GEN AI ก้าวใหม่ในเฮลท์แคร์ กับทักษะที่เราต้องปรับตัว (1)

29 ต.ค. 2566 | 12:35 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2566 | 12:38 น.

GEN AI ก้าวใหม่ในเฮลท์แคร์ กับทักษะที่เราต้องปรับตัว (1) : Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

สิ่งท้าทายที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโลกแห่งอนาคต ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในตอนนี้ ดูเหมือนจะเป็นเทรนด์ของโลกที่ Generative Artificial Intelligence (Generative AI) เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากเดิมที่มนุษย์มุ่งแสวงหาคำตอบ จนมาถึงวันที่เทคโนโลยีแสวงหาคำตอบได้ด้วยตัวมันเอง แล้วมนุษย์จะปรับตัวอย่างไร ต้องใช้ทักษะอะไร เพื่อมุ่งสู่โลกยุค Generative AI และเทรนด์ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ทั่วโลก

GEN AI  ก้าวใหม่ในเฮลท์แคร์ กับทักษะที่เราต้องปรับตัว (1)

ก่อนอื่นเพื่อเป็นการทำความเข้าใจ Generative Artificial Intelligence (Generative AI) หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่าปัญญาประดิษฐ์  หรือ Artificial Intelligence (AI) ซึ่งถูกพัฒนามาจากการเรียนรู้ของ Machine Learning เพียงแต่ Generative Artificial Intelligence หรือ GEN AI เป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ออกแบบมาให้สร้างสิ่งใหม่ หรือแสวงหาคำตอบจากชุดข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้การสร้างสิ่งใหม่ หรือการหาคำตอบโดย Gen AI ก็คือ Big Data นั่นเอง

แล้วในวงการเฮลท์แคร์และการรักษาพยาบาลในยุคปัจจุบัน GEN AI มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าอุตสาหกรรมอย่างไร? ต้องย้อนความไปในยุคอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ Digital Disruption เข้ามามีบทบาทช้ากว่าเมื่อเทียบกับหลายอุตสาหกรรม ที่ชัดที่สุดน่าจะเป็น Telemedicine และปัจจุบันในวงการเฮลท์แคร์

เราพูดถึง Digital Health ซึ่งมีการเชื่อมต่อทุกอุปกรณ์ที่มี (Equipment) ในการรับส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต Internet of Things (IoT) ให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน ทำให้เกิดระบบนิเวศด้านเฮลท์แคร์ (Healthcare Ecosystem) จากเดิม ที่เราต้องเรียนรู้ในการแบ่งปันข้อมูลจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลผ่านเทคโนโลยี

GEN AI  ก้าวใหม่ในเฮลท์แคร์ กับทักษะที่เราต้องปรับตัว (1)

แต่พอความสามารถทางเทคโนโลยีในยุค Gen AI ช่วยทำให้เทคโนโลยีสามารถเรียนรู้จากข้อมูลซึ่งอยู่บนโมเดลที่แชร์ถึงกัน คุยกันได้เองในภาษาเดียวกัน ระบบนิเวศเดียวกัน ทำให้เกิดการสร้างสรรค์คำตอบ และยังช่วยลดระยะเวลาการทำงานของมนุษย์ในหลายขั้นตอนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด โดยเฉพาะวงการเฮลท์แคร์ในต่างประเทศ เริ่มมีการนำ GEN AI มาใช้ในการพัฒนายา (Drug Discovery) การเป็นผู้ช่วยในการวินิจฉัย (Disease Diagnosis) และนำมาใช้ในการอ่านฟิล์มเอกซเรย์หรือผลตรวจจาก MRI, CT-Scan เป็นต้น และอีกสิ่งที่สำคัญก็คือการออกแบบแนวทางการรักษาเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) ที่ในปัจจุบันสามารถเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษา (Patient’s Medical History) ข้อมูลด้านพันธุกรรม (Genetic Information) หรือข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต (Lifestyle Factors)

GEN AI  ก้าวใหม่ในเฮลท์แคร์ กับทักษะที่เราต้องปรับตัว (1)

จากตัวอย่างข้างต้น ถึงแม้จะมีโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์มากมายขนาดไหนก็ตาม แต่ยังมีสิ่งที่เรายังต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจริยธรรม ความโปร่งใส หรือแม้แต่ข้อจำกัดของตัวเทคโนโลยีเอง เพราะการให้บริการทางการแพทย์และด้านสุขภาพเป็นเรื่องที่มีผลต่อชีวิตของมนุษย์ จึงต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการประเมินและวินิจฉัย ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนบุคคลได้ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ก็ทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้ช่วยที่จะลดภาระงานของบุคลากรและลดข้อผิดพลาดของมนุษย์ได้ประมาณหนึ่ง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,934 วันที่ 26 - 28 ตุลาคม พ.ศ. 2566