เส้นทาง ”บุรุษนิรนาม” ประธานกรรมการ "SCBx”

30 พ.ค. 2567 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2567 | 17:02 น.
8.2 k

รายงานพิเศษ EP#2 : เส้นทาง”บุรุษนิรนาม” ประธานกรรมการ "SCBx” โดย บากบั่น บุญเลิศ

ยังเป็นประเด็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์”กันทั้งวงการตลาดทุน ตลาดหุ้นและวงการธนาคาร  เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBx)” แจ้ง ว่า นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ได้แจ้งขอลาออกจาก ตำแหน่ง “กรรมการ-ประธานกรรมการ-ประธานกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม”

รวมถึงตำแหน่งอื่นๆใน กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ และที่ประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ได้มีมติแต่งตั้ง “พ.ต.อ. ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม” ซึ่งเป็นกรรมการ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ แทนนายวิชิต มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2567 เป็นต้นไป

นายวิชิต สุรพงษ์ชัย

สังคมธุรกิจ สังคมนายแบงก์ ยังคงติดตามข้อมูลของประธานกรรมการคนใหม่ธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์เป็นอันดับ 3-4 ของประเทศว่า “พ.ต.อ.ธรรมนิธิ Who is he?” ฝีไม้ลายมือการบริหารจัดการ กระบวนการตัดสินใจเป็นเช่นไร สาธารณะอาจไม่ได้รับรู้ในวงกว้าง

แต่ในความเป็นจริงนั้น พ.ต.อ. ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม รองเลขาธิการพระราชวัง สำนักพระราชวัง นั้น ประวัติการทำงานต้องถือว่าไม่เบาเลยทีเดียว 

อดีตนายตำรวจวัย 65 ย่างเข้า 66 ปี มีประสบการณ์ทำงานในองค์กรหลักที่เกี่ยวพันกับสำนักพระราชวังและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนาน 

พ.ต.อ. ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม

“พ.ต.อ.ธรรมนิธิ” เคยเป็น “ ผู้อำนวยการสำนักงานพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง” ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาและบริหารทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่กำหนดให้แยกต่างหากจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ซึ่งดูแลโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ และ ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง ต่อมาใน พ.ศ. 2561 มีการออกกฎหมายเพื่อจัดระเบียบทรัพย์สินดังกล่าวใหม่ และมีการโอนทรัพย์สินให้อยู่ในพระปรมาภิไธย

“พ.ต.อ.ธรรมนิธิ” เคยเป็น “กรรมการและรองผู้อำนวยการอาวุโสทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด รวมพื้นที่ 41,000 ไร่  ในจำนวนนั้นเป็นที่ดิน 93% สำหรับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ชุมชน ตลาด ผู้เช่าอาคาร ที่ดินรายย่อย และมีพื้นที่ดินเชิงพาณิชย์ใจกลางเมืองราว 7% ของทรัพย์สินทั้งหมด

ประสบการณ์ทำงาน 5 ปี ย้อนหลัง พ.ต.อ.ธรรมนิธิ พบว่าเขาเคยดำรงตำแหน่ง “รองหัวหน้าฝ่ายที่ประทับ กองกิจการในพระองค์ 904 สำนักพระราชวัง”

ในแง่การเป็นผู้กำกับทางนโยบาย “พ.ต.อ.ธรรมนิธิ” เป็นกรรมการในกิจการหลายแห่ง เฉพาะกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 1.เป็น “กรรมการ และกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 2.เป็น ”กรรมการ และกรรมการบริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)” 3. เป็น “กรรมการ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)”

ในแง่ของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ “พ.ต.อ.ธรรมนิธิ”

  1. เป็น รองประธานกรรมการ บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด ที่มี พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง สำนักพระราชวัง และผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นประธานกรรมการ
  2. เป็นกรรมการ มูลนิธิสยามกัมมาจล
  3. เป็นกรรมการ บริษัท อัลฟ่า เอกซ์ จำกัด
  4. เป็นกรรมการ บริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของSCBX

ขณะที่เส้นทางการทำงานของ “พ.ต.อ.ธรรมนิธิ” อดีตนายตำรวจชาวแปดริ้ว ก็ถือโดดเด่น โลดโผนในชีวิตอย่างที่สุด ชนิดหาผู้ใดเปรียบเทียบได้ยาก จากการทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์

28 ธันวาคม 2542 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนที่ 123 ง. ที่มีนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์

โดยแต่งตั้ง พ.ต.อ.ธรรมนิธิ วณิชย์ถนอม พนักงานพิเศษ เทียบเท่าหัวหน้าฝ่าย ฝ่ายพระราชวัง กองกิจการในพระองค์ฯ รับเงินเดือนอัตรา ท.7 ดำรงตำแหน่ง พนักงานพิเศษ เทียบเท่าอัตราผู้อำนวยการกอง รับเงินเดือนอัตรา ท.8 พร้อมกับ พ.ท.สมชาย กาญจนมณี พนักงานพิเศษฝ่ายราชเลขานุการ กองกิจการในพระองค์ฯ ที่ขยับขึ้นจากอัตราเงินเดือน ท.7 เป็น ท.8 ตำแหน่งพนักงานพิเศษ อัตราเทียบเท่าอัตราผู้อำนวยการกอง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2542

17 กรกฎาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการในสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยอาศัยอำนาจความตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดการทรัพย์สิน ฝ่ายพระมหากษัตริย์ จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

1.พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เป็นประธานกรรมการ

2.นายเกษม วัฒนชัย เป็นกรรมการ

3.นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และเลขานุการ

4.นายกกฤษณ์ กาญจนกุญชร เป็นกรรมการ

5.พ.ท.สมชาย กาญจนมณี เป็นกรรมการ

6.พ.ต.อ.ธรรมนิธิ วณิชย์ถนอม เป็นกรรมการ

7.พล.อ.อ.อำนาจ จิระมณีมัย เป็นกรรมการ

8.พล.อ.จักรภพ ภูริเดช เป็นกรรมการ

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2560 เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน 

 

9 ธันวาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 304 ง.เผยแพร่ ประกาศแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ รายละเอียดระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ให้ดํารงตําแหน่ง ดังนี้

1.พ.ต.อ.ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม ตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายที่ประทับ ระดับ 11 ดํารงตําแหน่ง ผู้อํานวยการพระคลังข้างที่ อีกตําแหน่งหนึ่ง

2.พล.ต.อ. ไตรรัตน์ อมาตยกุล ตําแหน่ง หัวหน้านายตํารวจราชสํานักประจํา ดํารงตําแหน่ง ประจําสํานักพระราชวังพิเศษ ระดับ 10 สํานักพระราชวัง 

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2560 เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน

11 พฤษภาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนที่ 21 ข.ประกาศเรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้า และเหรียญรัตนาภรณ์  14 ราย โดยอันดับ 11 พ.ต.อ. ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 3

กระทั่ง วันที่ 11 กันยายน 2562 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ให้ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือนพ้นจากตำแหน่งเดิม และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือนพ้นจากตำแหน่งเดิม เนื่องจากบกพร่องในการกำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 4 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 มาตรา 10 มาตรา 13 และมาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ข้อ 12 และข้อ 15 แห่งระเบียบส่วนราชการในพระองค์ ว่าด้วยการบริหารข้าราชบริพารในพระองค์ พ.ศ. 2560 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้  “พ.ต.อ.ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายที่ประทับ ระดับ 11” พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ ระดับ 7 ประจำกรมมหาดเล็ก 904” โดยได้รับเงินเดือนในอัตราเงินเดือนของตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2562 ประกาศ ณ วันที่ 6 กันยายน พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน

6 เดือนต่อมา วันที่ 18 มีนาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์และนายทหารราชองครักษ์พิเศษ โดยมีรายละเอียดความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์และนายทหารราชองครักษ์พิเศษ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 4 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 13 มาตรา 15 และมาตรา 18 แห่งพระราชกฤษฎีกา จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 และมาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติราชองครักษ์ พุทธศักราช 2480 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์และนายทหารราชองครักษ์พิเศษ ดังต่อไปนี้

1. พล.อ.อ. อำนาจ จีระมณีมัย ปรับโอนจากตำแหน่ง “รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ รักษาราชการผู้บัญชาการสำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์ฯ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์” ให้มาดำรงตำแหน่ง “รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายปฏิบัติการ ระดับ 11 และอธิบดีกรมมหาดเล็ก 904 กับเป็นนายทหารราชองครักษ์พิเศษ”

2. พ.ต.อ. ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม “เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ ระดับ 7 ประจำกรมมหาดเล็ก 904” ให้ดำรงตำแหน่ง “รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายที่ประทับ ระดับ 11”

3. พล.ร.อ. ปวิตร รุจิเทศ “รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ รักษาราชการผู้บัญชาการสำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์ฯ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์” ให้เป็น “ผู้บัญชาการสำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์ฯ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์”

4. พล.อ.อ. ชาญชาย เกิดผล “รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ รักษาราชการผู้บัญชาการสำนักงานผู้บังคับบัญชา หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ “เป็น “พระอภิบาลและผู้ประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร”

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม พุทธศักราช 2563 เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน

กระทั่ง 20 พฤษภาคม 2567 นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ได้แจ้งขอลาออกจาก ตำแหน่งกรรมการ “ประธานกรรมการ และประธานกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม” รวมถึงตำแหน่งอื่นๆใน ขแงบริษัทในกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ เนื่องจากปัญหาสุขภาพ ที่ประชุมคณะกรรมการ จึงได้มีมติแต่งตั้ง พ.ต.อ. ธรรมนิธิ ขึ้นเป็นประธานกรรมการบริษัท 

ถือเป็นประธานกรรมการธนาคารคนแรก ที่เป็นอดีตนายตำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ การเงิน การธนาคาร การจัดการทรัพย์สิน

หลังจากนี้ต้องติดตามผลงานของประธานกรรมการ ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย ที่ไม่ใช่นักการเงิน นักการธนาคาร ว่าจะสร้างกำไรจากการดำเนินงานได้ปีละ 4.3-4.5 หมื่นล้านบาทต่อเนื่องไปหรือไม่ และจะมีนโยบายทิศทางการทำงานเป็นอย่างไร!

 

บากบั่น บุญเลิศ