“สังคมไร้ลูกหลาน” กับโมเดลธุรกิจ ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (1)

25 พ.ย. 2566 | 05:18 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2566 | 06:42 น.

Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

นับไปข้างหน้าอีกเพียง 17 ปี สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2583 ประชากร 1 ใน 3 ของประเทศไทย จะเป็นประชากรผู้สูงอายุ หรือคิดเป็นตัวเลขประมาณ 20 ล้านคน ขณะเดียวกันรูปแบบค่านิยมที่เปลี่ยนไปเป็น “สังคมไร้ลูกหลาน” ค่านิยมของการมีคู่เปลี่ยนไป แต่งงานกันช้าลง มีลูกลดลง ระยะเวลาไม่กี่ 10 ปีกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

นโยบายรองรับผู้เกษียณนั้น จึงถือว่าเป็นช่วงเวลารอยต่อสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องกลับมานั่งทบทวนว่าบ้านเรา พร้อมแล้วหรือยัง? และธุรกิจดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในไทย ปัจจุบันมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างไรจะนำไปสู่การรองรับประชากรผู้สูงอายุหลักสิบล้านคนได้อย่างเพียงพอหรือไม่ ?

“สังคมไร้ลูกหลาน” กับโมเดลธุรกิจ ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (1)

ในระยะเวลา 5 ถึง 10 ปีนับจากนี้ เทรนด์การท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านสุขภาพ จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในหลายประเทศที่มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงการดึงดูดประชากรคุณภาพจากประเทศอื่นๆ เพื่อเข้าไปใช้จ่ายด้วยมาตรการทางภาษี หรือการสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต ในส่วนประเทศไทย

ซึ่งเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพที่ไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ประกอบกับการมุ่งสู่ Medical Hub หรือ Medical Tourism ซึ่ง 2 หัวใจสำคัญนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อคนเกษียณชาวต่างชาติด้วย ซึ่งถ้าพูดถึงธุรกิจที่ดูแลผู้สูงอายุนั้น มีหลายระดับตั้งแต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาพยาบาลในระยะยาว

การฟื้นฟูและดูแลผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วย ไปจนถึงการดูแลจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต หรือธุรกิจที่มุ่งการดูแลผู้สูงอายุในลักษณะพื้นที่พักอาศัยร่วมกับบริการดูแลผู้สูงอายุด้านร่างกายและจิตใจ แต่ละอย่างต่างกันอย่างไร? และมักจะมีคำถามที่ตามมาว่า ผู้สูงอายุนั้นเหมาะกับตัวธุรกิจแบบใด ผมขอแยกให้เห็นคร่าวๆในปัจจุบัน ดังนี้

(1) บ้านพักสำหรับคนชรา

บ้านพักผู้สูงอายุหรือบ้านพักคนชราที่เป็นภาพจำในอดีต หลายคนอาจติดภาพว่าอยู่กัน “ตามมีตามเกิด” แต่ในปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เองมีการลงทุนเกี่ยวกับการดูแลกลุ่มคนวัยเกษียณค่อนข้างมากและมีการแข่งขันที่สูง ทำให้ปัจจุบันประเภทบ้านพักสำหรับคนชรานั้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างมาก ตั้งแต่เรื่องการออกแบบ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ไปจนถึงการเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจที่ให้บริการด้านเฮลท์แคร์ มีทีมแพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิด 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,942 วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566