*** แม้สหรัฐอเมริกาจะเลื่อนเวลาการเก็บภาษีนำเข้าเต็มรูปแบบออกไปอีก 90 วัน แต่ยังคงเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้าสินค้า 10% จากทุกประเทศ โดยจะเว้นเอาไว้เพียงจีน ที่จะโดนเก็บ 145% สำหรับสินค้าจีนทั้งหมด โดยยังเก็บภาษี 25% สำหรับอลูมิเนียม รถยนต์ และ สินค้าจากแคนาดา-เม็กซิโก (ที่อยู่นอกข้อตกลง USMCA)
หมายความว่า จากนี้ไป สินค้าที่ส่งไปยังอเมริกา จะต้องปรับสูงขึ้นจากราคาเดิม ขณะเดียวกันจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ว่าต้องการซื้อสินค้านำเข้าที่มีราคาแพงกว่าเดิมหรือซื้อสินค้าในประเทศที่ราคาเท่าเดิม...
ว่าแต่การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของอเมริกา จะมีผลกระทบต่อไทยอย่างไร ขณะเดียวกัน...รัฐบาลไทยจะมีวิธีการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างไรบ้าง???
ปัญหาเรื่องของผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้า อย่างแรก...เป็นปัญหาทางตรง ซึ่งจากข้อมูลพบว่า การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ มีสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ราว 10% ดังนั้น การเก็บภาษีนำเข้าสินค้า 37% ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอีกไม่เกิน 90 วันนับจากนี้ จะทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้น ทำให้สหรัฐ อาจหันไปหาประเทศส่งออกสินค้าที่สามารถทำราคาสินค้า ให้มีราคาถูกกว่าของไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาเรื่องของผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้า อย่างที่สอง...เป็นปัญหาทางอ้อมซึ่งในกรณีที่สหรัฐ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น และ สหภาพยุโรป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บภาษีนำเข้าจากจีน ที่สูงถึง 145% จะส่งผลให้สินค้าเหล่านี้ ส่งไปขายยังสหรัฐได้อย่างยากลำบาก ในขณะที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศต้นทางที่เป็นฐานการผลิตสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้ หรือแม้แต่ประเทศเหล่านี้ส่งมาที่ไทย ก็จะเกิดปัญหาในการส่งออกสินค้า ซึ่งปลายทางอยู่ที่สหรัฐ เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้จัดให้มีคณะผู้แทนรัฐบาล จะเดินทางเข้าพบกับผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะได้เข้าพบ เพื่อเจรจาในวันที่ 21 เม.ย. 68 ภายใต้ 5 หลักการ ดังนี้
1. การเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมที่ไทยและสหรัฐ เกื้อหนุนกัน เช่น เกษตร-อาหาร และ เทคโนโลยี โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์เลี้ยง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดโลก
2. การเปิดตลาดและลดภาษี ลดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งรัฐบาลพร้อมพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีนำเข้า เพื่อสร้างระบบการค้าที่เป็นธรรมและยืดหยุ่นต่อทุกฝ่าย
3. การเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐ ในสินค้าที่ไทยจำเป็นต้องใช้แต่ผลิตไม่ได้เพียงพอ รวมถึงสินค้าที่ประเทศไทยผลิตเองไม่ได้
4. การตรวจสอบเพิ่มความเข้มงวดสินค้าส่งออกไปสหรัฐ ป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สามเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
5. การส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐ โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ผลิตสินค้าส่งออกจากฐานการผลิตในอเมริกา ไปยังตลาดโลก
ประเด็น คือ เรื่องหลักที่รัฐบาลไทยจะนำไปใช้เจรจาส่วนใหญ่ เป็นปัญหาการส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างไทยและสหรัฐ ซึ่งหากมองในแง่ดีที่สุด...ถ้าหากว่าทุกอย่างจบลงในรูปแบบที่น่าพอใจ จนตัวเลข GDP การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ ซึ่งมีอยู่ราว 10% ก็ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังมีอีกหลายปัญหาที่จะตามมาอีก
นอกจากนี้ กรณีสินค้าที่ไทยส่งไปขายยังสหรัฐ ยังมีหลายอย่างที่เป็นข้อได้เปรียบที่ไทยมี และยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ในเวลาอันสั้น หรือ เวลาไม่กี่ปีประเทศคู่แข่งอาจยังสู้ไม่ได้ หรือไม่ก็ยังตามได้ไม่ทัน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มยางพารา และกลุ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารแปรรูป ที่ไทยร่วมกับประเทศอื่นอีกไม่กี่ประเทศในโลก ซึ่งหากสหรัฐ ปรับขึ้นภาษีเต็มเพดาน ก็จะกลายเป็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตัวอเมริกาเอง
ว่าแต่ว่า ถึงจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐเอมริกา แต่...ไทยจะยังอยู่รอดได้เหมือนเดิมหรือยัง “อยู่ดีมีสุข” เหมือนเดิมต่อไปได้หรือไม่
อย่าได้ลืมไปว่า แม้จะลดความเสียหายในทางตรงลงไปได้ แต่ความเสียหายทางอ้อม ซึ่งมาจากผู้ส่งสินค้าไปยังสหรัฐ รายอื่นก็ยังมีอยู่เช่นเดิม ดังนั้น รัฐบาลจึงยังคงมีการบ้านจำเป็นที่จะต้องทำต่อเนื่องไปอีกในหลายขั้นตอน
ดังนั้น เจ๊เมาธ์จึงยังมองว่า นาทีนี้ความขัดแย้งภายในประเทศ เช่น การกล่าวโทษกันไปมาทั้งในส่วนของ นักการเมือง นักธุรกิจ และ ประชาชน ในโลกโซเซียล ซึ่งอาจทำให้ต้องมาเสียเวลาวุ่นวาย เพื่อที่จะอธิบายกันเอง แล้วยังต้องไปคุยกับต่างประเทศ จนกลายเป็นความซ้ำซ้อนควรจบ...หรือไม่ก็ควรจะลดลงให้ได้
เจ๊เมาธ์เชื่อว่า ตอนนี้ประเทศไทยไม่ต้องการคนเก่งประเภท “ข้ามาคนเดียว” ไม่ต้องการใครคนใดคนหนึ่งมาเป็น “ฮีโร่” เพราะถ้าหากใครเก่ง และช่วยเหลือชาติได้ ก็ขอให้รีบแสดงตัวออกมา ทุกคนพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่อยู่แล้ว!!!
ถึงเวลาที่คนไทยทุกคนจะต้องค้นหาทางออกร่วมกันได้แล้วนะคะ ย้ำว่า....นาทีนี้ถ้า “ไทยเราไม่ช่วยไทย” ก็ไม่มีใครช่วยเราได้อีกแล้วเจ้าค่ะ