลาย ผิวหน้าหมองคล้ำ หยาบกร้าน ไม่มีสีเลือดฝาด เหงือกฟันร่น ฟันโยก ซึ่งอาการเหล่านี้คืออาการของผู้ที่เข้าขั้น ส.ว.ทั้งสิ้นครับ จึงอย่าได้แปลกใจว่า ทำไมเรา “แก่แล้ว อะไรก็ไม่ดี” เลยนะครับ นั่นเป็นเพราะสังขารของเราเองทั้งสิ้นครับ 
     
แล้วถ้าหากมีอาการดังที่กล่าวมานี้แล้วเราจะทำอย่างไรดีละ? ผมก็ต้องตอบแบบกำปั้นทุบดินอีกละครับว่า “ไม่รู้สิ ผมไม่ใช่หมอ ท่านควรไปพบแพทย์หรือหาหมอจะดีกว่ามั้ย” เพราะท่านอาจจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม หรือปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเรื่องการนอนหลับ เพื่อพิจารณาตรวจการนอนหลับ (polysomnogram study) ให้แพทย์ช่วยท่านหาสาเหตุว่า ท่านมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) ด้วยหรือเปล่า?  

เพื่อจะได้เป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจจะตามมาจากการหยุดหายใจขณะนอนหลับ เช่น หัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบ เป็นต้น แต่บางท่านอาจจะเป็นโรคกลัวคุณหมอ  ไม่กล้าไปพบแพทย์ หรืออาจจะเกรงว่ามีค่าใช้จ่ายเยอะ ก็คงต้องไปหาแพทย์ทางเลือก ที่มีค่าใช้จ่ายย่อมเยาลงมา ก็ยังดีกว่าท่านไม่ทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ แล้วรอให้หายเอง มันไม่มีทางที่จะหายได้หรอกครับ เราต้องให้ผู้เชี่ยวชาญคือแพทย์เท่านั้นครับ จึงจะช่วยท่านได้ครับ