ระบบนิเวศการต้านโกง

14 ธ.ค. 2566 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2566 | 18:08 น.

ระบบนิเวศการต้านโกง : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย...ผศ.ดร.ต่อภัสร์ ยมนาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3949

สติ๊กเกอร์รถบรรทุก ถนนพัง สะพานถล่ม หมูเถื่อน ส่วยซื้อตำแหน่ง เสาไฟฟ้ากินรี และอีกมากมายหลายคดีที่เราได้ยินมาตลอดปีนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ และ มีแนวโน้มจะกลับมาหลอกหลอนคนไทยอีกไม่จบไม่สิ้น

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากคดีเหล่านี้มากมายมหาศาล ถ้าอ้างอิงจากตัวเลขทางการของ ป.ป.ช. ที่แถลงไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมาพบว่า ตั้งแต่ปลายปี 2565 จนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ วงเงินงบประมาณรวมของคดีความที่มีการกล่าวหามายังสำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 2,784 เรื่อง นั้นสูงกว่า 13,430,226,237 ล้านบาท 

อย่าลืมว่านี่คือ ตัวเลขทางการที่ไม่นับรวมการทุจริตอีกมากมาย ที่แอบซ่อนอยู่ในความมืดมิดของวงจรอุบาทว์นี่อีกมากมาย ซึ่งตัวเลขนี้ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เคยคำนวณไว้คร่าว ๆ ว่า เพียงแค่สินบนการจัดซื้อจัดจ้าง ก็น่าจะสูงถึง 2-3 แสนล้านบาทต่อปี ถ้าคิดจากเงินทอน หรือ ใต้โต๊ะในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 20 - 30 ของงบลงทุนและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเฉลี่ยในแต่ละปี

ด้วยมูลค่าความเสียหายที่สูงขนาดนี้ คงจะไม่เกินเลยความเป็นจริงไปสำหรับคำกล่าวตลกร้ายของอดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ว่า “...ถ้านักการเมืองหยุดโกงได้สองปี ถนนในประเทศไทยจะปูด้วยทองคำก็ยังได้...” 

แน่นอนว่าในความเป็นจริง คงไม่มีใครคิดจะเอาทองคำมาปูถนนหรอกครับ ถ้าจะให้นำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์จริงในปัจจุบันมากขึ้น น่าจะต้องปรับเป็น “...ถ้านักการเมืองหยุดโกงได้สองปี จะแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาทก็ยังได้...ไม่ต้องกู้ด้วย”

เอาล่ะครับ เขียนถึงความเสียหายและสิ้นหวังไปมากพอแล้ว และผู้อ่านทุกท่านคงรับทราบถึงผลร้ายของการคอร์รัปชันอยู่แล้วด้วย คำถามที่สำคัญกว่าน่าจะเป็น “แล้วเราทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้บ้าง”

ในเรื่องนี้ โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน โดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้นำเสนอการสร้างเสริมธรรมาภิบาลเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคม ด้วยกลไกการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐาน (Open) การมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ (Join) และการปลูกฝังเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learn)

ข้อเสนอกลไกนี้ นำไปสู่การศึกษาและพัฒนานวัตกรรมต้นแบบเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน และเสริมสร้างธรรมาภิบาลต่าง ๆ มากมาย โดยองค์กรในเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย เช่น ACT Ai ฐานข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพจต้องแฉ เพื่อระดมข้อมูลจากประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยคณะทำงานพลเมืองตื่นรู้สู้โกง และ School Governance โรงเรียนโปร่งใส เพื่อเปิดพื้นที่การลงมือสร้างเสริมธรรมาภิบาลในโรงเรียน โดยความร่วมมือของหลายองค์กร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมสังคมเพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันเหล่านี้ ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ ได้แก่ หนึ่ง เป็นนวัตกรรมต้นแบบที่สามารถสร้างผลกระทบได้ไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร สอง เป็นการทำงานแยกส่วน ขาดการเชื่อมโยงกันเป็นระบบ  และ สาม ขาดแผนการสร้างความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม

ทำให้แม้ที่ผ่านมาจะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนแล้ว แต่ยังไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น จึงสำคัญมากที่งานวิจัยต่อไปจะต้องหาคำตอบให้ได้ว่า จะสร้างระบบความเชื่อมโยงให้นวัตกรรมต้นแบบต่าง ๆ เหล่านี้อย่างไร เพื่อสร้างผลกระทบแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในวงกว้างอย่างยั่งยืน อะไร คือ ข้อต่อของแต่ละเครื่องมือ จะพาหน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาสังคมมาร่วมมือกันอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างระบบนิเวศของการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยได้อย่างไร

อีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้อ่านคือ แล้ว “เรา” จะทำอะไรได้บ้าง เพราะกลไกที่เขียนถึงไปข้างต้น ดูเหมือนเป็นกลไกสำหรับองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชันโดยตรง ไม่ใช่ “เรา” ที่หมายถึงประชาชนทั่วไปอย่างผู้เขียนและผู้อ่าน

ผมจึงขอตอบคำถามข้อนี้ด้วยผลการวิจัยจากงานศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) โดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ในประเด็นท้าทายด้านการต่อต้านการคอร์รัปชัน พบว่า ข้อมูลเปิดภาครัฐมีความสำคัญต่อกระบวนการส่งเสริมความโปร่งใสในสังคม และกระบวนการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นอย่างมาก

เนื่องจากข้อมูลเปิดถูกใช้ในการกำหนดวิธีการป้องกัน ตรวจจับ สืบสวน ดำเนินคดีและลดปัญหาคอร์รัปชันลงได้ อีกทั้งข้อมูลยังถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างการเรียนรู้ ทำความเข้าใจของประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน หรือ จะอธิบายสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือ จะให้ “เรา” มีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชันได้ ต้องเริ่มที่การเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใสก่อน

สาเหตุที่ข้อมูลเปิด ต้องมาก่อน ก็เพราะถ้าไม่มีข้อมูล ประชาชนจะเอาอะไรไปร้องเรียนการคอร์รัปชัน ถ้าไปร้องเรียนมือเปล่าด้วยคำพูดเท่านั้น เรื่องก็คงไม่เดิน ดีไม่ดีจะถูกผู้ที่เราร้องเรียนกลั่นแกล้งเอาคืนเสียด้วยซ้ำ แต่จินตนาการดูว่า ถ้าเราไปหา สำนักงาน ป.ป.ช. ด้วยข้อมูลโดยละเอียดว่า เสาไฟฟ้าต้นนี้ ราคาซื้อมาแพงกว่าราคาตลาดเป็นสิบเท่า แถมตอนจัดซื้อจัดจ้าง ยังมีผู้เสนอราคาแค่รายเดียว สุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันอย่างมาก แบบนี้ ป.ป.ช. ก็จะทำงานง่ายและเร็วขึ้น 

เหมือนอย่างกรณีเสาไฟฟ้ากินรีที่เราได้ยินกันในปีที่ผ่านมานี่เองครับ และวันนี้ทุกท่านสามารถเข้าไปดูข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างย้อนหลังกลับไป 5 ปี จำนวนข้อมูลกว่า 31 ล้านชุดข้อมูล ได้แล้วที่ www.actai.co 
ถ้ามี ACT Ai แล้ว ทำไมยังต้านโกงไม่สำเร็จ คำตอบหนึ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ค้นพบก็คือ มันยังไม่พอครับ 

ในวันนี้ ACT Ai มีข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ข้อมูลผู้ค้าภาครัฐ (ข้อมูลนิติบุคคล) ข้อมูลการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ข้อมูลงบประมาณและข้อบัญญัติงบประมาณระดับประเทศและท้องถิ่น ข้อมูลคำชี้มูลความผิดของสำนักงาน ป.ป.ช. ข้อมูลการลงโทษของ ก.ล.ต. ข้อมูลคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อมูลงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้โควิด ข้อมูลโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

                                     ระบบนิเวศการต้านโกง

แต่ยังพบว่า มีอุปสรรคในการดำเนินการค่อนข้างมาก เพราะยังขาดข้อมูลอีกหลายชุดที่จะช่วยประมวลผลความสุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน เช่น ข้อมูลผู้ทิ้งงาน ข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ หรือชุดข้อมูลอื่น ๆ ตามที่องค์กรระหว่างประเทศมีการศึกษา และพัฒนาเป็นแนวทางการจัดทำชุดข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน

 “…สำหรับประเทศไทย สถานการณ์การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐยังคงไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลว่าด้วยข้อมูลเปิด ตั้งแต่หลักการของกฎหมายข้อมูลข่าวสารที่ยังไม่บรรจุหลักการ “เปิดเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ทำให้การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับหน่วยงานเจ้าของข้อมูลว่าต้องการเปิดเผยข้อมูลใด ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยมีความล่าช้า ไม่เป็นปัจจุบัน คุณภาพของข้อมูล เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความน่ากังวลทั้งในแง่ของความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล โครงสร้างที่ไม่ชัดเจนของข้อมูลแต่ละชุด ไม่มีคำอธิบายข้อมูล 

อีกทั้งยังเปิดเผยในรูปแบบไฟล์ที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถนำไปประมวลผลต่อได้ ทำให้ในบางครั้งขัดกับหลักการการเปิดให้ใช้งานข้อมูลได้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากผู้ใช้งานข้อมูลมีความจำเป็นต้องทำหนังสือ เพื่อขอการเข้าถึงข้อมูลสำคัญในบางชุดข้อมูล อีกทั้งยังมีค่าธรรมเนียมของหน่วยงานรัฐในการจัดทำข้อมูลเป็นดิจิทัล ให้ กับประชาชนผู้ร้องขอข้อมูล 

นั่นย่อมเป็นอุปสรรคต่อการไปสู่เป้าหมายของข้อมูลเปิด คือ เพื่อสร้างความโปร่งใสและพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในด้านต่าง ๆ ในขณะเดียวกันการกำหนดชุดข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ยังไม่มีการดำเนินการที่ชัดเจนว่าควรประกอบด้วยชุดข้อมูลใดบ้าง และแต่ละชุดข้อมูลนั้นควรดำเนินการเปิดเผยโดยมีรายละเอียดอย่างไร ในรูปแบบใด...”

งานวิจัยเหล่านี้ ถ้าไม่เอามาลงมือทำจริง ก็คงขึ้นหิ้งแน่นอน ดังนั้น ทีมวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้เริ่มลงมือทำ ด้วยความร่วมมือกับ ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน (KRAC) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มูลนิธิเพื่อคนไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน WeVis ทีม HAND Social Enterprise ทีม คะน้า Research Curator

และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม“อาสาพา (PAR) กรอก” เพื่อสร้างการเรียนรู้การใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Data) และส่งเสริมการตระหนักรู้ในบทบาทของประชาชนที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ได้ผ่านการสร้างฐานข้อมูลด้วยการแปลงข้อมูลบัญชีทรัพย์สินฯ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลบนฐานข้อมูล ACT Ai Politics Data

การเปิดให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในสร้างฐานข้อมูลเปิดในครั้งนี้ ถือเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความโปร่งใสทางการเมือง เพราะประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และสามารถร่วมติดตามตรวจสอบข้อมูล หรือ ข้อสงสัยในบัญชีทรัพย์สินฯ นักการเมืองได้ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล นำไปสู่การพัฒนาฐานข้อมูล และสร้างเครือข่ายที่จะเข้ามาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาคอรร์รัปชันในอนาคตได้อีกด้วย 

ผู้อ่านท่านไหนสนใจ อยากรู้ว่า ทำไมนักการเมืองคนนี้รวยแบบไม่เกรงใจใคร ? นาฬิกาหลายสิบล้านมาจากไหนหลายเรือน ? ถ้าประชาชนอย่างเราสงสัยจะดูข้อมูลได้จากไหนบ้าง ? สามารถร่วมเข้ามาติดตามตรวจสอบข้อมูลบัญชีทรัพย์สินฯ นักการเมืองได้บนแพลตฟอร์ม ACT Ai Politics Data (https://poldata.actai.co/) 

ทั้งหมดนี้ คือ ตัวอย่างการต่อต้านคอร์รัปชันที่ “เรา” ในทุกความหมาย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันต่าง ๆ ทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม หรือ ประชาชนทุกคน สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้จริง บนพื้นฐานของการวิจัยเชิงวิชาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานอย่างเป็นระบบที่ยั่งยืนครับ