KEY
POINTS
ย้อนไปในวันเวลาเมื่อสักพระพุทธศักราชได้ราว 382 ปี ‘คนเมือง’ ได้เสียถิ่นฐานบริเวณลุ่มน้ำฮองโหให้กับชนชาติจีน เลยพากันอพยพหนีความเป็นทาสลงมาทางใต้ โดยระส่ำระสายตั้งตัวไม่ติดกินเวลาหลายสิบปี
คอยหักร้างถางพงสู้ภัยธรรมชาติ รับมือกับคนป่าสัตว์ไพร สร้างบ้านแปงเมืองมาเรื่อยตั้งแต่เหนือน้ำแยงซีแถบตะวันออก มาเมืองหนองแสตอนกลางของมณฑลยุนนานเลาะลงมาจนถึงน้ำโขงตอนใต้ไปกระทั่งทิศเหนือของพม่าในปัจจุบัน ประกอบไปด้วยบ้านเล็กเมืองน้อย รัฐต่างๆที่เป็นอิสระซึ่งมีพ่อเมือง (จีนเรียกพยุง-พ่อขุน) ปกครอง มีเมืองเพงายอยู่ตอนกลางมีเมืองแถนอยู่ตะวันออก
คำว่า ‘แถน‘ นี้คุณชายคึกฤทธิ์ ปราโมช_ผู้เขียนเรื่องเบ้งเฮ็กนี้ ท่านแปลว่า ‘เทวดา’ เมืองแถนหรือเชียงแถน ก็คือเมืองเทวดา มีค่าเท่ากับคำว่ากรุงเทพฯ (กรุงเทวะ)ในยุคถัดมาจนถึงปัจจุบันเป็นคำอารมณ์เดียวกันกับเมืองสวรรค์ เช่น ลอส แองเจิ้ล_ลีส ที่แคว้นเมืองแถนนี่เอง พงศาวดารจีนสามก๊กเรียกว่า มันอ๋อง เป็นสถานที่ซึ่งวีรบุรุษบรรพชนไทยนามกรว่าเบ้งเฮ็ก ถือกำเนิดเกิดขึ้น
โดยมีกลุ่มสหพันธ์ที่มีพงษ์เผ่าและวัฒนธรรมใกล้ชิดกันประกอบไปอีก 93 หัวเมือง เรียกตนเองว่าอ้ายลาว ซึ่งหากตรองตรองดูคำว่า ที่นี้ลาวอาจจะแปลว่า ‘เรา’ ก็พอมีเค้าเป็นไปได้
ครั้นถึงพุทธศักราช 600 พระเจ้าจีนเม่งตี้ส่งสมณทูตมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนเหล่านี้ ประดาสมาชิกสหพันธ์อาณาจักรอ้ายลาวก็ให้ความยอมรับนับถือโดยยกขึ้นเหนือกว่าลัทธิเคารพบูชาศาสนาผีเทวดาแต่ดั้งเดิม งานนี้ก็ทำให้พระเจ้าเม่งตี้เข้าใจไปผิดว่าพวกอ้ายลาวยอมตนเป็นเมืองออกเมืองขึ้นของจีนเสียแล้ว ถึงกับส่งขุนนางจีนมากำกับราชการ ฝ่ายพ่อขุนหลวงเมืองผู้นำสหพันธรัฐในเวลานั้นก็ผ่อนสั้นผ่อนยาวอยู่จนเมื่อผลัดแผ่นดินราชบุตรชื่อขุนไลลาวขึ้นนั่งเมืองมีความรู้สึกไม่สบายใจกับการไม่เป็นอิสระภาพแห่งดินแดน จึงรวบรวมไพร่พลออกรบพุ่งกู้เอกราช การสงครามคราวนี้กินเวลานานหลายปี จบลงตรงที่ฝ่ายจีนชนะสหพันธ์อ้ายลาวล่มสลายในปีพุทธศักราช 621
กาลเวลาผ่านไปอีกราว 60 ปีบ้านเมืองจีนเกิดเหตุทุรยศบ้านเมืองแตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า (อย่างน้อยมีสามก๊ก) ก็ให้เกิดว่ามีมหาบุรุษผู้หนึ่งเห็นจังหวะกำลังดีจึงลุกขึ้นมาปลดแอก ท่านก็คือเบ้งเฮ็กเจ้าเมืองมันอ๋องที่กำลังกล่าวถึงกันนี่เอง
ฝ่ายความมั่นคงจีนตรวจการทัพหน้า รายงานเข้าวังไปว่ามันอ๋องนี่เป็นรัฐหนึ่งในสหพันธ์อ้ายลาวดั้งเดิมมีหน้าด่านอยู่ที่เมืองสำกั๋ง ตัวเมืองหลวงชื่อว่างินแข มีชัยภูมิดีมีภูเขาล้อมรอบ ที่ยอดเขางินแข (ขุมเงิน) เจ้าเมืองตั้งปราสาทอยู่มีศาลเจ้าหอผีซึ่งมีปกกุย(ลักษณะคือตาผ้าขาว)ดูแลเรียกเป็นภาษาอย่างคนจีนเรียกว่าก๋งเตียนเหล้าข่าย ซึ่งแปลไทยอาจได้คำว่าหอคำหรือปราสาททอง (เรื่องของคำและการใช้คำขยายเรื่องคำเรื่องทองได้เขียนให้ท่านฟังแล้วในตอนก่อนๆ) โดยพงศาวดารสามก๊กระบุถึงความประหลาดของงินแข ในทรรศนะของจีนว่า
เมืองนี้ไม่มีตัวบทกฎหมาย ถ้าชาวเมืองทำผิดเจ้าเมืองเป็นผู้ตัดสิน ส่วนจะผิดมากหรือผิดน้อยไม่เกี่ยว เกี่ยวกับว่าเจ้าเมืองขัดเคืองในความผิดนั้นไหม ถ้าทรงขัดเคืองพิโรธโกรธจัดท่านก็ฆ่าทิ้ง(ท่านมันอ๋อง เบ้งเฮ็ก) หน้าปราสาทหอคำของเจ้าเมืองมีกระดิ่งให้คนเคาะคอยร้องเรียนอรรถกถาฎีกาความคับข้องใจต่างๆได้ตลอด ที่เมืองนี้ชาวเมืองนิยมกินเนื้อสัตว์ดิบ (ซึ่งฝ่ายจีนไม่กินของดิบและมองว่าเป็นความป่าเถื่อน) ชาวงินแขนิยมจับคนมาฆ่าบูชายัญหอผีแต่ไม่จับคนของตัวเอง มักลอบเข้ามาจับคนจากเสฉวนเอาไปฆ่าทำพิธีบูชายัญ
ส่วนขงเบ้งนั้นพงศาวดารระบุว่า ขงเบ้งมองว่าคนอ้ายลาวมีลักษณะพิเศษคือมักเจ็บใจแทนพวกพ้อง มีความรักอิสระซึ่งอาการนี้จะทำให้คนละแวกนี้รวมตัวกันเพื่อต่อต้านราชสำนักจีนได้ง่าย
ฝ่ายเบ้งเฮ็กเจ้าเมืองมันอ๋องได้รวบรวมผู้คนประกาศอิสระภาพของไทยเรา (ไทลาว-คนเรา)ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในยุคนี้นี่เอง โดยเริ่มบุกเข้าไปมณฑลเสฉวนซึ่งเวลานั้นพระเจ้าเล่าเศียรราชบุตรของพระเจ้าเล่าปี่ผู้ล่วงลับนั่งเมืองอยู่โดยเบ้งเฮ็กถือว่าแต่ก่อนกาลผ่านมาละแวกเสฉวนก็เคยเป็นของไทเรามาก่อนในยุคของขุนไลลาว
กองทัพเบ้งเฮ็กใช้ทหารมากถึงหลักแสนบุกทะลวงเข้าไปถึงเสฉวนพระเจ้าเล่าเสี้ยนมีความวิตกกังวลมากขงเบ้งเวลานั้นเป็นที่มหาอุปราชว่าราชการเบ็ดเสร็จอยู่ก็กราบบังคมทูลอาสาสู้ศึกนำกำลังรี้พล 500,000 กว่ากะจะทำสงครามเบ็ดเสร็จ total warfare ปราบกบฏเบ้งเฮ็ก
แต่ทีนี้ว่าโดยอุปนิสัยกมลสันดานของท่านมหาอุปราชระดับปรมาจารย์อย่างขงเบ้งนั้นเป็นผู้นิยมนักในเรื่องการใช้อุบายกลศึกบริหารจัดการความรู้สึกคนยุยงให้คนแตกกันลักษณะการทำสงครามคราวนี้จึงออกไปในทางสงครามจิตวิทยาหรือสงครามรบพิเศษเสียมากกว่า
เช่นว่าเมื่อจับตัวใครได้ ขงเบ้งก็จะแก้มัดแถมเชื้อเชิญให้กินข้าวดีดีหรูหรูแล้วจึงเริ่มเป่าหู และปั่นหัวหลอกว่า ที่จับกุมได้เพราะเพื่อนกันมาส่งข่าว จะให้นิรโทษกรรมเสียหากว่าเอาผู้บงการมาส่งให้ได้ ฝ่ายผู้หลงกลก็ชื่นชมว่าท่านแม่ทัพมหาอุปราชช่างเป็นคนดีแท้ก็เลยผ่านไปหาจับเหล่ามาสเตอร์มายด์เบื้องหลังมาส่ง-ใช้โจรไปจับโจรอีกทีสนุกดีจริงๆ
อย่างไรก็ดีปรมาจารย์ขงเบ้งนี้ท่านเป็นคนทำการบ้าน แกคอยหมั่นเฝ้าสังเกตศึกษานิสัยใจคอคนมันอ๋องเป็นระยะระยะโดยเหยียดหยามว่าเป็นคนป่า ที่มีจิตใจมีน้ำใจแข็งกระด้างไม่เจ็บไม่อาย แพ้ไปกระเดี๋ยวเดียวก็กลับมาท้ารบใหม่มีความมานะสูง เวลาขงเบ้งเดินเกมศึก จับทหารไทมาได้ก็ปอจอวอ (คือปฏิบัติการทางจิตวิทยา) กล่อมเสียว่า… “พวกท่านทั้งปวงก็เป็นแต่ไพร่พลเมือง เบ้งเฮ็กเค้าเกณฑ์มาก็ขัดเขาไม่ได้สินะ_เฮ้อ_ลูกเมียพี่น้องอยู่ข้างหลังก็คอยหาไม่เห็นกลับมาก็คงร้องไห้เป็นทุกข์…นี่มันฤดูหนาวเดือนยี่น้ำ นี่น้ำค้างเย็นเยียบตกไปทั่วทั้งสี่ทิศ ที่จากบ้านเมืองมาทำศึกนี่ก็ไม่รู้ทำให้ใคร?
พ่อแก่แม่เฒ่าลูกน้อยกลอยใจยื่นคอคอยอยู่แนวหลังไม่มีใครส่งข่าว_ไร่นาก็รกร้างไม่มีใครทำ พวกเพื่อนบ้านที่รอดจากเกณฑ์ เวลานี้คงตั้งเตาอุ่นเหล้ากินเล่นอยู่เป็นสุขแล้วม้าง_พวกตัวมาทำศึกกันอยู่นี้ตายไปกลางดินก็เป็นผีไร้ญาติ แต่งตัวออกรบครั้งใดก็ดู ดูแล้วไม่ได้น่าฮึกเหิมใจเลย น่าสังเวช น่าสังเวชนัก
เอาเถอะเราจะปล่อยเอาบุญ“นี่! วิธีการปอจอวอของขงเบ้ง!! ทำเอาคนจิตอ่อนใจบางเตลิดเปิดเปิง !!!
ดังได้เรียนท่านแล้วในตอนก่อนว่าศึกขงเบ้งปะทะเบ้งเฮ็กนี้สองฝ่ายต่างรบกันเป็นสามารถ สู้กันมากถึงเจ็ดครั้งแต่ที่น่าสนใจคือขงเบ้งจับเบ้งเฮ็กได้ครั้งใดก็ใช้เทคนิคเรียกกล่อมปล่อยตัวกลับไปทุกทีแม้บางคราวแกลองใช้อุบายบ้างโดยการนำของกำนัลให้น้องชายชื่อเบ้งฮิวคุมไปถวายขงเบ้งเป็นจำพวกเครื่องราชูปโภคทองคำบ้าง งาช้างบ้าง พงศาวดารว่าหน้าตาทีมจิ้มก้องนี้ “ตัวโต/หน้าดำตาเขียว/หน้าขาวตาแดง/หนวดแดงต่างๆ”
โดยกะว่าถึงตัวขงเบ้งแล้วจะได้ก่อการจลาจลโดยอาศัยเครื่องบรรณาการบังหน้า แต่ระดับมหาปรมาจารย์ขงเบ้งย่อมไหวตัวทัน จัดเหล้ายามาเลี้ยงวางยาเบื่อเสียก่อน ทีมงานก็มอมพระรามเมากลิ้งเสียแผนไปสิ้นทุกอย่าง
ท่านอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์เขียนเรื่องนี้โดยสันนิษฐานชัดแจ้งว่าเบ้งเฮ็กคือบรรพชนไทยฝ่ายล้านช้างล้านนาจนมาสุโขทัยด้วยลักษณะการต่างๆในมุมที่พงศาวดารจีนได้บันทึกไว้นั้นแม้เวลาผ่านไปก็ไม่ลบเลือนลักษณะปัจจุบันของชนชาติไท(ย)หมู่นั้นนั้นได้เลย
ในการศึกที่สมรภูมิแม่น้ำเซียวหยี (ซึ่งอาจจะคือแม่น้ำเชียงยี่?) ขงเบ้งนั้นขี่เกวียนออกศึก ในขณะที่เบ้งเฮ็กแต่งตัวเต็มยศไทยมารบ ใส่หมวกแดงใส่เสื้อเกราะทำจากหนังแรด มือซ้ายถือเขนมือขวาถือดาบขี่กระบือแดง มีไพร่พลห้อมล้อมเป็นชุลมุน
ภาพนี้ก็ให้นึกถึงว่ายุคกรุงศรีอยุธยาก็มีนายทองเหม็นขี่ควายออกราชการสนามชายแดนเช่นนี้เช่นกัน คราวนั้นขงเบ้งหวุดหวิดจะเสียทีเพราะเบ้งเฮ็กแกรำเขนไสกระบือเข้าที่รบโดยปราศจากกระบวนท่า แม่ทัพนายกองจีนฝึกตำราพิชัยสงครามมาอย่างเคร่งครัด เป็นงง เจอกลบทมวยวัดเข้าไปถึงกับเปิดตำราพลิกเกมส์กันไม่ทัน
อีทีนี้ว่าหากจะกล่าวถึงอุปนิสัยใจคอของเบ้งเฮ็กนั้นแม้ภายหลังในสมรภูมินี้จะถูกจับได้(อีกแล้ว)ขงเบ้งชักรำคาญใจคิดจะฆ่าทิ้งเสียเอกสารก็ระบุว่าเบ้งเฮ็กนั้นมิได้ครั่นคร้ามสีหน้าชื่นเป็นปกติอยู่ ขงเบ้งจึงนึกนิยมในใจว่าชนเผ่านี้มีน้ำใจเหี้ยมหาญนัก ว่าแล้วก็เอาข้าวมาเลี้ยงเอาเหล้ามาให้กินแล้วปล่อยตัวไปอีก
เสร็จศึกครานี้เบ้งเฮ็กหมดท่าสูญเสียสรรพกำลังไปเยอะจำจะต้อง หลบไปเลียแผล พาตัวเองไปพึ่งคนไทยเหล่าอื่น ซึ่งงานนี้ได้ไปขอพึ่ง โตสู้ ซึ่งพงศาวดารเขียนว่าโตสู้ไต้อ๋องเป็นเจ้าเมืองอิมตองสันบนกำแพงเขาสูง
แหม_ฟังดูชื่ออย่างกับอยู่สันกำแพง55
แม้ว่าจะหลบเลียแผลอยู่บนเขาสูงกันดารอย่างไร ขงเบ้งก็ยังตามมารังควานจนได้เบ้งเฮ็กนึกเสียใจที่ชักศึกเข้าบ้านเมืองโตสู้ได้แต่รำพึงขออภัยกับไต้อ๋องซึ่งท่านก็สวนกลับมาว่าเราทั้งหมดนี้พวกเดียวกัน ไหนๆก็ไหนไหนไม่งั้นต้องเป็นขี้ข้าเค้าไปทั้งชาติ_ต้องร่วมกันสู้จนสุดฝีมือ ประโยคนี้บอกกล่าวถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทยยามเมื่อภัยมาซึ่งเป็นอย่างนี้มาจนกระทั่งบัดนี้
จากการรบที่สันกำแพง_เอ้ย_อิมตองสันนี้เบ้งเฮ็กก็แพ้เขาอีกตามระเบียบและก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาโดยละม่อม
ไต้อ๋องโตสู้ ( ซึ่งนาทีนี้นึกขึ้นมาได้ถึงคำว่า พญาตองซู) ย้ายไปตั้งที่มั่นอยู่ที่เมืองสำกั๋งหน้าด่านของอาณาจักร คราวนี้ใช้ลูกหน้าไม้ชุบยางน่องยิงจากเชิงเทินลงมาใส่กองทัพจีนกันไว้ไม่ให้เข้าเมืองได้ ขงเบ้งประหลาดใจนักหนากับยาพิษชนิดนี้ซึ่งที่จริงแล้วนายพรานของไทยใช้มาเป็นประจำทั่วทุกภูมิภาคในการออกล่าสัตว์ต้องเอาลูกศรหน้าไม้ชุบไปในยางไม้ที่เป็นพิษชื่อว่ายางน่องเสียก่อนยิงแล้วนัดเดียวจะได้เสร็จมะก้องด้อง บ่ต้องไปออกแรงซ้ำ !
ขงเบ้งคิดใช้อุบายติดสินบนไส้ศึกเมืองสำกั๋งให้เปิดประตูเมืองก็ไม่สำเร็จเพราะความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเผ่าไทยนั้นไม่ขายกันให้กับต่างชาติ แกนั่งคิดนอนคิดอยู่หลายประการจึงใช้กลศึกอริสมันต์ ที่ว่าให้พี่น้องพกขวดแก้วใส่น้ำมันกันมาคนละขวดจะได้เผากรุงเทพเป็นทะเลเพลิง
_เอ้ย_
ให้ทหารขนดินมาคนละก้อน พอเข้าไปชิดติดกำแพงเมืองได้แล้วให้ถมออกมาเป็นทางลาดแทนบันไดใช้ไต่เข้าเมืองจนได้ ในวันนั้นเองพญาตองซูท่านก็สละชีพในสนามรบ
ฝ่ายจีนสามารถบุกทะลุเข้าถึงแงขิน เบ้งเฮ็กทราบข่าวว่าเพื่อนตายสหายศึกผู้มีน้ำใจปกป้องแผ่นดินถึงแก่ความตายเสียแล้วก็ให้หมดกำลังใจจะสู้เกิดอ่อนเปลี้ยเสียขาชะตาตก นางจงหยกศรีภริยาเห็นเป็นไม่เข้าท่าจึงอาสาขับม้าไปสู้ศึกแทน (ต่อตอน 3)