ว่าด้วย “สถานดูแลผู้สูงอายุ” ที่ไม่ใช่แค่การดูแล

20 ส.ค. 2566 | 13:15 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2566 | 13:32 น.

ว่าด้วย “สถานดูแลผู้สูงอายุ” ที่ไม่ใช่แค่การดูแล : Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ว่าด้วย “สถานดูแลผู้สูงอายุ” ที่ไม่ใช่แค่การดูแล แต่คือการปรับตัวทางธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม

ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ คาดว่าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Super Aged Society) มีประชากรสูงอายุมากกว่า 30% ในปี 2578 ซึ่งประมาณการณ์มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

นับเป็นความท้าทายและโอกาสในการสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึง การปรับตัวของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือแม้แต่ธุรกิจโรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้สูงอายุทั้งไทยและต่างชาติที่มีเป้าหมายในการมาอยู่อาศัยที่ไทยในระยะยาว

ว่าด้วย “สถานดูแลผู้สูงอายุ” ที่ไม่ใช่แค่การดูแล

สำหรับ “สถานดูแลผู้สูงอายุ” ซึ่งมีหลากหลายประเภท บ้างก็เรียก Day Care, บางแห่งเรียก Nursing Home หรือมีแบบที่เป็นลักษณะอยู่ระยะยาวแบบที่พักอาศัย Residential Care ไม่นับรวมบางหน่วยงานที่จัดพวกโรงเรียนผู้สูงอายุ ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญในการร่วมดูแลผู้สูงอายุในสังคมทั้งสิ้น

ทั้งนี้หลักสำคัญคือการจัดให้บริการผู้สูงอายุเข้ามาพักอาศัยในบ้าน หรืออาจจะเป็นอพาร์ตเมนท์ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และเพิ่มการบริการด้านการแพทย์เข้ามา ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หรือมีอาการเจ็บป่วย จึงได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ ต่างกับการไปโรงพยาบาล ทำให้ธุรกิจนี้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก เพราะเหมือนได้อาศัยอยู่ที่บ้านในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย

ไม่ต้องปรับตัวมากเมื่อเทียบกับโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการแล้วหลายแห่ง โดยการเช่าทั้งระยะสั้น และระยะยาว จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำไม “ธุรกิจโรงพยาบาล” หลายแห่งถึงหันมาให้ความสนใจในสถานดูแลผู้สูงอายุ เพราะสามารถต่อยอดจากความเชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาทางการแพทย์ควบคู่กับการให้บริการผู้สูงอายุด้วย

ว่าด้วย “สถานดูแลผู้สูงอายุ” ที่ไม่ใช่แค่การดูแล

ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวงเพื่อที่จะควบคุมดูแลบรรดาสถานดูแล ผู้สูงอายุ พรบ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กิจการรายใหม่ทุกรายต้องขออนุญาตก่อนเปิดกิจการ และต้องขออนุญาตจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)

ที่กล่าวมาถึงตรงนี้อยากจะให้ท่านผู้อ่านเห็นว่าจริง ๆ แล้วเรามีความท้าทายใหม่จะต้องรับมือ ผมยกบทเรียนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ มีรูปแบบสถานดูแลผู้สูงอายุที่ถูกพัฒนาขึ้นจากข้อจำกัดและบริบทของประเทศ และมีมาในระยะเวลานับ 10 ปีแล้วด้วย

ผมให้ลองนึกภาพว่า Airbnb ในเวอร์ชั่นของสถานดูแลผู้สูงอายุ หรือ สถานดูแลผู้สูงอายุที่ผูกกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบใหม่ที่ใช้เพื่อเป็นหลักประกันว่า ตราบที่ยังมีชีวิตอยู่เราจะได้รับการดูแลในสถานดูแลผู้สูงอายุต่อเนื่อง เป็นต้น ลองนึกภาพตามไปพร้อมกันจะเห็นได้ว่าเป็นทั้งโอกาสทางธุรกิจของรายย่อย และเป็นความท้าทายของผู้กำกับดูแลเพื่อที่จะควบคุมมาตรฐานต่างๆ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และจะเป็นอีกตัวแปรสำคัญในการให้บริการธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุในอนาคตอีกด้วย

ว่าด้วย “สถานดูแลผู้สูงอายุ” ที่ไม่ใช่แค่การดูแล

มาถึงตรงนี้ผมยังเชื่อว่าไม่ว่ารูปแบบธุรกิจหรือสถานดูแลผู้สูงอายุจะเปลี่ยนไปอย่างไรแต่บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะผู้ดูแล (Caregiver) หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุในสาขาต่างๆ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีแผนในระยะยาวเพื่อวางแผนผลิตเพียงพอเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุต่อไป

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,914 วันที่ 17 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2566