ลุ้นเงินสะพัด Easy E-Receipt 2.0

09 ม.ค. 2568 | 11:46 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2568 | 11:51 น.

ลุ้นเงินสะพัด Easy E-Receipt 2.0 : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4060

ถูกจับตามองเป็นพิเศษ สำหรับมาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” ที่จะเริ่มระหว่างวันที่ 16 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่

ด้วยเป้าประสงค์ของรัฐบาล ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดให้ผู้บริโภคจับจ่าย เพราะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจริงในระบบเศรษฐกิจ

 

โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า หรือ ค่าบริการ จากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือผู้ประกอบการทั่วไป โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดคือ ให้หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในประเทศ ได้สูงสุด 5 หมื่นบาท

แบ่งเป็น การหักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาท สำหรับค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) แบบเต็มรูปเป็นหลักฐาน หรือ ผู้ขายสินค้า หรือ ผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นหลักฐาน

นอกจากนี้ ยังหักลดหย่อนได้เพิ่มอีกตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 2 หมื่นบาท สำหรับค่าซื้อสินค้า หรือ ค่าบริการ สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน, วิสาหกิจชุมชน ที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่ต้องมี e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt เป็นหลักฐาน

แม้กรมสรรพากรจะประเมินว่ามาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” นี้จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 7 หมื่นล้านบาท แต่หลายเสียงจากกูรูในแวดวงต่างๆ ออกมาประเมินว่า โอกาสน้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วงเทศกาลปีใหม่ กลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ Easy E-Receipt 2.0 ซึ่งเป็นกลุ่มคนมีสตางค์มากหน่อย ต่างใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยวในต่างประเทศ ที่ปีนี้คนไทยแห่ไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นทั้งใน ญี่ปุ่น จีน รวมถึงยุโรป

ขณะที่คนระดับกลางที่เดิมลุ้นรอมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ออกมาในช่วงปลายปี เพราะต้องจับจ่ายซื้อสินค้าเป็นของขวัญของฝากผู้คนในช่วงฉลองปีใหม่ หรือซื้อของขวัญให้กับตัวเอง ต่างก็ต้องผิดหวัง เมื่อมาตรการมาช้ากว่าที่คาด จึงจำใจต้องซื้อสินค้าแบบไม่ได้ลุ้นส่วนลดหย่อนภาษี

แทนที่คนซื้อจะได้ของขวัญชิ้นโปรด ใจฟู พร้อมส่วนลดหย่อนภาษี ส่วนห้างร้านจะได้ยอดขาย รัฐบาลจะได้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ต่างก็ “ชวด” กันถ้วนหน้า เพราะเม็ดเงินในช่วงเทศกาลปีใหม่ก็ไม่ได้สะพัดดั่งใจหวัง

แล้วเมื่อคิกออฟ Easy E-Receipt 2.0 เม็ดเงินจะสะพัดหรือไม่ กูรู ยังบอกเองเลยว่า ยาก!!!!

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,060 วันที่ 9 - 11 มกราคม พ.ศ. 2568