อย่าฉีกกฎหมาย เพียงเพื่อนโยบาย ประชานิยมหาเสียง

14 ต.ค. 2566 | 10:20 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2566 | 10:55 น.

อย่าฉีกกฎหมาย เพียงเพื่อนโยบาย ประชานิยมหาเสียง บทบรรณาธิการ

ในอดีตเราเคยมีบทเรียนการใช้เงินแบบไม่ยั้งคิด ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังมาแล้วจากโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่มีการใช้เงินช่วยเหลือชาวนามากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 9.85 แสนล้านบาท จากการรับจำนำข้าวเปลือก 54.35 ล้านตัน ตั้งแต่ปีการผลิต 2554/55 ถึงปีการผลิต 2556/57 รวม 5 ฤดูกาลผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

จากรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน ธ.ก.ส. ปีบัญชี 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 พบว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการจำนำข้าวจำนวน 9.85 แสนล้านบาท ด้วยการนำเงินจากการระบายข้าวมาจ่ายคืนหนี้ให้ ธ.ก.ส. จำนวน 371,280.05 ล้านบาท และตั้งงบประมาณใช้หนี้อีก 289,304.73 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 660,584.78 ล้านบาท

 

 

ส่วนภาระหนี้ที่ค้างชำระที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณจ่ายคืนหนี้ให้กับธ.ก.ส.ทั้งสิ้น 246,675.61 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินที่ ธ.ก.ส. สำรองจ่าย 66,403.55 ล้านบาท และเงินที่ ธ.ก.ส. ไปกู้ยืมมาจากสถาบันการเงินอื่นอีก 184,474.62 ล้านบาท

นั่นหมายความว่า ยังมีหนี้ที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวในยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่รอรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” สะสางอีก 246,675.61 ล้านบาท

ที่กำลังเป็นเผือกร้อนของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ท่ามกลางการคัดค้านจากนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์กว่า 100 คนคือ นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามที่หาเสียงไว้ เพราะหากต้องแจกประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปแบบถ้วนหน้า จะต้องใช้เงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท ภายใต้ข้อจำกัดของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ต่างก็ชนเพดานทั้งสิ้น

ทั้งการใช้นโยบายกึ่งการคลัง ที่อาจต้องหันมายืมมือธนาคารออมสิน หลังจากทิ้งให้ ธ.ก.ส. แบกหนี้หลังแอ่นไปแล้ว แต่ตาม ม.28 ก็ทะลักเพดานไปแล้ว หากจะขยายอีก ก็ต้องขยายแบบมหาศาลทีเดียว หรือต้องหันมากู้เงินเพิ่ม ไม่ว่าจะออกเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. แต่ก็คือเงินกู้ ซึ่งอาจจะขัดกับที่เคยหาเสียงไว้ว่า จะไม่กู้ หรือที่สุดต้องหันมาขายของเก่ากินอย่างการขายหุ้นบางส่วนจากรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็ไม่ง่าย

 

อย่างไรก็ตาม ม.9 ระบุชัดว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และ การก่อหนี้

ครม.ต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือ ประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ

ครม.ต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

ดังนั้น ครม.ต้องไม่ฉีกกฎหมายเพียงเพื่อนโยบายประชานิยมหาเสียง