‘ICE VS EV’ ถึงวันนี้คุณจะเลือกอะไร?

27 ธ.ค. 2566 | 13:56 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2566 | 13:56 น.
740

‘ICE VS EV’ ถึงวันนี้คุณจะเลือกอะไร? : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.ดวงดาว มหากิจศิริ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,952 หน้า 5 วันที่ 28 - 30 ธันวาคม 2566

รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนยกทัพกวาดยอดจองติด 10 อันดับแบรนด์ที่มียอดจองสูงสุดในงาน Thailand International Motor Expo 2023 ครั้งที่ 40 ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 11 ธันวาคม 2566 อาทิ BYD AION MG GWM ChangAn เป็นรองเจ้าตลาดจากฝั่งญี่ปุ่นอย่าง Toyota และ Honda เท่านั้น

ปิดฉากมหกรรมยานยนต์แห่งปีกวาดยอดจองรวมทั้งสิ้นกว่า 54,323 คัน เพิ่มขึ้น 32.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ที่มียอดจองอยู่ที่ 36,679 คัน

 

 

นอกจากนี้ สถิติการจดทะเบียนรถพลังงานไฟฟ้า 11 เดือนแรกของปีนี้ ประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) รวม 67,056 คัน ซึ่งเติบโตมากกว่า 690% หรือ 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 8,483 คัน

ปรากฏการณ์นี้กำลังสะท้อนการเปลี่ยนผ่านของรถยนต์สันดาป (Internal Combustion Engine: ICE) ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) อย่างก้าวกระโดดใช่หรือไม่ และเป้าหมาย 30@30 หรือ การตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน จะเป็นไปได้แค่ไหน คำตอบอยู่ที่วันนี้และวันต่อๆไปผู้บริโภค จะเลือกอะไรระหว่าง ICE vs EV? 

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ยอดจองถล่มทลายของรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีน ซึ่งถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่กำลังครองตลาดนี้ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาจากหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยหลักหนีไม่พ้น สงครามราคาและโปรโมชั่นสุดคุ้มส่งท้ายปี 2566 ก่อนหมดมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก หรือ EV 3.0

 

 

‘ICE VS EV’ ถึงวันนี้คุณจะเลือกอะไร?

 

ในงาน Motor Expo ปลายปีที่ผ่านมา มีแบรนด์น้องใหม่ของค่ายจีนที่เข้าร่วมปรากฏตัวในงานเป็นครั้งแรก ได้แก่ GAC AION ที่เพิ่งเปิดตัวในไทยช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือนจากวันที่เปิดราคานั้น ทางค่ายได้มีการหั่นราคาสู้ศึกรถอีวี ทั้ง รุ่น AION Y Plus 490 Premium และ Elite ราคาถูกลง 100,000 บาท ส่งผลให้ราคาขายเหลือเพียง 999,900 บาท และ 899,900 บาท ตามลำดับ สามารถกวาดยอดจองไปเต็มๆ จำนวน 4,568 คัน

มาต่อกันด้วยแบรนด์รถยนต์จีนน้องใหม่ล่าสุด ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทย อย่าง ฉางอัน เปิดตัว 2 รุ่น Deepal L07 และ S07 ที่สนนราคา 1.329 และ 1.399 ประสบความสำเร็จไม่น้อย คว้ายอดจองสูงสุดอันดับที่ 6 หรือจำนวน 3,549 คัน ภายในระยะเวลาเพียง 12 วัน 

โดยก่อนหน้านี้ แบรนด์รถไฟฟ้าจีนหลายค่าย มีการลดราคาจำหน่ายนำร่องไปแล้ว อาทิ NETA V ปรับลดราคาจำหน่ายลง 50,000 บาท ราคาขายคงเหลือเพียง 490,000 MG4 กับส่วนลด 100,000 บาท และ Tesla กับการปรับลดราคา 3-4.5 แสนบาท และเจ้าใหญ่อย่าง BYD กับโปร Cash back เงินคืน 100,000 บาท สำหรับรถไฟฟ้า BYD ATTO3 เพื่อสู้ศึกในงาน Motor Expo ครั้งที่ 40 นี้

ปัจจัยเร่งที่สองมาจากมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ ที่หนุนให้คนไทยใช้รถไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษทางอากาศ เพราะด้วยเทคโนโลยีการขับเคลื่อนของมอเตอร์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงอย่างนํ้ามัน 100% ทำให้ไม่มีการปล่อยไอเสีย และการเผาไหม้ใดๆ จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ประเทศไทยได้มีมาตรการ EV 3.0 ที่สนับสนุนทั้งฝั่งผู้บริโภคให้ สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น ด้วยเงินอุดหนุน 70,000 - 150,000 บาทต่อคัน มาตรการลดภาษีนำเข้า โดย EV จากจีนมีภาษีนำเข้าที่ 0% การปรับภาษีสรรพสามิตลงจาก 8% เหลือเพียง 2%

รวมถึงการสนับสนุนฝั่งผู้ผลิตให้เกิดการลงทุน เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยแบรนด์จีนที่จะขึ้นไลน์ประกอบรถในประเทศในปี 2567 เพื่อผลิตในอัตรา 1:1 กับจำนวนที่นำเข้ามาขายก่อน หน้านี้ ได้แก่ MG GWM NETA BYD และ GAC AION

และแม้ว่ามาตรการนี้จะสิ้นสุดลงสิ้นปีนี้ ภาครัฐได้ส่งมาตรการ EV 3.5 โดยที่ EV แบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 - 100,000 บาท ส่วนรุ่นที่แบตเตอรี่ตํ่ากว่า 50 kWh ได้รับเงินอุดหนุน 20,000 - 50,000 บาท ส่วนการผลิตชดเชยการนำเข้าจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1:2 ภายในปี 2569  และเพิ่มสัดส่วนเป็น 1:3 หากเริ่ม
ผลิตในปี 2570

แม้ว่ารถ EV ยังคงมีข้อจำกัดอยู่หลากหลาย แต่ราคาที่มาพร้อมกับความคุ้มค่า ก็ส่งให้ตัวเลือกอย่าง EV โดดเด่นเข้าตาผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น

1. ต้นทุนการเดินทางที่ถูกลงกว่า 80% จากช่องว่างราคาพลังงานไฟฟ้าและราคานํ้ามัน

2. สมรรถนะความแรงที่มาพร้อมกับความไม่แพง และฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์สมัยใหม่

3. ความสวยงามด้าน Design กับวัสดุคุณภาพในราคา ประหยัด

4. ช่องว่างราคาเปรียบเทียบ ICE vs EV ในรถ segment เดียวกัน เช่น Honda Accord ที่ราคา 1.529 - 1.799 กับรถไฟฟ้าที่ถูกกว่าอย่าง BYD Seal ที่ราคา 1.325 - 1.599 ล้านบาท เหตุเพราะต้นทุนการผลิตที่ถูกจากจีน ซึ่งเป็นฐานการผลิตโลก จึงได้ประโยชน์จาก Economies of Scale หรือการประหยัดต่อขนาดจากการ ผลิตจำนวนมาก 

เมื่อพิจารณาภาพของผู้เล่นหลักในตลาดรถ EV โลก จะพบว่า แบรนด์หลักๆ ได้เข้ามาทำตลาดในไทยเรียบร้อยแล้ว และในปีหน้านี้ ก็จะมีแบรนด์จีนที่เข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มขึ้นอีก รวมทั้งช่องว่างของตลาดรถ EV ใน segment ที่ยังรอการเติมเต็มอยู่ ไม่ว่าจะเป็นช่วงราคาตํ่ากว่า 0.5 ล้านบาท หรือ EV Premium อาทิ Denza Yangwang Avatr และ AION Hyper ที่ได้ยลโฉมกันไปบ้างแล้วในงาน Motor Expo

ทั้งหมดนี้ ตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้นจากฝั่ง EV จะช่วยเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในตลาดรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกันได้ดียิ่งขึ้น...ถึงวันนี้แล้วคุณละจะเลือก ICE หรือ EV?