ส่องมาตรฐานโลก สู่การยกระดับ มาตรฐานสาธารณสุขไทย

01 พ.ค. 2566 | 16:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 19:15 น.
549

ส่องมาตรฐานโลก สู่การยกระดับ มาตรฐานสาธารณสุขไทย คอลัมน์ Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในประเทศไทยเป็นรูปแบบธุรกิจการท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จและได้รับความเชื่อมั่นจากต่างชาติ ปัจจัยหนึ่งที่สามารถสร้างการรับรู้จากต่างชาติจนเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ มาจากมาตรฐานคุณภาพการให้บริการผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพทางการแพทย์จากองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ และมาตรฐานที่ถือว่าเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

1 ในนั้นคือมาตรฐานสถานพยาบาล JCI เป็นที่ยอมรับและรู้จักกันดีของชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวยุโรปและอเมริกา ปัจจุบันไทยเรามีสถานพยาบาลที่ผ่านมาตรฐาน JCI จำนวนสูงสุดกว่า 61 แห่ง (ณ มี.ค. 66) สูงสุดในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมา (2565) ประเทศไทยถือว่า มีจำนวนสถานพยาบาลที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าวเป็นประเทศที่ 5 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ซาอุดิอาระเบีย, บราซิล ตามลำดับ

ส่องมาตรฐานโลก สู่การยกระดับ มาตรฐานสาธารณสุขไทย

สำหรับองค์กร JCI (Joint Commission International) เป็นหนึ่งในองค์กรระหว่างประเทศที่ให้การรับรองคุณภาพโรงพยาบาลผ่านการสำรวจอย่างจริงจัง พร้อมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เช่น การแพทย์ การพยาบาล การจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย (FMS) การจัดการคุณภาพ เป็นต้น

JCI ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในเรื่องของการรับรองมาตรฐานระดับสากลในธุรกิจโรงพยาบาล และได้เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยโรงพยาบาล คลินิก และสถาบันดูแลสุขภาพที่ผ่านการรับรองจะได้รับเหรียญทอง (Gold Seal) และมีช่วงระยะเวลาที่กำหนดให้สามารถแสดงตราสัญลักษณ์ดังกล่าว เพื่อเป็นการรับรองถึงคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์

ทั้งนี้การรับรองมาตรฐานดังกล่าว ไม่ได้ยืนยันว่าโรงพยาบาลนั่นๆ เป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุดของการรักษา แต่แสดงถึงศักยภาพในการให้บริการว่า มีระบบเวชระเบียนที่เชื่อถือได้ มีนโยบายการรักษาพยาบาล มีการจัดการความรู้ และที่สำคัญที่สุดคือมีมาตรการความปลอดภัยและการจัดการความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขในประเทศไทย ให้ความไว้วางใจ JCI

และยอมรับว่า การรับรองมาตรฐาน Gold Seal เป็นหนึ่งในมาตรการคุณภาพที่ได้รับการยอมรับสำหรับสถานพยาบาลในประเทศไทยและในระดับสากล นอกจากผู้ป่วยที่เลือกเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแล้ว บริษัทประกันระหว่างประเทศและภาคส่วนต่าง ๆ ยังมีแนวโน้มที่จะมองหามาตรฐานดังกล่าว เพื่อใช้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่าเป็นโรงพยาบาลที่ได้ระดับมาตรฐานและไว้วางใจในการส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

หากนับดูระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีที่สถานพยาบาลในประเทศไทยผ่านมาตรฐานดังกล่าว สิ่งที่บ้านเราเรียนรู้ได้จากมาตรฐานระดับโลก JCI จะพบว่า เป้าหมายโดยตรงของ JCI คือการเน้นไปยังผู้ป่วยเป็นสำคัญ ให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด ผ่านการดำเนินงานของสถานพยาบาลในด้านต่างๆ

ทั้งการแพทย์ การพยาบาล การจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย (FMS) การจัดการคุณภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ซึ่งสถานพยาบาลที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าวยังต้องเข้ารับการตรวจประเมินตามรอบระยะเวลาที่กำหนด จึงเป็นมาตรฐานที่หลายประเทศให้การยอมรับ

ประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งจุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ นอกจากความเชี่ยวชาญชำนาญด้านการแพทย์เฉพาะทางแล้ว ในด้านคุณภาพ และมาตรฐาน ด้านการให้บริการทางการแพทย์ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การได้รับการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาลนั้นๆ โดย JCI ทำให้สถานพยาบาลแห่งนั้นๆ ได้รับความไว้วางใจจากผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษาทั้งใน และนอกประเทศ และยังเป็นการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับผู้รับบริการร่วมด้วย

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,882 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2566