Sustainable Healthcare: เฮลท์แคร์ที่ยั่งยืน (ตอน 1)

27 พ.ค. 2566 | 10:55 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 18:27 น.

Sustainable Healthcare: เฮลท์แคร์ที่ยั่งยืน (ตอน 1) คอลัมน์ Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ความยั่งยืน หรือ Sustainability  เป็นเรื่องฮิตที่พูดถึงกันในวงกว้าง และเป็นวาระแห่งการพัฒนาของโลกมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว รวมถึงธุรกิจเฮลท์แคร์ที่ตั้งเป้าร่วมด้วยช่วยกันลด “ขยะทางการแพทย์” แต่ก็ยังมีบุคลากรการแพทย์บางกลุ่มที่มองต่างมุมว่า การรักษาคนไข้และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไม่ได้ จำต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

เช่น การใช้อุปกรณ์ฯ แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้นมีต้นทุนต่ำกว่า แต่อุปกรณ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ซ้ำต่างหาก ที่จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรืออุปกรณ์เสื่อมสภาพ ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเรื่องท้าทายในวงการการแพทย์ และถูกขบคิดมาตลอดในระยะหลายสิบปีมานี้

เพราะแนวคิดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน นั้น ไม่ได้เพียงแต่เป็นการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อคนในยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่จะต้องไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อคนในรุ่นต่อๆ ไปด้วย ตัวอย่างเช่น กรณีปัญหาไมโครพลาสติกในประเทศเนเธอร์แลนด์

Sustainable Healthcare: เฮลท์แคร์ที่ยั่งยืน (ตอน 1)

โดยจากงานวิจัยเมื่อปีที่แล้ว เปิดเผยข้อมูลว่า พบไมโครพลาสติกในกระแสเลือดและอุจจาระของมนุษย์ ทารก และแม้แต่ทารกในครรภ์ สารดังกล่าวนี้ จะรบกวนการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงการปล่อยฮอร์โมนเอสโทรเจน และยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านอื่นๆ ตามมา

เมื่อหันกลับมามองวิถีการดำเนินธุรกิจเฮลท์แคร์ อย่างธุรกิจโรงพยาบาล ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องพิมพ์เอกสารและใช้กระดาษจำนวนมากไม่แพ้ธุระอื่น จากในอดีตที่จะเห็นเวชระเบียนกองมหึมา แต่ในปัจจุบันนี้ จะพบเห็นได้น้อยมาก เนื่องจากปรับเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผมขอยกตัวอย่าง โรงพยาบาลเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ที่นำ Electronic Medical Record (EMR) มาใช้เป็นโรงพยาบาลแรกๆ โดยนำข้อมูลขึ้นสู่ระบบ Cloud เมื่อตอนเริ่มนำระบบมาใช้ บุคลากรซึ่งอยู่กับความเคยชินในระบบเดิม

Sustainable Healthcare: เฮลท์แคร์ที่ยั่งยืน (ตอน 1)

จึงมีคำถามมากมาย แต่พอใช้งานไปได้สักระยะ พวกเราค้นพบว่า ระบบดังกล่าว ช่วยลดปริมาณการผลิตเอกสารและลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดของมนุษย์และกระบวนการการให้บริการ และยังช่วยเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลของผู้รับบริการอีกด้วย หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และพันธมิตร ในโครงการ “Care the whale : ขยะล่องหน” ส่งเสริมให้บุคลากรเข้าร่วมตั้งแต่การลดปริมาณขยะ จนนำมาสู่การระดมความเห็นของบุคลากรทางการแพทย์ ในการลดขยะติดเชื้อตั้งแต่ต้นทาง โดยวัสดุทางการแพทย์บางประเภท หากบริหารจัดการให้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องทิ้งรวมเป็นขยะติดเชื้อ เช่น ปลอกเข็มพลาสติก กระดาษและพลาสติกห่อหุ้ม ฯลฯ

ซึ่งต่อมา เราได้จัดทำแคมเปญ “ขยะติดเชื้อทำให้ไม่ติดเชื้อ หากเราแยกขยะต้นทาง” ส่วนขยะส่วนที่เราแยกออก ได้ถูกนำไปรีไซเคิลเป็นผนังของหอพระไตรปิฎก วัดจากแดง สมุทรปราการ นอกจากนี้ เรายังค้นพบสถิติที่น่าสนใจว่า แม้ในสถานพยาบาลเอง ขยะที่เป็นขยะทั่วไปที่เกิดจากการบริโภคภายในหรือจากการดำเนินธุรกิจ มีสัดส่วน 70:30 ซึ่งมีปริมาณเยอะกว่าขยะติดเชื้อเสียอีก นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านการทำธุรกิจบนความยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของบุคลากรทางการแพทย์เป็นพื้นฐาน และที่สำคัญยังสะท้อนไปถึงการยกระดับคุณภาพบริการที่ดีขึ้น

Sustainable Healthcare: เฮลท์แคร์ที่ยั่งยืน (ตอน 1)

ผมอยากชวนให้เพื่อนร่วมธุรกิจเฮลท์แคร์ในทุกระดับ ได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการสร้าง “สุขภาพกายและใจที่ดีของผู้คน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม” ทั้งการดูแลรักษา การพัฒนาหรือฟื้นฟูสุขภาพ พร้อมกับการช่วยกันลดการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ที่อาจจะย้อนกลับมาทำร้ายสุขภาพของเราในอนาคต

ในขณะเดียวกันก็ไม่สร้างภาระทางสุขภาพให้กับคนรุ่นลูกหลานเช่นกัน หรือแม้แต่การบริหารจัดการภายในสถานพยาบาลเพื่อลดปริมาณขยะ และการบริหารจัดการกำจัดขยะทางการแพทย์อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดภาระงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศในระยะยาวอีกด้วย เสมือนยิงปืนนัดเดียว ได้นกมากกว่าสองตัว

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,890 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2566