ทักษะการประเมินที่ไม่เกินประมาณ (8)

02 ธ.ค. 2566 | 06:30 น.

ทักษะการประเมินที่ไม่เกินประมาณ (8) : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3945

รีบเล่าเสียก่อนจะลืมว่า วิทยากรรุ่นพี่เขาถามผมว่า “วิทยากรกลัวอะไรมากที่สุด” ผมก็ตอบแบบเดียวกับการแทงหวยว่า “กลัวผู้ฟังจะถามลองของ!” ท่านพี่ก็ฮุคกลับมาทันทีว่า “ไม่ใช่ วิทยากรกลัวเมียยิ่งกว่ากลัวผู้ฟังซะอีก" ผมก็ซักท่านพี่ไปว่า “ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะพี่” ท่านพี่ก็แบไต๋ว่า “ผู้ฟังเขาลองถามแบบใส่ไข่นิดหน่อย เมียนี่ถามเอาจริงเอาจังยังกะ ท่านเปา เลยแหละ

วันก่อนเมียเขาก็ถามพี่ว่า ความรู้ที่คุณบรรยายให้ผู้เข้าอบรมฟังน่ะ คุณแนะนำดีนะ ทำให้ถูกแบบนั้น ทำให้ดีแบบนี้ เวลาคุณอยู่บ้าน ไม่เคยทำตามที่สอนบ้างเลย ไอ้ที่สต๊อคเอาไว้ในหัวน่ะ งัดเอาออกมาใช้บ้างสิ” (ฮา)

ยืนยันกันแบบไม่ปั้นแต่งได้เลยว่า หลักปฏิบัติเกี่ยวกับ ประเมิน และ ประมาณ ใช้ได้กับทุกกรณีที่มันเกี่ยวข้องกับชีวิตในทุกสังคม ผมดูหนังการแข่งม้า เจ้าของคอกม้าติวให้เด็กหนุ่มบ้านนอกฝึกซ้อมการขี่ม้าแข่ง เซียนม้ากระเป๋าฉีก เพราะนึกไม่ถึงว่าคนหลังเขา จะคุมม้าควบเข้าเส้นชัยเท่ขนาดนั้น 

เขาได้รับการทาบทามให้ไปแข่งข้ามถิ่น เห็นกันหลัดๆ ว่าหนุ่มบ้านนอกกำลังจะคว้าเส้นชัย น่าเสียดายตรงที่โดนแซงขวาปาดหน้าไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด เรื่องของเรื่องก็เป็นเพราะว่า เจ้าของม้าแข่งไม่เคยเช็คลิสต์งัดหลัก การประมาณ ในทุกแง่มุมว่า สุขภาพจุดใดมีปัญหา เขาไม่เห็นจริงๆ ว่าโดนแซงขวา เพราะว่า “ตาขวา ของ จอคคี เป็น ต้อกระจก!”

“ประเมิน” คือ “หวัง” เป็นการตั้งจิตคาดหมายที่พิจารณาจากข้อมูลที่ผลิดอกออกผล โดย กำหนดผลลัพธ์ หรือ ผลประโชน์ ที่มันควรจะใช่

ทนายความหนุ่มคนคิดหาทางช่วยนักธุรกิจที่ติดกับคดีความ เขาปรึกษารุ่นพี่ว่า “ผมส่งกล่องซิการ์ไปประจบผู้พิพากษาซะหน่อยจะดีไหม” รุ่นพี่ส่ายหน้ารีบตัดบทว่า “ท่านผู้พิพากษาเป็นคนที่มีเกียรติสูงส่ง ถ้าคุณประเมินต่ำอย่างนั้น ผมรับรองว่าคุณจะแพ้คดี!” 

ทนายความหนุ่มสงบเสงี่ยมรอผลจนในที่สุดผู้พิพากษา ก็ตัดสินให้เขาชนะคดี รุ่นพี่ก็เข้ามาคุยกับเขาว่า “เห็นไหม คุณประเมินสูงเกมก็เข้าทางคุณ ถ้าคุณส่งซิการ์ ผมว่าคงจะลำบาก”

ทนายความหนุ่มยิ้มแก้มตุ่ยคุยเบาๆ กับรุ่นพี่ว่า “ผมส่งกล่องซิการ์ไปให้ท่านผู้พิพากษาแล้ว ผมแนบนามบัตรของทนายฝ่ายตรงข้ามเอาไว้ในกล่องซิการ์ด้วยนะพี่!” (ฮา) คนดีเรียนเพื่อรู้เอาไว้ชูฟอร์มเท่ คนเจ้าเล่ห์เอาไปใช้จริงจัง

“ประมาณ” คือ “กะ” หมายถึง น่าจะ “คะเน” วิธีการจัดการ ให้ เหมาะสมสอดคล้องกับข้อมูลที่พิสูจน์ได้ว่า สามารถใช้เป็น ลู่ทาง หรือ เครื่องมือ บ่งชี้ ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

ปักหมุดกันได้เลยว่า ถ้าใครไม่สนใจใคร่ครวญในหลักนี้ สักวันหนึ่งอาจจะ “สำลัก” ภายใต้ความกดดัน

“เสี่ยวจุน” ชายหนุ่มหล่อเหลาผู้มีแรงบันดาลใจสูง หลังจากเรียนจบก็ “ประมาณการ” ลุยงานหนักที่จะเก็บหอมรอมริบเพื่อหาเงินเอาไว้แต่งงานกับ “เสี่ยวเหมิง” พ่อแม่ของเขาเองก็ชื่นชอบเธอ หลังจากนั้นไม่นาน “ชายจุน” ก็จัดมอบเงินออมนั้นให้กับ “หญิงเหมิง” 60,000 หยวน (ประมาณ 3 แสนบาท)

เซียวหลาน เพื่อนสนิท ของ “หญิงเหมิง” เป็น “นักประเมินสายเผือก” ก็ประเมินว่า “60,000 หยวน มันน้อยเกิน เอาก็โง่สิเธอ ให้เขาโอนมาอีก 200,000 หยวน ถึงจะ โอ.เค.” หญิงเหมิง ยิ้มเล็กน้อยเพราะไม่ได้คิดจะแต่งงานเพื่อเงิน

เชื้อเผือกยังไม่จางหาย เจ้าบ่าวจะเข้ามารับเจ้าสาว “นักประเมินสายเผือก” เข้าไปยืนขวางพูดจารีดไถ เจ้าบ่าว ว่า “การแต่งงานจะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีเงิน 200,000 หยวน” เจ้าบ่าว “ผงะ” ไม่รู้จะเอาไงดี ก่อนที่ เจ้าสาว จะรีบจับมือ เจ้าบ่าว ไปเข้าพิธีแต่งงานด้วยกัน เจ้าสาว ก็บอกเพื้อนซี้ว่า “การแต่งงานของฉัน ไม่ใช่เรื่องขอเธอ!” (ฮิ้ว……)

                            ทักษะการประเมินที่ไม่เกินประมาณ (8)

ญี่ปุ่น “ประเมิน” อนาคตญี่ปุ่นฝากไว้กับเด็กอนุบาล

“ประมาณ” วิธีถ่ายทอดซอฟท์สกิล 3 ทักษะ

หนึ่ง พาเด็กเล็กวัยไฮเปอร์ไปเดินเล่นอยู่บนพื้นผิวหิมะ โดยมีครูเฝ้าดูอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ปล่อยให้เดินจนฝ่าเท้าเริ่มเป็นสีชมพูอ่อนๆ ก็จะอุ้มกลับเข้าไปนั่งอยู่ในห้องพัก (เหตุ) เพื่อ “ฝึกให้เด็กรู้จักอดทน" (ผล)

สอง ฝึกให้เด็กทำกิจกรรมประจำวันร่วมกัน อย่างเช่น เดินข้ามถนนก็จะเกาะเอวแบบงูกินหางให้เด็กได้ผลัดกันพึ่งพาอาศัย (เหตุ) เพื่อ “บ่มเพาะน้ำใจให้ ทำเป็นกลุ่ม คุมกันเป็นกรุ๊ฟ สรุปว่า อนุทีมงอกเงย” (ผล)

สาม ฝึกให้เด็กโค้งต้อนรับและให้เกียรติผู้อื่น ซึ่งเป็นการทำให้เกิดเมตตามหานิยมโดยไม่ต้องท่องคาถา สุดยอดลีลาในการสร้างสรรค์เสน่ห์ (เหตุ) เพื่อ “ฝึกยุทธวิธีการซื้อใจผู้อื่นอย่างแยบยล” (ผล)

ฝึกวิ่งเร็วกันเอาไว้ให้ดีๆ เราโดน AI แย่งงานไปแถบหนึ่งแล้ว เป็นไปได้ไหมล่ะ คู่แข่งกลุ่มต่อไปที่จะเดินแก้มป่องยิ้มแฉ่งเข้ามาแย่งงานเรา คือ เด็กอนุบาลที่เหนือกว่าเด็กอนุบาล!

Lawyers Weekly เล่ามุกตลกร้ายว่า การประชุมของนักวิทยาศาสตร์ทางชีววิทยา มีนักวิจัยคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า “รู้หรือเปล่าว่าในห้องทดลอง เขาเปลี่ยนจากหนูมาเป็นทนายความกันแล้ว!” ผู้ร่วมประชุมคนหนึ่งถามว่า “เขาเปลี่ยนแบบนั้นทำไม?”

นักวิจัยคนเดิมอธิบายว่า “เขามีเหตุผลสนับสนุนสามข้อ ข้อแรก ทนายความมีจำนวนมากกว่าหนู ข้อที่สอง ผู้ช่วยห้องปฏิบัติการเขาเอ็นดูหนูมากกว่า ข้อที่สาม ไม่รู้ว่ามีบางสิ่งที่แม้แต่หนูก็ไม่ทำ แต่ทว่า พวกเขาทำได้” (ฮา)