เงินดิจิทัลฉุดกำลังซื้อ Q4 สัญญาณชะลอตัว แนะแจกเฉพาะคนจน ใช้แค่ 6 หมื่นล้าน

13 ต.ค. 2566 | 11:29 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2566 | 12:02 น.

ภาคธุรกิจหวั่นเงินดิจิทัล ฉุดกำลังซื้อไตรมาส 4 นักวิชาการชี้ 4 ทางเลือก“เดินหน้า-ลดเพดานบิน-กระตุ้นเศรษฐกิจกลับด้าน-ยกเลิก” ระบุแนวทางที่ไม่กระทบการคลังมาก แจกเฉพาะคนจน 6 ล้านคน ใช้เงินแค่ 6 หมื่นล้าน สวค.หนุนเดินหน้า ดันจีดีพีโต 5% “หมอมิ้ง”วอนทุกฝ่ายเชื่อมือรัฐบาล

นโยบายเติมเงิน หรือแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต คนไทย 56 ล้านคน ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป วงเงิน 560,000 ล้านบาทของรัฐบาล ที่ขีดเส้นจะเริ่มได้ในวันที่ 1 ก.พ. 2567 ล่าสุด คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะมีการประชุมหาข้อสรุปถึงแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์เงื่อนไข และรัศมีการใช้เงิน ในวันที่ 19 ต.ค.ก่อนนำเสนอรายละเอียดต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายในวันที่ 24 ต.ค.นี้

ขณะที่ยังมีเสียงคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ได้ออกแถลงการณ์ และลงชื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าว และขอให้รัฐบาลทบทวนด้วยความรอบคอบอีกครั้ง โดยเห็นว่าเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย ยกเหตุผลเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่ และอยู่ในภาวะฟื้นตัว จะสร้างหนี้สาธารณะเพิ่มให้คนรุ่นต่อไป เพิ่มภาระงบประมาณรัฐจากการก่อหนี้จำนวนมากในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยจะรวบรวมประเด็นที่มีข้อถกเถียง และเชิญผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิมาศึกษาร่วมกันว่า โครงการมีความเสี่ยง หรือข้อควรระวังในการดำเนินการหรือไม่ เหมือนกับโครงการรับจำนำข้าวที่ ป.ป.ช.เคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้หากป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะหรือข้อท้วงติงแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้วไม่ปฏิบัติตามและเกิดความเสียหายขึ้นมาต้องรับผิดชอบ ท่ามกลางเสียงของภาคประชาชนคนยากจนได้ออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้านโยบายนี้ต่อไป

  • ห่วงฉุดกำลังซื้อ Q4

นายดุสิต สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริ หาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ในเครือ บมจ.เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) เชนสโตร์มือถือ และอุปกรณ์ รายใหญ่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดไตรมาสสุดท้ายของปีปกติเป็นฤดูกาลการจับจ่ายใช้สอยขอผู้บริโภค อย่างไรก็ตามจากนโยบายเงินดิจิทัลของรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน อาจทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งชะลอการตัดสินใจซื้อในช่วงนี้ (ไตรมาส 4) เพื่อรอเงินดิจิทัล

ขณะที่ นายสมยศ เชาวลิต   กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี คอมพิวเตอร์ จำกัด  เชนสโตร์ไอทีรายใหญ่ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณชะลอการซื้อสินค้าไอทีในไตรมาสสุดท้าย เพราะคนรอเงินดิจิทัลจากรัฐบาล ทั้งนี้มองว่านโยบายเงินดิจิทัล จะเป็นตัวกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และส่งอานิสงส์ต่อการเติบโตของตลาดสินค้าไอที

เงินดิจิทัลฉุดกำลังซื้อ Q4 สัญญาณชะลอตัว แนะแจกเฉพาะคนจน ใช้แค่ 6 หมื่นล้าน

  • แนะ 4 ทางออกเงินดิจิทัล

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และในฐานะที่ปรึกษาอาวุโสบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ทำนโยบายนี้ตามที่ได้หาเสียงเอาไว้รัฐบาลจะเสียคน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ดังนั้นจึงขอนำเสนอทางออกใน 4 ทางเลือก

 แนวทางที่ 1 เดินหน้าต่อตามนโยบายไม่ต้องฟังเสียงคัดค้าน เพราะมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา สำหรับแนวทางนี้หากใส่เงินเข้าไปในระบบ 560,000 ล้านบาท จะทำให้เกิดมูลค่าผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ณ ราคาตลาด 0.9-1.1 ล้านล้านบาท แต่เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.5-4.0% ครัวเรือนไทยเป็นหนี้เพิ่มจาก 473,900 บาท/ครัวเรือน เป็น 498,200 บาท/ครัวเรือน แนวทางนี้เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ต้องยอมรับผลกระทบด้านอื่นที่จะตามมาเช่นกัน

แนวทางที่ 2 ลดเพดานบิน คือ ปรับเกณฑ์หรือลดเพดานการแจกเงินให้เฉพาะกับครอบครัวที่ยากจนจริง ๆ โดยข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2565 ครัวเรือนไทยมี 23 ล้านครัวเรือน เป็นครัวเรือนยากจน 2 ล้านครัวเรือน หากมีสมาชิกครัวเรือนละ 3 คน จะมี 6 ล้านคน รัฐบาลจะใช้เงินเพียง 6 หมื่นล้านบาทสำหรับนโยบายนี้ ประหยัดไป 5 แสนล้านบาท ยังมีเงินเหลือเพื่อไปพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ ปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและลดต้นทุน การวิจัยและพัฒนาและอื่น ๆ แต่กรณีนี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะน้อยตามไปด้วย หนี้ครัวเรือนไทย และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่มาก

แนวทางที่ 3 กระตุ้นเศรษฐกิจกลับด้าน หันไปใส่เงินให้ภาคการผลิตแทน เช่น การเพิ่มศักยภาพของแรงงาน หากพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพิ่มขึ้น 1% จะทำให้ศักยภาพของแรงงานเพิ่มขึ้น 0.35% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2545-2565) ประสิทธิภาพแรงงานไทยต่ำกว่าเวียดนามมาโดยตลอด และเริ่มแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น

แนวทางที่ 4 ถอยหรือยกเลิกนโยบาย แนวทางนี้ถือว่าไม่เกิด เพราะนายกฯ เศรษฐา ยืนยันชัดเจนว่าไม่มีการยกเลิกนโยบายนี้

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช

 “ส่วนตัวมองว่าควรปรับลดเพดานและหลักเกณฑ์การจ่าย โดยแบ่ง 60% ของวงเงินเพื่อแจกเงินดิจิทัล หรือแจกเฉพาะคนจนจริงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค อีก 40% เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในหลาย ๆ ด้านที่กล่าวมา อย่างไรก็ตามไม่ว่าประเทศไทยจะเลือกแนวทางใดมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเสมอ เพราะการนำเงินไปทำอีกอย่าง ย่อมเสียโอกาสไปทำอีกอย่าง”

ที่สำคัญเงินที่มาใช้ในโครงการนี้ ต้องกู้แน่นอน ซึ่งจะเป็นภาระของประเทศต่อไปในอนาคต เว้นเสียแต่ว่า ในแนวทางที่ 1 นั้น รัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ปีละ 4% จะทำให้มูลค่าจีดีพีเพิ่มปีละประมาณ 7 แสนล้านบาท หากรัฐบาลอยู่ได้ 4 ปี มูลค่าจีดีพีเพิ่มเท่ากับ 2.7 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลงไปอยู่ที่ 62% เหมือนเดิม

  • สวค.หนุนรัฐแจกเงินดิจิทัล

นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังมีความจำเป็นต้องมีการกระตุ้น เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่บนพื้นฐานการเติบโต 5% ในอนาคต โดยตัวเลขจีดีพีไทยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ที่สภาพัฒน์ประกาศออกมาขยายตัวเพียง 1.8% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัวที่ 3%

ขณะที่หากพิจารณาไส้ในของจีดีพีจะเห็นว่า ภาคการบริโภคขยายตัวถึง 7.8% เป็นสถิติสูงที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งอาจเกิดจากไตรมาส 2 ปีนี้เป็นช่วงของการเลือกตั้ง ทำให้การจับจ่ายใช้สอยในประเทศสูงมาก แต่จะเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าไม่ดำเนินการใด ๆ การเติบโตจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คือประมาณ 2-3% หรือโตปีละ 4-6 แสนล้านบาทเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อการกระจายเม็ดเงินสู่ประชาชนระดับรากหญ้า ทั้งนี้จีดีพีประเทศไทยไม่สามารถโตในอัตรา 2-3% ต่อปีได้อีกต่อไป

 “ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโต 2% อนาคตอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเงินการคลังในประเทศ ส่งผลต่อเงินบำนาญ เงินเดือนข้าราชการ โดยการทำงานปีสุดท้ายของรัฐบาลปี 2570 หากรัฐบาลสามารถดันจีดีพีไทยให้โตได้ 5% จะส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีลงมาต่ำกว่า 60% จากปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 62%” นายสุวิทย์ กล่าว

  • "หมอมิ้ง"ยันไม่กระทบเรทติ้งประเทศ

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่า การผลักดันนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเริ่มต้นในเดือน ก.พ.โดยใช้เงินกว่า 5.6 แสนล้านบาท จะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของรัฐ เพราะรัฐบาลสามารถบริหารจัดการเรื่องของการเงินได้ ที่สำคัญคือ เมื่อทำแล้วต้องไม่กระทบต่อเครดิตเรทติ้งของประเทศที่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

 “ที่ผ่านมา Union Bank of Switzerland ก็เขียนชัดเจนว่า นโยบายนี้จะไม่กระทบต่อเรทติ้งประเทศ และเรื่องนี้ได้มีการหารือกันในคณะกรรมการชุดใหญ่แล้วว่าจะไม่กระทบต่อเรทติ้ง ส่วนข้อคิดเห็นต่าง ๆ รัฐบาลก็เคยตั้งคำถามเอาไว้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการใช้เงินว่าจะเป็นอะไรไหม และขยับแบบนี้เป็นอะไรไหม แล้วตั้งคืนเงินอย่างไร โดยได้รับการยืนยันว่าเรทติ้งไม่ขยับ รัฐบาลบริหารการเงินเป็น และเห็นว่าตรงไหนควรทำยังไง”

  • แจงชัด 3 ที่มาของแหล่งเงิน

นพ.พรหมินทร์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ เกี่ยวกับแหล่งวงเงินเพื่อนำมาขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล ซึ่งจะมีอยู่ 2-3 ทางเลือก คือ การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือการใช้เงินภายใต้ มาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือสุดท้ายถ้าไม่พอหรือจำเป็นก็อาจต้องมีการกู้เงิน โดยทางเลือกทั้งหมด คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายฯที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน จะเป็นผู้สรุปรายละเอียดอีกครั้ง

สำหรับแหล่งวงเงินส่วนแรกที่จะนำมาใช้ คือ การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ส่วนหนึ่งต้องไปหาทางเกลี่ยงบประมาณบางโครงการที่ไม่จำเป็น เช่น การจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่หากยังไม่จำเป็นก็ต้องเลื่อนออกไป ล่าสุดรัฐบาลสามารถทำได้บางส่วนแล้ว และจะจัดงบไปเป็นค่าบำรุงรักษาให้แทน

ส่วนการใช้กลไกตามมาตรา 28 หรือการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจ่ายเงินให้ไปก่อน และรัฐบาลตั้งงบประมาณมาชดเชยให้ รัฐบาลเห็นช่องทางนี้สามารถทำได้ แม้ว่าจะมีการขยายเพดานออกไป โดยรัฐบาลเตรียมแผนการคืนเงินอย่างชัดเจนแล้ว เช่น ถ้าใช้เงินไม่เกิน 2-3 แสนล้านบาท ก็ตั้งงบใช้คืนปีละประมาณ 1 แสนล้านบาทได้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี

แนวทางสุดท้าย การกู้เงินโดยตรง จะไม่ส่งผลกระทบต่อกรอบหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพราะในปีต่อ ๆ ไป จีดีพีจะขยายตัวมากขึ้น จึงมีช่องว่างมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ทุกทางเลือกคณะอนุกรรมการฯจะหาข้อสรุปถึงทางเลือกที่เหมาะสม หรืออาจใช้ทางเลือกต่าง ๆ ผสมกันได้

“รัฐบาลจะรับฟังและพิจารณาอย่างรอบคอบ และเลือกเส้นทางที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ด้วยความรับผิดชอบว่าจะรักษาวินัยการคลังอยู่รอดและโตต่อไปได้ ซึ่งข้อคิดเห็นที่มีตอนนี้ ในระบอบประชาธิปไตยสามารถตรวจสอบตัวเลขต่าง ๆ ได้ และต้องดูด้วยความเป็นธรรม ไม่มีอคติ หรือหวังผลประโยชน์ทางการเมือง หรือจ้องจะทำลายความน่าเชื่อถือ รัฐบาลเชื่อว่า ถ้าเราร่วมมือแล้วประเทศจะไปได้ดี แต่ถ้ามีข้อวิจารณ์ก็ขอให้วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์” นพ.พรหมินทร์ กล่าว

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3931 วันที่ 15 - 18 ตุลาคม พ.ศ. 2566