หนังสือเปิดโลกใหม่

30 ส.ค. 2564 | 12:31 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2564 | 23:05 น.
1.3 k

บทความโดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) ชั้นแนวหน้า

        การเป็น “VI” ที่สมบูรณ์สำหรับผมก็คือ  คนที่ “รอบรู้” ในศาสตร์ “รอบด้าน” อย่างถูกต้อง  ที่สำคัญก็คือเรื่องของเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  การทำธุรกิจและการลงทุน  โดยที่ความรู้ “พื้นฐาน” ที่สำคัญมากที่สุดก็คือ  ความรู้เกี่ยวกับ  “คน” หรือพูดให้ชัดเจนก็คือ  “พฤติกรรมของคน”  โดยที่ความรู้ใน “ภาพใหญ่” คือเศรษฐกิจ  สังคม  การเมืองและการทำธุรกิจ  นั้น  เราไม่จำเป็นต้องรู้ลึกแต่ต้องรู้กว้างและรู้จริง  ส่วนความรู้ในเรื่องของการลงทุนนั้น  เราต้องรู้ลึกและรู้จริง 

        วิธีการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดไม่มีอะไรดีไปกว่าการอ่านหนังสือ  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  การเลือกหนังสือที่จะอ่าน  เหตุผลก็เพราะว่ามีหนังสือมากมายเกินกว่าที่เราจะอ่านไหว  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  หนังสือมีรายละเอียดมากเกินไปจนเราไม่เห็นภาพใหญ่  หนังสือจำนวนมาก “ไม่ถูกต้อง” เพราะคนเขียนก็ไม่รู้จริงหรือที่แย่ยิ่งกว่าก็คือ  เขียนจากความคิดที่  “ลำเอียง” ที่มาจากพื้นฐานทางจิตวิทยาของตนเอง  ผมเองได้อ่านหนังสือหลากหลายมากในหลากหลายศาสตร์ดังกล่าว  ถึงวันนี้เมื่อคิดย้อนหลังไป  มีหนังสือหลายเล่มที่คิดว่าช่วยให้ผม  “ตาสว่าง” คือ “รู้” ในสิ่งที่ไม่เคยรู้  หรือ “รู้” ในสิ่งที่ผมเข้าใจผิดมานาน  หนังสือหลายเล่มหรือน่าจะส่วนใหญ่เป็น “หนังสือประวัติศาสตร์” หรือแนวอิงประวัติศาสตร์ที่เขียนโดย  “เซียน” ที่มีการศึกษามาเป็นอย่างดี  ที่ “เล่าเหตุการณ์” ต่าง ๆ  ต่อเนื่องกันมาอย่างมีเหตุมีผลและมาจาก “พื้นฐาน” ที่ถูกต้องนั่นก็คือ  ความเป็น “มนุษย์” ที่เป็นคนสร้างเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงวันนี้

         หนังสือเล่มแรกซึ่งจริง ๆ  ก็คือหนังสือพื้นฐานสำคัญที่สุดที่ผมคิดว่า VI หรือคนทั่วไปควรจะอ่านเป็นอย่างยิ่งก็คือ  หนังสือชื่อ   Sapiens: A Brief History of Humankind หรือ เซเปียนส์ : ประวัติย่อของมนุษยชาติ  เขียนโดย ยูวัล แฮรารี นักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวยิว  นี่คือหนังสือที่เล่าเรื่องราวของมนุษย์พันธุ์เซเปียนตั้งแต่เริ่มต้นวิวัฒนาการและการก่อร่างสร้างเมือง  เอาชนะสัตว์ทั้งปวงรวมถึงมนุษย์เผ่าอื่นที่เพิ่งล้มตายและ “สูญพันธุ์” ไปแค่ 4-50,000 ปีมานี้เอง  ส่วนการเอาชนะสัตว์อื่นทั้งปวงและสามารถ “ครองโลก” ได้อย่างเด็ดขาดเองนั้น  ก็น่าจะเพิ่งเกิดขึ้นแค่ไม่เกิน 10,000-20,000 ปี  และการสร้างเมือง รัฐ และสถาบันต่าง ๆ  ในการปกครองรวมถึงศาสนานั้นก็แค่ 4-5,000 ปีที่ผ่านมา  ไม่ต้องพูดถึง “ประเทศ” อย่างที่เรารู้จักที่มีขอบเขตดินแดนแน่นอนที่เพิ่งจะก่อตั้งขึ้นเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่แล้วนี่เอง

         แฮรารีบอกว่า  ที่เซเปียนส์พัฒนาตนเองได้เร็วมากก็เพราะว่ามนุษย์มีจิตสำนึก  รู้จักคิดและมี “จินตนาการ” สามารถคิดฝันและเชื่อในสิ่งที่ไม่มีตัวตนหรือมีคุณค่าทางธรรมชาติและก็ปฏิบัติไปตามความเชื่อนั้นได้  ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ก้าวหน้ามหาศาลก็เช่นเรื่องของ  “เงิน” ที่ทุกคนเชื่อว่ามันสามารถเอาไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการได้ทั้ง ๆ  ที่มันเป็นก้อนโลหะหรือเป็นกระดาษหรือในปัจจุบันเป็นแค่ตัวเลขดิจิตอลในคอมพิวเตอร์เป็นต้น  ดังนั้น  พวกเขาจึงยอม “ทำงาน” อะไรบางอย่างให้กับคนอื่นเพื่อหาเงินมาใช้เพื่อเอาชีวิตให้รอดและเก็บไว้เพื่ออนาคตของตนและลูกหลาน    

         เช่นเดียวกัน  “บริษัท” ก็เป็นแค่  “นามธรรม” ที่สามารถทำงานไปได้เรื่อย  ๆ อย่างต่อเนื่องในขณะที่คนอาจจะตายหรือหายไปในเวลาไม่กี่สิบปี  ดังนั้น  บริษัทจึงสามารถดำเนินการและพัฒนาสินค้าของตนไปอย่างต่อเนื่องยาวนานและสามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำให้โลกก้าวหน้าขึ้น  เป็นต้น

         ผมเองคิดว่าเซเปียนส์น่าจะเป็นหนังสือที่ติดอันดับอย่างน้อย  “หนังสือแห่งทศวรรษ” ของโลกโดยเฉพาะทางด้านประวัติศาสตร์  คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะสามารถ  “ต่อยอด” ไปอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ของโลก  รัฐ  และประเทศได้อย่างมีความเข้าใจที่ถูกต้อง  และจะไม่ถูกทำให้หลงเข้าใจผิดจาก  “ความลำเอียง” ที่เกิดจากรัฐหรือผู้คนที่พยายามสร้าง “สตอรี่” ที่เทิดทูนประเทศตนเองและลดค่าประเทศอื่นซึ่งก็เป็นธรรมชาติหรือพฤติกรรมของคนที่ติดมากับยีนของมนุษย์ตั้งแต่ยุคหมื่นปีที่แล้ว

         ถ้าพูดถึงประวัติศาสตร์ของไทยเองนั้น  หนังสือที่ “เปิดโลกใหม่” ให้กับผมก็คือ  หนังสือหลายเล่มที่เขียนโดย  ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทยแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา  นี่คือกลุ่มหนังสือที่พูดถึงประวัติศาสตร์ของไทยที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์ “ทางการ” ของรัฐไทยที่คนไทยทุกคนต้องเรียนและได้รับรู้มาตลอด  แน่นอนว่านักวิชาการ “กระแสหลัก” ของไทยคงจะไม่เห็นด้วยกับความคิดและการวิเคราะห์ของ ดร.ธงชัย เป็นอย่างยิ่ง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น  เหตุผลสำคัญที่สอนให้คนรับรู้ก็คือ  เพื่อให้คนรักและภาคภูมิใจกับความเป็นชาติ  ดังนั้น  เรื่องราวที่จะลดทอนความรู้สึกแบบนั้นจึงน่าจะถูกต่อต้าน  อย่างไรก็ตาม  ถ้าเราจะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ได้จริง  เราก็ควรจะได้เรียนรู้จากความจริงที่เกิดขึ้นในอดีต  และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของหนังสือที่จะช่วยให้เราเรียนรู้  “การเมือง” ของไทยได้ดีขึ้น

            หนังสือแนวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับตลาดหุ้นและการลงทุนที่ผมคิดว่าได้กลายเป็นหนังสือคลาสสิกระดับเดียวกับหนังสือ Intelligent Investor ของเหล่า VI ก็คือ  A Random Walk Down Wall Street โดย Burton Malkiel  ซึ่งเป็นหนังสือที่อิงอยู่กับทฤษฎี “ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ”  ซึ่งบอกว่าไม่มีกลยุทธ์อะไรที่จะสามารถเอาชนะตลาดได้อย่างยั่งยืนยกเว้นแต่จะต้องเสี่ยงมากขึ้น  เนื้อหาไม่ได้บอกวิธีการลงทุนที่จะเอาชนะตลาด  แต่เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวความเป็นมาของตลาดหุ้น   เรื่องที่คนเข้าใจผิด  และให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์กับนักลงทุนทุกคนและทุกแนว  อ่านแล้วจะทำให้เราเห็นพัฒนาการระยะยาวของตลาดหุ้นในโลกจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะในเวอร์ชั่นใหม่ ๆ ของหนังสือที่จะออกมาทุกหลาย ๆ ปี  ไม่ล้าสมัย  คนที่ไม่เคยอ่านเลย  เมื่ออ่านจบก็อาจจะรู้สึกได้ว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดและการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก

         หนังสือ 2 เล่มสุดท้ายที่ผมรู้สึกว่าได้ “เปิดตา” ผมให้เข้าใจเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทได้มากที่สุดเล่มหนึ่ง เพราะมันพูดถึงตำแหน่งและการแข่งขันทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ชื่อว่า  Positioning : The Battle for Your Mind และ Marketing Warfare โดย Al Ries กับ Jack Trout  นี่เป็นหนังสือทางการตลาดเล่มเล็ก ๆ  และอ่านง่ายมากที่ผมซึ่งเคยเรียนจบ MBA ทางการตลาดไม่เคยได้รับรู้เลย  เพราะเวลาที่ผมเรียนการตลาด  เขาจะสอนเรื่องโครงสร้างการแข่งขันของอุตสาหกรรม  จุดอ่อนจุดแข็งของกิจการ  วิถีการทำการตลาด  การจัดการช่องทางการตลาด  การทำแคมเปญเพื่อขายสินค้า เป็นต้น  แต่ไม่เคยเรียนถึง “พื้นฐาน” ของจิตใจลูกค้าเลย  ไม่รู้กระบวนการคิดของสมองหรือจิตใจของลูกค้าต่อสินค้าซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะสำคัญที่สุด  อ่านหนังสือเล่มนี้จบจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ว่าสินค้าไหนจะได้เปรียบ “อย่างยั่งยืน” และโดดเด่นแค่ไหน  คู่แข่งขันจะสามารถเอาชนะหรือต่อสู้ด้วยวิธีการอย่างไร  สิ่งที่สำคัญก็คือ  การต่อสู้ทางการตลาดนั้น  เขาบอกว่ามันอยู่ใน “หัว” ของคน  และถ้าเราเข้าไป “จอง”ตำแหน่งในนั้นได้แล้ว  คนอื่นจะมาแทนที่ทำได้ยากมาก  ยกตัวอย่างตอนนี้ก็อาจจะบอกว่าโทรศัพท์มือถือแอปเปิลนั้น  ได้เข้าไปเป็น “หมายเลขหนึ่ง” ของผู้ใช้หรือลูกค้าจำนวนมากของเขาแล้ว  ยากที่ใครจะมาแทนที่ได้  เป็นต้น

        หนังสือที่เปลี่ยนความเข้าใจหรือเปลี่ยนมุมมองหรือ “เปลี่ยนชีวิต” ของแต่ละคนนั้น  ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำให้ประสบความสำเร็จหรือชีวิตดีขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว   บ่อยครั้ง  มันเป็นหนังสือที่ตรงกับ “จิตวิทยาพื้นฐาน” ของแต่ละคนด้วย  ยกตัวอย่างเช่น  ถ้าคน ๆ  หนึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นนักเก็งกำไร  แต่ไม่เคยหรือไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการเล่นหุ้นทางเทคนิค  วันหนึ่ง  เมื่อเขาพบหนังสือที่เปลี่ยนแนวคิดการวิเคราะห์อย่างสิ้นเชิง  เช่น  มีการใช้วิชาการทางด้านข้อมูลที่ซับซ้อนทางฟิสิกส์เข้ามาเล่นหุ้น  เขาก็อาจจะเปลี่ยนวิธีการวิเคราะห์เดิมไปอย่างสิ้นเชิงได้  โดยที่อาจจะเป็นผลดีหรือผลเสียก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ในกรณีของผมเองนั้น  ผมคิดว่า  หนังสือที่กล่าวมาข้างต้นช่วยให้ผมสามารถวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ  ไม่เฉพาะแต่เรื่องของการลงทุนดีขึ้น  แต่รวมถึงการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ  ด้วย  

        เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  การเป็น “VI” ของผมนั้น  มันไม่ใช่เรื่องของการลงทุนเพียงอย่างเดียว  แต่มันคือ  “ชีวิต” และชีวิตผมก็เปลี่ยนแปลงไปมากส่วนหนึ่งจากการอ่านหนังสือเหล่านั้น  รวมถึงหนังสือที่มีแนวทางแบบเดียวกันที่ตามมา