ดอกเบี้ยขาขึ้น ลงทุนหุ้นเชิงรับ

06 ก.ค. 2565 | 05:05 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2565 | 20:26 น.
696

จากข้อมูลในอดีตพบว่า ตลาดหุ้นไทยชอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าการปรับลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยมีทั้งกลุ่มธุรกิจได้รับประโยชน์และได้รับผลกระทบเชิงลบ จึงควรลงทุนในธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ หรือหุ้นเชิงรับ ที่มีความสามารถในการกำหนดราคาสินค้า

จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา มีมติ 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% สู่ระดับ 0.75% ซึ่งจากการที่ กนง.เสียงแตก ทำให้ตลาดประเมินว่ามีโอกาสสูงที่ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป (10 สิงหาคม 2565) ส่งผลให้นักลงทุนต้องเตรียมรับมือกับยุคดอกเบี้ยขาขึ้น
 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า จากมติที่ประชุม กนง.ล่าสุด ประเมินได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปลี่ยนสัญญาณเริ่มภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น “การตัดสินใจของ กนง.น่าจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าภาวะดอกเบี้ยต่ำในช่วงที่ผ่านมา น่าจะกำลังจบลงแล้ว และดอกเบี้ยกำลังจะเป็นขาขึ้น

 

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กนง.มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น มาจากความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและอาจอยู่นานกว่าที่คาด เนื่องจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานโลก ทำให้ต้นทุนภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น และประเมินว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดี

 

“ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบัน จะมีความจำเป็นลดลง” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
 

เมื่อเป็นยุคภาวะเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน สงครามรัสเซียกับยูเครนยังยืดเยื้อ นักลงทุนในตลาดหุ้นต้องยกการ์ดสูง เพื่อรับแรงกระแทกด้วยการเพิ่มความระมัดระวัง เช่น เพิ่มสถานะของพอร์ตตั้งรับ (Defensive) ต่อความผันผวนที่กำลังจะมากขึ้น

 

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไทยพาณิชย์ ได้ศึกษาว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่อดัชนีหุ้นไทยหรือไม่ โดยดูข้อมูลในอดีตตั้งแต่ ปี 2544, 2547, 2551, 2553 และ 2561 ซึ่งแบ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว เติบโต และชะลอตัว

 

พบว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยชอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าการปรับลดดอกเบี้ย อีกทั้ง หากเป็นช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะไม่มากนัก โดยตลาดมีแนวโน้มตอบสนองในทิศทางเชิงบวกหลังปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 – 3 เดือน และหุ้นขนาดเล็กจะให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่

 

ขณะที่ ช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว หากปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงหรือให้ผลตอบแทนไม่สูงมากนัก หรือผลตอบแทนของหุ้นจะขึ้นอยู่กับวงจรเศรษฐกิจมากกว่าแนวโน้มดอกเบี้ยในระยะปานกลาง และสังเกตเห็นว่าตลาดหุ้นมักมีความผันผวนในช่วงที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว แต่ความผันผวนก็จะเป็นไปในระยะสั้น ๆ เนื่องจากตลาดรับรู้ภาวะดอกเบี้ยกำลังเป็นขาขึ้นไปค่อนข้างมากแล้ว

 

ที่สำคัญหากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 อาจทำให้ภาคการส่งออกขยายตัวดีต่อเนื่อง การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายมากขึ้น ก็จะช่วยลดผลกระทบของเงินเฟ้อที่จะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้



 

จากการวิเคราะห์ผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไทยพาณิชย์ พบว่าบริษัทจดทะเบียนในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่น่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบ โดยในกรณีที่เลวร้ายสุดใช้สมมติฐานว่า หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยทั้งหมดถูกคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว โดยไม่มีระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนจะปรับลดลง (กรณีฐาน ซึ่งใช้สมมติฐานต้นทุนทางการเงินคงที่)

 

บริษัทจดทะเบียนที่มีภาระหนี้สินสูงและมีการลงทุนสูง เช่น กลุ่มท่องเที่ยว อาหาร พาณิชย์ สื่อสาร สาธารณูปโภค และอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็ก มีแนวโน้มได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในทางกลับกัน กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องดื่ม และการแพทย์ ที่มีหนี้สินต่ำและมีเงินสดในมือสูง หากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 กำไรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอาจชดเชยค่าใช้จ่ายทางการเงินที่สูงขึ้นได้

 

ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน ควรเน้นหุ้นคุณภาพที่มีความปลอดภัยสูงที่เรียกว่า “หุ้นเชิงรับ” เช่น กลุ่มสินค้าจำเป็น พาณิชย์ และการแพทย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า สามารถปรับขึ้นราคาได้ และเมื่อขึ้นราคาแล้วยังมีคนซื้อสินค้า จึงลดแรงกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่มีโอกาสถดถอยได้ โดยควรเลือกหุ้นเชิงรับที่มีมูลค่าที่แท้จริงอยู่ในระดับที่เหมาะสม และเมื่อหักด้วยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในธุรกิจนั้น ๆ ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

บทความโดย   :  ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 
                 

ที่มา  :  setinvestnow.com