ITD ทำไม...หมดเงิน!

20 มี.ค. 2567 | 07:00 น.
12.1 k

ITD ทำไม...หมดเงิน! : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

*** แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1400 จุด หลังจากที่ผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยกว่า 70% ต่างก็ประสบปัญหาผลกำไรลดลง ขณะที่หลายบริษัทถึงกับขาดทุนด้วยซ้ำไป 

แต่ในทางกลับกัน นักวิเคราะห์จากหลายสำนักก็ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยรวมถึงดัชนีหุ้นไทย ในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้กลับขึ้นไปทดสอบระดับ 1500 จุด โดยที่ค่าพีอีเฉลี่ยจะลดลงจาก 17.9 เท่า เหลือ 16.6 เท่านั้น 
ส่วนหุ้นที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ระบุว่ามีโอกาสที่จะฟื้นตัว คือ กลุ่มค้าปลีก เช่น CPALL, BJC, HMPRO และ MC หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว เช่น AOT MINT ERW AAV และหุ้นกลุ่มธนาคารอย่าง TTB KKP

โดยในส่วนของธุรกิจค้าปลีกจะได้อานิสงส์จากงบประมาณการคลัง ที่น่าจะอนุมัติออกมาในช่วงปลายเดือนเมษายน ส่วนกลุ่มท่องเที่ยวก็เริ่มเห็นผลจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่มเดินทางเข้ามาตั้งแต่ต้นปี 

แต่ในส่วนของหุ้นธนาคารซึ่งมองเพียงแค่หุ้นธนาคารขนาดกลาง ก็มีแนวโน้มมากขึ้นที่ กนง. อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในช่วงปลายปีซึ่งอาจส่งผลกระทบกับธนาคารใหญ่อยู่บ้างนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เจ๊เมาธ์มองว่า ในภาวะที่สงครามในหลายภูมิภาคทั่วโลกยังมองไม่เห็นจุดจบ รวมไปถึงการที่ยูเครนเปลี่ยนยุทธวิธีการตอบโต้รัสเซีย ด้วยการมุ่งโจมตีแหล่งพลังงาน ทั้งโรงกลั่นน้ำมัน และ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซีย จะทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจจะกลับขึ้นไปทำราคาสูงสุดได้อีกครั้งในช่วงหลายเดือนต่อจากนี้ ซึ่งนั่นก็จะทำให้หุ้นที่เกี่ยวของโดยตรงอย่าง PTTEP รวมไปถึงหุ้นโรงกลั่น เช่น TOP PTTGC IRPC และ BCP มีโอกาสที่ราคาหุ้นจะกลับมาวิ่งแรงได้อีกครั้งได้เช่นกัน

*** เห็นมีแต่คนพูดถึงการที่ ITD กำลังมีปัญหาเรื่องสถาพคล่อง  จนไม่มีเงินจ่ายหนี้ดีตามเวลาทั้งหนี้หุ้นกู้ หนี้เงินกู้ รวมไปถึงค่าจ้างแรงงาน แต่กลับไม่ได้พูดถึงสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ ITD ขาดสภาพคล่องอย่างที่เห็น ซึ่งวันนี้เจ๊เมาธ์จะขอเล่าคร่าวๆ ให้ฟัง

โดยปัญหาหนักที่สุดก็ไม่น่าจะหลุดไปจากเรื่องของการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่ประเทศเมียนมา ซึ่งทำให้ทาง ITD ต้องจมเงินลงทุนไปเกือบ 8 พันล้านบาท หลังจากคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ของเมียนมา (DSEZ MC) แจ้งยกเลิกสัญญาสัมปทานไปตั้งแต่ปี 2563 

จนยังไม่รู้ว่าจะถอนทุนคืนหรือได้คืนกลับมาได้...รวมไปถึงอาจจะขั้นตีเป็น “หนี้สูญ” เลยทีเดียว 

ขณะที่ในปี 2560 หลังจากที่ได้งานโครงการรถไฟฟ้าในบังกลาเทศ ซึ่งลงนามร่วมกับ First Dhaka Elevated Expressway Co., Ltd. ก็เป็นอีกโครงการที่ขาดทุน หลังเงินสกุลตากาของบังกลาเทศ อ่อนค่าลง เทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินกู้สกุลดอลลาร์ของ ITD กับบริษัทร่วมดังกล่าวมีมูลค่าสูงขึ้น จนท่วมสกุลเงินท้องถิ่นเป็นเหตุให้โครงการรถไฟฟ้ามูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท กลายเป็นบาดแผลเรื้อรังของ ITD มาถึงวันนี้  

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ยังไม่รวมไปถึงผลการดำเนินงานในช่วงปี 2563-2566 ซึ่งขาดทุนสะสมรวมกันราว 6 พันล้านบาท ขณะที่จนถึงเดือน ก.ย. 2566 พบว่า ITD มีเงินสดในมือ 4,600 ล้านบาท บวกกับวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกอีก 8,200 ล้านบาท และ เงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท รวมแล้วราว 17,800 ล้านบาท 

แต่ว่ามีหนี้ที่ต้องจ่ายภายในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้า รออยู่ 26,400 ล้านบาท ซึ่งหนี้จำนวนนี้จะถูกนับรวมหุ้นกู้ 5 ชุดที่ถูกกำหนดไถ่ถอนออกไปแล้ว แต่ภาระดอกเบี้ยจ่ายที่มาจากมูลหนี้รวม 107,600 ล้านบาท ที่ทาง ITD จะต้องแบกรับในแต่ละปี ก็ถือว่าหนักมากจนเป็นเหตุให้หมุนเงินไม่ทัน และที่เจ๊เมาธ์ว่ามาทั้งหมดนี้ ก็คือ สาเหตุของการขาดสภาพคล่องในปัจจุบันของ ITD นั่นเองค่ะ

*** แม้ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ บมจ.ณุศาศิริ หรือ NUSA แต่ท้ายที่สุดกลุ่มของ “ประเดช กิตติอิสรานนท์” จะไม่สามารถตั้งกรรมการใหม่ รวมทั้งปลด “วิษณุ เทพเจริญ” ออกจากตำแหน่งได้จากการใช้บริการ “มาตรา 100 ของ พ.ร.บ.มหาชน” เรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติผู้ถือหุ้น เปลี่ยนมติการขายทรัพย์สิน 6 รายการ มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท 

แต่อย่างน้อยก็มีความชัดเจนว่า สินทรัพย์ที่อยู่ในรายการที่ว่า โดยเฉพาะหุ้น บริษัท วินด์ เอ็นเนอร์นยี่ โฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 7.12% ของทุนจดทะเบียน มูลค่าประมาณ 3.3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นของที่มาพร้อมกับกลุ่มของ “ประเดช” ยังไม่ถูกขายและไม่สามารถขายออกไปได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของ NUSA ยังไม่ได้มีเพียงเรื่องของการ “แย่งขายของ” ก่อนหมดวาระ เพราะต่อมาปัญหาของเงินสดที่เหลือในบัญชีเพียง 39 ล้านบาท แต่มีหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี จำนวน 1,185 ล้านบาท ก็โผล่ขึ้นมาอีก

แม้ว่าล่าสุด NUSA ก็ได้ยืนยันว่ามี Back log ภาคอสังหาริมทรัพย์ และ อสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย รวมมูลค่ากว่า 5,105 ล้านบาท ในขณะที่ภาระหนี้ที่บริษัทมีในระยะสั้นจำนวน 2,352 ล้านบาท ซึ่งน่าจะทำให้ NUSA ผ่านวิกฤตินี้ไปได้

อย่างไรก็ตาม เจ๊เมาธ์ยังมองว่า วิบากกรรมของ NUSA ยังจะไม่หมดลงเพียงแค่นี้ ไม่แน่ว่าอีกไม่นานอาจจะมีปัญหาอื่นโผล่ตามออกมา ...เอาไว้รอดูในรอบของการประชุม AGM (ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี : Annual General Meeting) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนว่าจะมีอะไรตามมาได้บ้าง

"สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร" ถ้ามีอะไรอัพเดทเจ๊เมาธ์ก็ไม่พลาดที่จะเอามาเล่าให้ฟังแน่นอนค่ะ