ITD โชคดี...ในความโชคร้าย?

15 มี.ค. 2567 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2567 | 11:25 น.
15.7 k

ITD โชคดี...ในความโชคร้าย? : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

*** ไม่รู้ว่าการที่ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ที่มีเจ้าสัว เปรมชัย กรรณสูตร เป็นเจ้าของ และถูกขึ้นเครื่องหมาย “SP ห้ามซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราว” เพราะบริษัทแจ้งผลการดำเนินงานงวดปี 2566 ไม่ได้ตามเวลาที่กำหนด จะเป็นเรื่องของการ “โชคดี-ฟลุ๊ค” หรือไม่

เนื่องจากล่าสุด ITD อยู่ในภาวะขาดสภาพคล่องจนลุกลามเป็นปัญหาลูกโซ่ไปยังผู้รับเหมารายย่อย เพราะไม่สามารถจ่ายค่าแรงพนักงาน และค่าอุปกรณ์ 

 

ขณะที่พนักงานบางคนต้องลาออก เพราะทนกับสภาพการทำงานที่ไม่มีค่าจ้างไม่ไหว จนเกิดการประท้วงขึ้นมาในบางไซต์งานของ ITD เพราะหากเกิด “ขาดสภาพคล่อง” ในช่วงเวลาของการซื้อขายหุ้นได้ตามปกติ เจ๊เมาธ์ ยังนึกภาพไม่ออกเลยว่า ราคาหุ้นของ ITD จะร่วงลงไปหนักแค่ไหน 

ดังนั้น การถูกขึ้นเครื่องหมาย SP และถูกห้ามซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราวในรอบนี้ จึงเปรียบได้กับ “ความโชคดี...ในความโชคร้าย” เหมือนกับว่า ITD มีระฆังเข้ามาช่วยพยุง ไม่ให้ราคาหุ้นของบริษัท ITD มีอันที่จะต้องร่วงลงหนักจนควบคุมไม่ได้นั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ ITD เป็นหนึ่งในบริษัทรับเหมาใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ทำให้การขาดสภาพคล่องจนไม่มีเงินจ่ายค่าจ้าง กลายเป็นประเด็นร้อนที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่ววงการรับเหมา เพราะถ้าหาก ITD ไม่สามารถควบคุม หรือ ปล่อยให้จนลุกลามไปจนถึงขั้นที่ทำให้บริษัทหยุดกิจการ ขอฟื้นฟูกิจการ หรือ หนักที่สุดอาจเลยไปจนถึงขั้นของการยื่นขอล้มละลาย 

ปัญหาเหล่านี้ อาจลุกลามไปยังธุรกิจในภาคส่วนอื่น ทั้งที่เป็นพรรคพวกในธุรกิจรับเหมา เจ้าของงานที่ ITD ไปรับงานมา รวมไปถึงสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์อย่างน้อย 3 ราย รายหนึ่ง ในฐานะผู้แทนหุ้นกู้ ซึ่งรายนี้น่าจะเจ็บหนักที่สุด รายต่อมาคือ เจ้าหนี้สินเชื่อเงินกู้ รายต่อมา คือ เจ้าหนี้ลิสซิ่งเครื่องจักร อุปกรณ์ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงแรงงานจำนวนมากที่อาศัย ITD เป็นแหล่งรายได้เลี้ยงครอบครัวจนต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย

แต่อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด...ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ก็คือ การเตรียมตัวเพื่อรองรับปัญหา ส่วนจะเป็นสถาบันการเงินช่วย หรือ จะเป็นภาครัฐช่วย อันนี้ก็แล้วแต่หลักเกณฑ์และสัดส่วนของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา ขอแค่อย่าให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องในทางตรงต้องเจ็บหนักเกินไป หรือ ถ้าไม่เกิดขึ้นได้ก็จะดีที่สุดแล้วค่ะ

*** ว่ากันตามตรง หลายครั้งที่เจ๊เมาธ์พยายามที่จะลืมว่า MGI ของ "ณวัฒน์ อิสรไกรศีล" และ JKN ของ “จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ไม่ใช่บริษัทฝาแฝด ...ทั้งที่ในความเป็นจริงทั้งสองบริษัทมีหลายอย่างที่คล้ายกัน จนเหมือนเป็นการตั้งใจถอดแบบกันมา 

เริ่มตั้งแต่การมีธุรกิจนางงามคล้ายกัน เป็นนักการตลาดระดับเทพเหมือนกัน ...เหมือนกันยันบุคลลิกภาพ และวิธีการการสื่อสารต่อสาธารณะโน้นเลยทีเดียว แต่ไม่ว่าทั้งสองบริษัทจะเหมือนกันแค่ไหน แต่ที่ผ่านมาเจ๊เมาธ์ก็คิดว่าทั้ง MGI และ JKN ยังมีความแตกต่าง เพราะต่างก็มีลักษณะเด่นที่เป็นของตัวเองนั่นเอง 

แต่ล่าสุดการที่ "ณวัฒน์ อิสรไกรศีล" จากค่าย MGI เตรียมฟ้องสำนักข่าวบางสำนัก เตรียมฟ้องโบรกเกอร์บางราย รวมไปถึงเรื่องที่  "ณวัฒน์” ออกมาโวยวายว่า หุ้นของตัวเองถูก Short Sell โดยที่ไม่ได้รู้เรื่องว่า มูลค่าการตลาดของ MGI ยังไม่ถึงเกณฑ์

รวมไปถึงโวยวายว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯใช้วิธีควบคุมอยู่ข้างหลัง แทนการเผชิญหน้า และสอบถามความชัดเจนจากตัวของ "ณวัฒน์” โดยตรงมันก็ทำให้เจ๊เมาธ์ อดที่จะนึกไปถึง “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ขึ้นมาไม่ได้ 

เพราะจุดนี้ทั้งสองคนมีมากเหมือนกัน เพราะไม่ว่าเรื่องใดก็ตามที่เกิดขึ้นกับบริษัทที่ตนเป็นทั้งผู้บริหาร และ ผู้ถือหุ้นใหญ่ ดูเหมือนจะไม่เคยมีปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมักจะถูกมองว่า “คนอื่นทำขึ้นทั้งนั้น” ขณะที่คนเหล่านั้น อาจจะโดนฟ้องเพราะทั้งคู่จะมองว่า กลายเป็นผู้ถูกกระทำไปโน้นเลย 

เหมือนกันซะขนาดนี้...แล้วจะไม่ให้เจ๊เมาธ์มองว่าทั้ง MGI และ JKN เหมือนกันยังกับฝาแฝดที่คลานตามกันมาได้อย่างไรกันหละค่ะ

*** ล่าสุด “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” หลังประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งใน SABUY พร้อมทั้งแต่งตั้ง “วิรัช มรกตกาล” นั่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยในส่วนของ “ชูเกียรติ” จะเหลือก็เพียงการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ นัยว่าเพื่อเป็นการรับผิดชอบที่สร้างรายได้ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ รวมถึงเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อราคาหุ้นของ SABUY ปรับตังลงมา 

มองทางหนึ่ง เป็นการแสดงความรับผิดชอบของ “ชูเกียรติ” นั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี 

แต่ถ้าหากมองในอีกแง่ก็อาจจะทำให้คิดได้ว่า เป็นการหนีปัญหา...หรือไม่ก็เป็นได้นะคะ 

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อลาออกไปแล้ว ก็ขอให้คนที่เข้ามาทำงานให้เต็มที่ เพราะผู้ถือหุ้นรอคอยผลงาน

*** วกกลับมาถึงเรื่องสองศรีพี่น้อง “สอง ป.” อีกรอบ ความน่าสนใจมันอยู่ที่การลาออกของแต่ละคน ซึ่งถือได้ว่าเป็น Case Study ที่จำเป็นที่จะต้องดูเอาไว้เป็นตัวอย่าง ส่วนหนึ่งก็คือ ป. คนพี่ที่ออกมาพร้อมด้วย COCOCO-MASTER-TEKA รายนี้ออกมาพร้อมกับสัญญาที่ได้ระบุเอาไว้ว่า ภายในเวลา 1 ปี จะไม่ทำธุรกิจเดียวกับบริษัทอดีตต้นสังกัด แต่เมื่อออกมาแล้ว ป.คนพี่ ก็ใช้วิธีให้ ป.คนน้อง เป็นคนออกหน้า เรื่องแบบนี้จะชมว่า “ฉลาด” ก็พูดได้ หรือจะบอกว่า “เลี่ยงบาลี” ก็พูดได้เช่นกัน 

ส่วนถ้าจะถามหาว่าเหมาะหรือไม่ อันนั้นคงไม่ต้องพูดถึงกันอีกแล้ว ขณะที่ ทาง ป.คนน้อง รายนี้ออกมาพร้อมกับ PCC- PRM ก็ได้ข่าวว่า เคยบอกอดีตต้นสังกัดว่า นางไม่ต้องทำงาน 5-10 ปี ก็อยู่ได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไม่ข้ามเดือน ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างที่เห็น 

นี่ยังไม่นับไปถึงที่ปรึกษาฟินๆ รวมไปถึง COCOCO-MASTER-TEKA-PCC-PRM ที่เจ๊เมาธ์ยังไม่ได้พูดถึง
เอาเป็นว่า คนจะไป...อะไรก็คงรั้งไว้ไม่ได้ เพียงแต่การจะทำอะไรทุกอย่างก็ควรเป็นไปในแบบที่เป็นมาตรฐาน เพราะหากเริ่มต้น ก็เริ่มด้วยการเล่นกันเองแบบนี้ ใครจะไปรู้ว่าในอนาคตจะมีใคร หรือ บริษัทไหนจะถูก “ตีหัว” จนต้องเสียหายและเสียใจอีกบ้าง

โบราณว่า “กมฺมุนา วตฺตตีโลโก” แปลว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” อยากฝากไว้ให้คิดแค่นี้เจ้าค่ะ