“ธรรมนิธิ” บุรุษนิรนาม ประธานกรรมการ ”SCBx”

29 พ.ค. 2567 | 07:45 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2567 | 14:35 น.
4.2 k

รายงานพิเศษ EP#1 “ธรรมนิธิ” บุรุษนิรนาม ประธานกรรมการ SCBx โดย บากบั่น บุญเลิศ

กลายเป็นประเด็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์”กันไปทั่ว เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ ที่อวตารออกมาเป็น “บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB” แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ว่า

นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ได้แจ้งขอลาออกจาก ตำแหน่ง “กรรมการ-ประธานกรรมการ-ประธานกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม” ของบริษัท รวมถึงตำแหน่งอื่นๆใน กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ เนื่องจากปัญหาสุขภาพ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ได้มีมติแต่งตั้ง “พ.ต.อ. ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม” ซึ่งเป็นกรรมการ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2567 เป็นต้นไป

พ.ต.อ.ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม
 

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทได้มีมติแต่งตั้ง “พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล” กรรมการบริษัท ดำรงตำแหน่ง “ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท” อีกตำแหน่งหนึ่ง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป

ไม่มีใครตั้งคำถามถึงผลการดำเนินงานของธนาคาร SCB ที่สร้างผลตอบแทนจนมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2567 จำนวน 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล

ไม่มีใครตั้งคำถามถึง การตั้ง “พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล” เลขาธิการพระราชวัง-ผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์-ประธานกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.- ประธานกรรมการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

ที่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมคณะกรรมการ ขึ้นเป็น“ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท SCB” เพราะรู้จักท่านจากการทุ่มเททำงานหนักในหลายบทบาท หลายมิติ มาอย่างซื่อสัตย์ยาวนานและต่อเนื่อง

ทว่าบรรดาผู้ถือหุ้นทั้งนักลงทุนไทย นักลงทุนต่างประเทศ กองทุน และผู้คนในสังคมธุรกิจ การเงิน การธนาคารต่างอยากรู้ตัวตนของ “พ.ต.อ.ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม” ที่ก้าวขึ้นมาเป็นประธานกรรมการ ธนาคาร SCB กันอย่างมากว่า “WHO is he?”

จึงก้าวขึ้นนั่งในตำแหน่งสูงสุดในฐานะ “ผู้กำกับนโยบายของฝ่ายบริหาร” ธนาคารใหญ่อันดับ 4 มีสินทรัพย์รวม 3,407,138 ล้านบาท เงินฝากราว 2,911,894 ล้านบาท สินเชื่อราว 2,104,860 ล้านบาท

กำไรธนาคาร ไตรมาส 1/2567

ที่ผ่านมา “นายกกรรมการ” ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น “ประธานกรรมการ” ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่แปรสภาพมาจาก “บุคคลัภย์” (Book Club) ที่พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย อดีตเสนาบดี กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จัดตั้งขึ้น

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งเป็นธนาคารในนาม “บริษัท แบงก์สยาม กัมมาจล ทุนจำกัด” (Siam Commercial Bank, Limited) เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449 ประกอบธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ อย่างเป็นทางการเป็นแห่งแรกของประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างแทบทั้งสิ้น

นายอาภรณ์ กฤษณมาระ น้องชายพระยาไชยยศสมบัติ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งวิชาการบัญชีที่จุฬาฯ ช่วงปี 2481 ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการคนไทยคนสำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ (ที่เปลี่ยนชื่อมาตั้งแต่ปี 2482) เป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดยังไม่มีใครทำลายสถิติ ตั้งแต่ปี 2487-2515 โดยมีทุนจดทะเบียนแค่ 3.3 ล้านบาท 

นายสมหมาย ฮุนตระกูล ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในช่วงสั้นๆของปี 2515 เพียง 3 เดือนเศษ ปี 2516 มีการเพิ่มทุนทันทีครั้งใหญ่ จาก 3.3 ล้านบาท เป็น 40 ล้านบาท ที่มีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่มาเป็น นายประจิตร ยศสุนทร เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ตั้งแต่ปี 2516-2527

ก่อนส่งไม้ต่อให้ นายธารินทร์ นิมมาเหมินทร์ ขณะที่นายประจิตร ขึ้นเป็น “นายกกรรมการ”อย่างยาวนานมากตั้งแต่ 2530-2541 

ยุคนายประจิตร เป็นนายกกรรมการ ถือเป็นยุคแห่งโอกาสใหม่ ขยายเครือข่ายธุรกิจและการลงทุนทั้งอุตสาหกรรมและการเงิน ผนึกผสานยุทธศาสตร์ทางธุรกิจระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ กับเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) อย่างเข้มแข็ง ก่อนนายประจิตร จะลาออกจากตำแหน่ง วันที่ 31 มกราคม 2541

ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่เป็นกรรมการก้าวขึ้นเป็น นายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2541- 27 สิงหาคม 2550 จึงลาออก เพราะเป็น “ประธานกรรมการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน) ด้วย ซึ่งตามหลักกำกับกิจการที่ดีของบริษัทมหาชนในตลาดหุ้น ดร.จิรายุ ควรเป็นประธานกรรมการเพียง 1 บริษัท

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นกรรมการธนาคารมายาวนาน 22 ปี  จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2550-วันที่ 4 เมษายน 2562 จึงลาออกจาก “กรรมการและนายกกรรมการ”  รวมระยะเวลาที่นายอานันท์เป็นกรรมการธนาคารแห่งนี้ยาวนาน 33 ปี 6 เดือน

วิชิต สุรพงษ์ชัย

นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ที่เข้ามาเป็นกรรมการธนาคารยาวนาน ขึ้นเป็น “นายกกรรมการ และประธานกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม” ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2562  ก่อนจะลาออกเพราะปัญหาสุขภาพเมื่อ 20 พฤษภาคม 2567 โดยมีผล 20 กรกฎาคม 2567

โดยมี “พ.ต.อ.ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม” ก้าวขึ้นมาเป็น “ประธานกรรมการ” ซึ่งตำแหน่งเดิมคือ “นายกกรรมการ” ธนาคารไทยพาณิชย์ อันมีประวัติศาสตร์ยาวนาน

จะเห็นได้ว่า ในประวัติศาสตร์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น “นายกกรรมการ-ประธานกรรมการ”ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียง มีประสบการณ์ ในเส้นทางอย่างหาตัวเทียบยาก

ไล่ตั้งแต่ยุคที่มีผู้จัดการใหญ่เป็นเบอร์ 1 จนมาถึงยุคนายกกรรรมการ เป็นประธานธนาคารไทยพาณิชย์ที่แปลงกายเป็น SCBx ในปัจจุบัน

อาทิเช่น “นายอาภรณ์ กฤษณมาระ-นายสมหมาย ฮุนตระกูล-นายประจิตร ยศสุนทร-ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา-นายอานันท์ ปันยารชุน-นายวิชิต สุรพงษ์ชัย” บุคคลเหล่านี้เป็นผู้มากด้วยฝีมือ มีผลงานที่รู้จักของสาธารณะทั้งสิ้น

มาถึงยุคของ”พ.ต.อ.ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม” รองเลขาธิการพระราชวัง สำนักพระราชวัง บุรุษผู้มีอายุ 65 ปี ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ มาตั้งแต่ 13 มิถุนายน 2561 นับถึงตอนนี้ก็เกือบ 6 ปีเต็ม 

แต่คนในวงการตลาดหุ้น ตลาดทุน วงการธนาคาร ต่างตั้งคำถามด้วยความอยากรู้ว่า “พ.ต.อ.ธรรมนิธิ” คือ ใคร ฝีไม้ลายมือขนาดไหน จึงก้าวขึ้นมารับไม้เป็น ”ประธานกรรมการ” ธนาคารที่ทรงคุณค่า ยืนอยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน 

ตอนหน้าจะพาไปพิจารณาเส้นทางการทำงานของ อดีตนายตำรวจ บุรุษนิรนาม ที่ทำงานในสำนักพระราชวัง พระคลังข้างที่ และสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มาอย่างยาวนาน ชวนติดตามอย่างยิ่ง
 

บากบั่น บุญเลิศ