การแพทย์ยุคใหม่ Precision Medicine (4)

07 ธ.ค. 2567 | 07:00 น.

การแพทย์ยุคใหม่ Precision Medicine (4) คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

KEY

POINTS

  • การใช้ AI ในการวิจัยทางการแพทย์ไม่เพียงแค่ช่วยในการวินิจฉัยโรค แต่ยังเป็นตัวเร่งสำคัญในการค้นพบยารักษาใหม่ ๆ และพัฒนาวิธีการรักษาที่แม่นยำสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉพาะในสาขามะเร็งและโรคทางพันธุกรรม
  • ไต้หวันนำ AI และเทคโนโลยีทันสมัยในการพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ เช่น การสแกนทูมเมอร์มาร์คเกอร์และการพัฒนายาใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้การรักษามีความรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ครั้งที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงการที่ทางการไต้หวันได้ส่งเสริมให้วงการแพทย์ยุคใหม่ หรือ Precision Medicine นำเอานวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในวงการแพทย์ ซึ่งมีมากมายหลายประเภท เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ร่วมกับ Precision Medicine โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ ในการวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิธีการรักษาโรคใหม่ ๆ การค้นพบทางชีววิทยา และการเข้าใจกลไกต่าง ๆ ของโรคที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในบริบทของ Precision Medicine ซึ่ง AI สามารถช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ ที่มีปริมาณมากและซับซ้อน เช่น ข้อมูลทางพันธุกรรม ข้อมูลทางชีวภาพ ข้อมูลทางภาพถ่ายทางการแพทย์ หรือข้อมูลจากอุปกรณ์สวมใส่ (wearables) เพื่อพัฒนาการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละบุคคล ในไต้หวัน AI ไม่เพียงแต่ถูกใช้ในการวินิจฉัยและการรักษาเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาใช้ในการวิจัยทางการแพทย์ เพื่อสร้างความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคนิคการแพทย์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะในสาขาต่าง ๆ เช่น มะเร็ง วิทยาศาสตร์ทางพันธุกรรม และโรคทางระบบประสาท เป็นต้น

ที่น่าสนใจมากคือในประเทศไต้หวัน เขายังมีการใช้ AI ในการวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำมาซึ่งการพัฒนาไปในหลายด้าน และมีบทบาทสำคัญในการค้นคว้า และพัฒนาความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็งและวิธีการรักษา เพราะเจ้ามะเร็งร้าย เป็นโรคที่ทั่วโลกทุกแห่งหน มักจะติดอันดับต้น ๆ ของโรคที่นำความตายมาสู่มนุษย์ ตัวอย่างการใช้ในงานด้านการวิจัยการหาวิธีในการคิดค้นสร้างเครื่องมือในการตรวจโรคมะเร็ง ที่ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันนี้เขาสามารถใช้ AI มาสแกนหาทูมเมอร์มาร์คเกอร์ของมะเร็ง (Cancer Tumor marker) ที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ถึงประมาณไมโครนาโนแกรม เขาก็ยังสามารถมองด้วยเครื่องมือดังกล่าวได้ อีกทั้งยังนำมาใช้กับการพัฒนายารักษาชนิดใหม่ที่เป็นที่ยอมรับของโลกทางการแพทย์ได้ ซึ่งการใช้ AI ในการวิจัยยา (drug discovery) เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชัน ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในไต้หวัน โดย AI สามารถใช้ในการคัดกรองและประเมินสารเคมี ที่มีศักยภาพในการรักษาโรค เช่น การใช้โมเดล AI เพื่อคัดเลือกสารประกอบ ที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง หรือการติดเชื้อจากเชื้อไวรัสชนิดใหม่ ๆ เช่น COVID-19 ซึ่ง AI สามารถจำลองการทำงานของยาในระดับโมเลกุลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้นด้วย

ในไต้หวันมีการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อจำลองการทำงานของยา ในแบบเสมือนจริง ซึ่งก็มีการนำมาเผยแพร่แบบเปิดเผยโดยไม่มีการปิดบัง แม้แต่ในเวทีสัมมนาที่ผมได้ไปร่วมมา ผมก็เห็นมีนักวิจัยท่านหนึ่ง ได้มีการบรรยายเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งต้องเชื่อได้เลยว่า ในอนาคตเขาต้องช่วยให้การค้นพบยาใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้รวดเร็วและมีความแม่นยำในการวินิจฉัยผลลัพธ์ และจากการทดลองดังกล่าว ทำให้กระบวนการพัฒนายารักษาโรคดังกล่าวได้เร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการรักษาและลดความเสี่ยงได้ด้วยครับ

นอกจากใช้ในการตรวจหาทูมเมอร์มาร์คเกอร์มะเร็ง(Cancer Tumor marker) แล้ว หนึ่งในความก้าวหน้าที่สำคัญในการใช้ AI ในการวิจัยทางการแพทย์ คือการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม โดย AI ช่วยในการระบุความเชื่อมโยง ระหว่างลักษณะทางพันธุกรรมของบุคคลกับโรคที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับยีน เช่น โรคทางระบบประสาท โรคมะเร็ง และโรคทางพันธุกรรมอื่น ๆ ซึ่งในไต้หวันเอง ก็โด่งดังเรื่องของ (DNA-RNA Next-Generation sequencing : NGS) ซึ่งหมายถึงการใช้วิธีการจัดเรียง DNA-RNA ให้แก่บุตรหลานรุ่นต่อจากเรา ซึ่งก็กำลังเป็นที่นิยมในไต้หวันมาก แต่ในประเทศไทยเรายังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าใดนัก อาจจะเป็นเพราะปัญหาทางด้านจริยธรรมในมนุษย์ก็ว่าได้ครับ แม้ว่ากรรมวิธีดังกล่าว สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากโรคที่มากับกรรมพันธุ์ แต่ทางไต้หวันหรือประเทศทางฝั่งตะวันตกหลายประเทศเขายอมรับได้ครับ

นอกจากนี้ การใช้ AI ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ เช่น การวิเคราะห์ภาพจากการสแกน MRI CT-Scan และภาพถ่าย X-ray เป็นอีกหนึ่งด้านที่สำคัญในการวินิจฉัยทางการแพทย์ แน่นอนว่า AI สามารถช่วยในการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ ที่มีความซับซ้อนได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยสามารถระบุจุดที่อาจเป็นสัญญาณของโรค ที่ยังไม่ถูกตรวจพบโดยแพทย์ หรือวิธีการตรวจหาโรคแบบดั้งเดิม ซึ่งในไต้หวัน ได้มีการใช้ AI ในการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือ ที่ช่วยในการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์เพื่อค้นพบและวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะในสาขามะเร็งวิทยา โดยใช้เซมิคอนดักเตอร์(Semiconductor) มาผสมผสานกับเทคโนโลยีของ AI ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจจับทูมเมอร์มาร์คเกอร์ของมะเร็ง(Cancer Tumor marker) ในระยะเริ่มต้นได้ดีขึ้น และลดโอกาสในการเกิดข้อผิดพลาดจากการวินิจฉัยโรคได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังลดภาระให้แก่แพทย์ได้เยอะมากเลยครับ

จะเห็นว่าการใช้ AI ในการวิจัยทางการแพทย์หรือใช้ในทางการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision medicine)ในไต้หวัน มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเกินที่จะคาดคิด อีกทั้งในปัจจุบันนี้ เขาได้ร่วมมือกับนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นประเทศที่มีนักวิจัยระดับแถวหน้าของโลก จนได้รับรางวัลระดับโนเบิลมาแล้ว ดังนั้นการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision medicine)ของเขา จึงมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านของการค้นพบยารักษาใหม่ ๆ การศึกษาทางพันธุกรรม และการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ที่ซับซ้อนนั่นเองครับ แม้ในปัจจุบันนี้ มีประเทศในแถบเอเชียอีกหลายประเทศ ก็ได้นำเอาเทคโนโลยีที่เป็น Innovations เข้ามาใช้กับAI กันบ้างแล้วก็ตาม ผมก็ยังเชื่อว่า ถ้านักวิจัยของเขาไม่หยุดนิ่งต่อการคิดค้น เราคงยากที่จะตามเขาทันนะครับ และผมก็เชื่อว่าในอีกไม่นานเกินรอ เทคโนโลยีเหล่านี้ ก็จะต้องมีการขยายตัวเข้ามาสู่ประเทศไทยเรา และจะทำให้เราได้เห็นคนเดินถนนที่มีอายุเกิน 120 ปีอย่างแน่นอนครับ