คนอีสานจากอดีต-ปัจจุบัน กับทางเลือกใหม่ของการเมือง (3)

07 ก.ค. 2565 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2565 | 21:35 น.
1.0 k

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

นักต่อสู้ทางการเมือง เพื่อแผ่นดินอีสานในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ เรามักจะได้เห็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสองขั้วที่แตกต่างกันและอยู่ตรงข้ามกัน นั่นคือ ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย กับ ฝ่ายเผด็จการ หรือ ระหว่างฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือน หรือจะกล่าวโดยรวมว่า ระหว่างฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม ก็อาจจะเปรียบเทียบได้ กระทั่งบางยุคสมัยก็มีการเปรียบเปรยว่า เป็นการต่อสู้ระหว่าง ฝ่ายเทพ กับ ฝ่ายมาร

 

เหตุการณ์ทางการเมืองดังกล่าว ได้ปรากฏภาพการเมืองในอดีตให้เห็น ช่วงปี พ.ศ.2475 เป็นการต่อสู้ระหว่างคณะเจ้า กับ คณะราษฎร หรือ ระหว่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับ ฝ่ายประชาธิปไตย แต่เมื่อการเมืองไทยเข้าสู่วัฏจักรแห่งความชั่วร้ายของการปฏิวัติและรัฐประหาร จึงได้เกิดการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับเผด็จการทหารในยุคนั้นๆ

 

อย่างไรก็ตาม เราจะพบว่ามีหลายครั้งหลายหน ที่นักการเมืองมีความพยายามที่จะสร้างกลุ่มก้อนทางการเมืองใหม่ หรือให้มีทางเลือกที่มากกว่า 2 ทางเลือก เพื่อให้เป็นทางออกของประชาชนและประเทศชาติ แต่ความพยายามการแสวงหาทางออกและการก่อเกิดของกลุ่มการเมืองดังกล่าว ก็ได้ถูกกลุ่มผู้มีอำนาจทำลายล้าง จนไม่สามารถที่เติบโตขึ้นมาได้ในผืนแผ่นดินอีสาน ดังปรากฏตัวอย่างให้เห็นจากเรื่องราวชีวประวัติการต่อสู้ทางการเมืองของ 4 ส.ส.รัฐมนตรีชาวอีสาน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สะท้อนภาพทางการเมืองในอดีตให้เห็นเด่นชัดอย่างยิ่ง ของการเมืองยุคอดีตหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่บรรยากาศทางประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบานและเริ่มต้นขึ้น

ในช่วงของการเมืองในระบบรัฐสภาที่มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2476-2490 เป็นช่วงเวลาเข้าสู่ยุคทมิฬ หรือวิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง ในสมัยการเมืองโดยคณะรัฐประหารของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ จอมพลผิน ชุณหะวัน ได้กระทำต่อบุคคลที่ไม่ลงรอยทางการเมืองกับตนจำนวนมาก ด้วยการฆ่าและปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมและทารุณ

 

กลุ่ม ส.ส.อีสานกลุ่มหนึ่ง ได้พยายามทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่จากวงนอกและจากชายขอบ เป็นปากเสียงและต่อรองให้ผู้ที่อยู่นอกศูนย์กลางของอำนาจ ด้วยการพยายามที่จะปลูกฝังระบอบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีหัวใจสำคัญที่ระบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง โดยให้ ส.ส.จากทั่วประเทศเข้ามามีบทบาทในส่วนกลาง ได้ทำการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารและคัดค้านอำนาจของรัฐบาล เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะคนอีสานที่ถูกทอดทิ้งไร้การดูแลที่เป็นธรรม

 

4 ส.ส.รัฐมนตรีชาวอีสาน ที่ผมต้องขอยกย่องว่าเป็นนักการเมืองและนักต่อสู้เพื่อชาวอีสานอย่างกล้าหาญอย่างยิ่งก็คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายจำลอง ดาวเรือง, นายถวิล อุดล, นายเตียง ศิริขันธ์ โดยนอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งท่านที่ควรได้พูดถึงและยกย่องบทบาทการต่อสู้เอาไว้ด้วยคือ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ บุคคลทั้ง 5 ท่านนี้ ล้วนเป็นผู้ที่เกิดในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งสมควรจะได้กล่าวถึงเกียรติประวัติและการต่อสู้ของบรรดาท่านนักการเมือง นักต่อสู้ของประชาชน เพื่อแสดงให้เห็นว่า นักการเมืองชาวอีสานในอดีตล้วนแต่ได้แสดงบทบาททางการเมืองที่น่าชื่นชมและมีเกียรติยิ่ง สมควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักการเมืองอีสานยุคปัจจุบันในการเจริญรอยตาม จึงขอนำเรื่องราวของนักการเมืองอีสานดังกล่าว มาบอกเล่าเพื่อการศึกษาและเปรียบเทียบกับนักการเมืองยุคปัจจุบัน

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี

 

เริ่มจาก นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี นักต่อสู้ท่านนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ส.ส.ที่สนใจติดตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณมากที่สุดคนหนึ่ง จากคำอภิปรายในสภาของเขาว่า "เราจะเริ่มสร้างบ้านด้วยการสร้างรั้ว หรือเราจะเริ่มสร้างบ้านด้วยการลงเสาเสียก่อน"

 

ทองอินทร์ เป็นแกนนำเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองมาโดยตลอด และมาปรากฏตัวภายใต้ชื่อ "พรรคสหชีพ" ใน พ.ศ.2489 ทองอินทร์เป็นผู้มีความกล้าหาญ พูดจามีเหตุผล จึงถือเป็นปัญญาชนจากภาคอีสานคนหนึ่งที่มีประสบการณ์อยู่ในเวลาคาบเกี่ยวระหว่างสมัยใหม่กับสมัยเก่า คือ ในขณะนั้นภาคอีสานกำลังมีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็คือ การปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย โดยภาคอีสานมีฐานะเป็นจังหวัดขึ้นมา(สมัยรัชกาลที่ 5 )

 

บทบาททางการเมืองของ ทองอินทร์ ในสภา ได้แก่ ความพยายามทำหน้าที่เป็นตัวแทนของราษฎร ด้วยการนำเสนอปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร รวมถึงอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการในระดับท้องถิ่น ตลอดจนได้นำเสนอแนะวิธีการแก้ไข จนในที่สุดรัฐบาลรับทราบและนำแนวคิดไปพัฒนาประเทศจนเป็นรูปธรรม และทองอินทร์ยังได้เคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณกระจายลงสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้นกว่าเดิมในหลายด้านแบบแถวหน้ากระดาน โดยเน้นด้านการศึกษาการกสิกรรม และ เศรษฐกิจของประเทศ

 

นอกจากนี้ ทองอินทร์ ยังเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ในการออกกฎหมายและตรวจสอบการบริหารของรัฐบาลให้ดำเนินไปตามนโยบาย และเขาเป็นผู้ผลักดันให้ ส.ส.เป็นสถาบันการเมืองอิสระ ถ่วงดุลอำนาจกับสถาบันอื่น จนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

ส่วนบทบาทภายนอกสภา ทองอินทร์ใช้วิชาชีพทนายความโดยเน้นเป็นตัวกลางในการประนีประนอมความขัดแย้ง ให้แก่ลูกความมากกว่าการแสวงหารายได้ เขาจึงเป็นปัญญาชนและได้รับการยกย่องยอมรับจากชาวอุบลราชธานีทุกระดับชั้น ทั้งที่เป็นชาวอีสานเชื้อสายจีนในเมือง ส่วนบทบาทในสภาสองสมัยของ นายทองอินทร์ ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อวิถีขีวิตของชาวอีสานมากมาย

 

ตำนานการต่อสู้ของ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ได้กลายเป็นตัวแทนของนักการเมืองในอุดมคติให้แก่อนุชนรุ่นหลัง เพราะทองอินทร์ได้แสดงออกถึงการเป็นนักการเมืองที่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง มีอุดมการณ์ มีเป้าหมายและมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการเข้าไปทำงานการเมือง จึงทำให้เขาได้รับการยกย่องจากประชาชนชาวอีสานให้เป็น "ปัญญาชนคนอีสาน" อย่างแท้จริง