การปรับพอร์ตทางยุทธศาสตร์

09 ส.ค. 2564 | 14:09 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2564 | 21:19 น.
1.2 k

โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ( Value Investor ) ชั้นแนวหน้า 

การลงทุนระยะยาวแทบจะตลอดชีวิตสำหรับ “VI ผู้มุ่งมั่น” นั้น เมื่อถึงวันหนึ่งหรือเมื่อเวลาผ่านไปนานมาก  เช่นเป็นเวลา 10-20 ปีขึ้นไป บางทีหรือส่วนใหญ่แล้วเราก็อาจจะต้องปรับพอร์ตครั้งใหญ่  หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการ “ปรับพอร์ตทางยุทธศาสตร์” ซึ่งอาจจะเป็นการปรับประเภทหุ้นที่จะลงทุนเช่น  ลงทุนในหุ้นไฮเท็คมากขึ้น  หรือปรับหลักทรัพย์ให้มีความหลากหลายเช่น  อาจจะเพิ่มหุ้นกู้มากขึ้น  เพิ่มการลงทุนในตราสารอื่นรวมถึงสินทรัพย์ดิจิตอลเพิ่มขึ้น  หรือเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศที่อาจจะเติบโตเร็วกว่า  เป็นต้น 

ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะว่าสภาพแวดล้อมของการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกับอายุและความมั่งคั่งของเราก็เปลี่ยนแปลงไป  การที่จะทำอย่างเดิมไปเรื่อย ๆ  นั้น  อาจจะไม่เป็นผลดี  เพราะเราอาจจะสร้างความมั่งคั่งได้น้อยลงเพราะตลาดหรือพอร์ตแบบเดิมไม่เหมาะสมอีกต่อไปแล้ว   หรืออาจจะไม่อยากรับความเสี่ยงแบบเดิมอีกต่อไปเพราะเรามีความมั่งคั่งเพียงพอแล้ว  เป็นต้น

สำหรับผมเองนั้น  หลังจากลงทุนพอร์ตหุ้นแบบ Focus หรือเน้นหุ้นไม่กี่ตัวในตลาดหุ้นไทยมายาวนานกว่า 20 ปี  ผมก็เริ่มเห็นว่าหุ้นในประเทศไทยเริ่มจะถึง “ทางตัน”  ด้วยเหตุผลหลายอย่าง  ดังนั้น เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมาผมจึงเริ่มที่จะปรับพอร์ตทางยุทธศาสตร์  โดยการลดระดับการ Focus หรือเน้นหุ้นไม่กี่ตัวน้อยลง  แต่ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนไปถือหลักทรัพย์อย่างอื่น  ผมยังคิดว่าในระยะยาวหุ้นก็ยังเป็นสินทรัพย์ที่ดีที่สุด 

สิ่งที่ผมทำก็คือการย้ายประเทศหรือตลาดลงทุน  แต่ก็เป็นการค่อย ๆ  ทยอยลงทุนไปเรื่อย ๆ  โดยช่วงแรกก็ประมาณไม่เกิน 5-10% ของพอร์ตโดยรวม  ต่อมาก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อเห็นแล้วว่า “ประสบความสำเร็จ” และอนาคตต่อไปก็น่าจะเป็นอย่างที่คาด  โดยที่ตลาดหุ้นต่างประเทศที่ไปลงทุนก็คือเวียตนาม  ซึ่งถึงวันนี้พอร์ตก็โตขึ้นเป็นกว่า 20% แล้วอานิสงค์จากการที่หุ้นมีราคาปรับตัวสูงขึ้นมากเมื่อเร็ว ๆ นี้

ลองมาดูสถิติผลตอบแทนโดยรวมของตลาดหุ้นเวียตนามในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาและตั้งแต่ต้นปี ถึงล่าสุดวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ดูก็จะพบว่าดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นทั้ง ๆ ที่ประเทศกำลังประสบกับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักพอ ๆ  กับไทยและหนักที่สุด “ระดับโลก” ในช่วงเร็ว ๆ นี้ก็จะพบว่าตลาดหุ้นเวียตนามให้ผลตอบแทน  “ดีที่สุด”  ที่ประมาณ 60% และ 22% ตามลำดับ 

ในขณะที่ดัชนีของประเทศที่กำลังฟื้นจากโควิดอย่างสหรัฐก็ให้ผลตอบแทนตามดัชนี S&P 500 ที่ 32% และ 20%  ดัชนีดาวโจนส์ที่ 28% และ 16%   ในขณะที่จีนซึ่งแทบจะปลอดจากโควิดไปแล้วนั้น  ดัชนีเซี่ยงไฮ้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาปรับขึ้นแค่ 3% และจากต้นปีติดลบ 1%   ดัชนีนิกเกอิของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 25% และ 2%  ส่วนตลาดหุ้นไทยเองนั้นอยู่ที่ 14% และ 5% ตามลำดับ

พอร์ตเวียตนามของผมเองนั้น  ในช่วง 3-4 ปีแรกทำผลงานได้แย่มากเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาตลอดแม้ว่าจะมีความผันผวนค่อนข้างสูง  สาเหตุสำคัญก็คือ  การเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนาม  “รอบแรก” ของผมนั้นเข้าไปแบบรีบร้อนและไม่ได้มีการศึกษา  “ภาพเล็ก” ของตัวหุ้นหรือกิจการ  เน้นแต่ภาพใหญ่ที่เห็นว่าเศรษฐกิจเวียตนามกำลังเติบโตเร็วและต่อเนื่องไปนาน 

ประกอบกับการที่ตลาดหุ้นยังไม่มี  “กองทุนรวมอิงดัชนี” ที่มีประสิทธิภาพ  ผมจึงใช้วิธีลงทุนแบบ  “เหวี่ยงแห” เลือกลงทุนโดยการซื้อหุ้นที่มีราคาถูกแบบ VI เช่น  มีค่า PE ไม่เกิน 10 เท่า ค่า PB ไม่เกิน 1 เท่า  และเงินปันผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี ซึ่งก็ซื้อมาเป็นร้อยตัวและเป็นพอร์ตของหุ้นขนาดเล็ก  และนี่ก็คือพอร์ตหุ้นที่มีการศึกษาแล้วว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีเยี่ยมในอดีตทั้งในตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นสหรัฐ  อย่างไรก็ตาม  การลงทุนโดยวิธีนี้ในตลาดหุ้นเวียตนามของผมดูเหมือนว่าจะ “ล้มเหลว” แพ้ผลตอบแทนของดัชนีตลาดอย่างราบคาบจนถึงวันนี้

“พอร์ตที่สอง” ของผมในเวียตนามซึ่งเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น  เป็นพอร์ต ที่ผมเลือกหุ้นลงทุนเป็นรายตัวประมาณ 30 ตัว  แต่หุ้นหลัก ๆ ซึ่งผมเพิ่งลงทุนในช่วงหลัง ๆ ประมาณ 1-2 ปีมานี้จำนวน 5-6 ตัวมีน้ำหนักมากถึง 80% ของพอร์ตซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนในหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” แบบ Focus ในแบบที่ผมทำตลอดมาในตลาดหุ้นไทย  ผลตอบแทนที่ได้จากพอร์ตนี้ดีเยี่ยมและคล้าย ๆ กับพอร์ตการลงทุนในช่วงแรก ๆ  ของผมในช่วง  “ยุคทอง”  ของการลงทุนแบบเน้นคุณค่าของตลาดหุ้นไทย  อย่างไรก็ตาม  สถิตินี้ยังสั้นมาก  ยังบอกไม่ได้ว่าจะประสบความสำเร็จในระยะยาวเหมือนในตลาดหุ้นไทยหรือไม่  แต่คิดว่าคงไม่  เพราะผมไม่คิดว่าจะมีตลาดหุ้นไหนที่จะให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนแบบ VI ดีเท่าตลาดหุ้นไทยในช่วง 20 ปีหลังวิกฤติปี 2540

ตัวเลขผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้ของพอร์ตแรกในตลาดหุ้นเวียตนามของผมคือประมาณ  34% ในขณะที่พอร์ต 2 ให้ผลตอบแทนถึง 47% โดยรวมแล้วผลตอบแทนของพอร์ตหุ้นเวียตนามตั้งแต่ต้นปีให้ผลตอบแทนถึง 40%  เทียบกับ 22% ของตลาดหุ้นเวียตนาม  ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าการเลือกหุ้นในแบบ VI แนวซุปเปอร์สต็อกที่ผมใช้นั้น  ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในสไตล์อื่น ว่าที่จริง  ผลตอบแทนของพอร์ต 1 ที่ทำได้ดีในปีนี้เองนั้น  ก็เพราะได้รับการ “ปรับพอร์ต” มาเรื่อย ๆ  โดยการเอาปันผลที่ได้รับมาเลือกซื้อหุ้นแนวซุปเปอร์สต็อกตลอดหลายปีที่ผ่านมาจนทำให้พอร์ตเริ่มเปลี่ยนไปเป็นแนว Focus มากขึ้นเรื่อย ๆ  หุ้นใหญ่ที่สุดจำนวนเพียง 5-6 ตัวคิดเป็นประมาณ 40-50% ของพอร์ตแล้ว  และในอนาคตสัดส่วนก็คงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการนำเงินปันผลที่ค่อนข้างมากกลับไปซื้อหุ้นซุปเปอร์สต็อกไปเรื่อย ๆ  ผมเองยังไม่มีเวลาและความรู้พอที่จะขายหุ้นจำนวนเป็น 100 ตัวเพื่อเปลี่ยนไปซื้อหุ้นซุปเปอร์สต็อกให้มากกว่านี้

สำหรับนักลงทุนจำนวนมากแล้ว  การเปลี่ยนแปลงหรือการปรับพอร์ตแบบเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงในชั่วข้ามคืนนั้นเป็นเรื่องธรรมดา  เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ  พวกเขาไม่ได้ลงทุน “ระยะยาว” อยู่แล้ว  การลงทุนในหุ้นแต่ละตัวต่างก็เป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องมากเพียงพอที่จะขายได้หมดสิ้นภายในเวลาอันสั้น  อาจจะเพียงวันเดียวหรือไม่กี่วันโดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ความคิดและการวิเคราะห์มูลค่าเหมาะสมของหุ้นก็จะเป็นเรื่องของการอิงกับข่าวและผลประกอบการระยะสั้น  ดังนั้น  เวลามีอะไรเปลี่ยนไป  การซื้อขายก็จะทำทันที 

ในขณะที่ “VI พันธุ์แท้” ที่มองหุ้นเหมือนธุรกิจของตนเองนั้น  การขายหุ้นโดยเฉพาะที่ถือมานานเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้อง “ทำใจ” พอสมควร  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  มันจะต้องมีเหตุผลที่หนักแน่นมากว่าการปรับพอร์ตจะก่อให้เกิดผลดีอย่างไรอย่างชัดเจน  ดังนั้น  การปรับพอร์ตครั้งใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายรวมถึงว่าถ้าจะปรับจะปรับอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น  การย้ายการลงทุนไปยังต่างประเทศซึ่งมักจะต้องอิงกับความคิดว่าอนาคตของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นจะเป็นอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจได้ง่าย  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  เราเป็นคนไทยและเรารู้จักกับบริษัทในตลาดไทยเป็นอย่างดี  ในขณะที่ประเทศอื่นนั้น  ความ “ไม่รู้” ซึ่งเป็นความเสี่ยงมีเต็มไปหมด  ถ้าเราไม่มั่นใจจริง ๆ  ว่าผลตอบแทนที่ทำได้จะดีและมั่นคงแค่ไหน  เราจะติดตามดูแลการลงทุนของเราทันท่วงทีไหมในกรณีที่เลวร้าย  เราก็จะไม่ไป  และก็เช่นเดียวกัน  สำหรับคนที่ประสบความสำเร็จและรวยจากหุ้นแบบหนึ่งมาช้านาน  การที่จะเปลี่ยนความคิดปรับพอร์ตไปเป็นหุ้นอีกแบบหนึ่งหรือลงทุนในสินทรัพย์อีกอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่หุ้นก็เป็นเรื่องที่ยากมาก

พูดตามตรง  ผมเองกว่าจะเริ่มไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศก็คิดแล้วคิดอีก  และแม้ว่าจะตัดสินใจไปแล้ว  แต่กว่าจะไปเพียงแค่ 20% ของพอร์ตก็ใช้เวลาถึง 6-7 ปี  ผมเองไม่รู้ว่าในที่สุดพอร์ตการลงทุนทั้งหมดของผมจะเป็นอย่างไรในอีกซัก 10 ปีข้างหน้า  ผมรู้แต่เพียงว่าสัดส่วนของการลงทุนหุ้นในประเทศไทยน่าจะน้อยลงไปอีก  เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในขณะที่ไทยกำลังอยู่กับที่หรืออาจจะถอยหลัง  แม้แต่ตัวผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าเราจะปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน  เป็นไปได้ว่าถึงวันหนึ่งเราจะต้องปรับพอร์ตให้เหมาะกับตนเองที่มีอายุมากและเรียนรู้ของใหม่ได้ยากขึ้น  ว่าที่จริง  ผมเองก็อาจจะกำลังทำอยู่  เพราะในขณะที่นักลงทุนและคนรุ่นใหม่ต่างก็สนใจลงทุนในหุ้นไฮเท็คในประเทศที่ก้าวหน้า  ผมเองกลับลงทุนแต่ในเวียตนามที่ยังทำและเดินตามทางที่ประเทศไทยเคยทำ  ผมไม่กล้าลงทุนในสิ่งใหม่ ๆ ที่ผมไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้จักดีพอ 

มีคนรู้จักเคยถามผมว่าไม่สนใจลงทุนในหุ้นไฮเท็กหรือสินทรัพย์ใหม่ ๆ เช่นพวกคริปโตบ้างหรือ?   คำตอบของผมก็คือ  ผมมีหุ้นซุปเปอร์สต็อกราคาถูกที่เวียตนามให้ลงอยู่แล้ว  ไม่รู้จะไปเสี่ยงลงอย่างอื่นทำไม