8 ปี รัฐบาล-คสช. ควรไปต่อหรือพอกันที

03 มิ.ย. 2565 | 08:15 น.
1.1 k

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

หลังปรากฏการณ์ "ชัชชาติแลนด์สไลด์" ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ ถือเป็นบรรยากาศและอารมณ์ทางการเมืองของประชาชนคนเมืองใหญ่ ที่สะท้อนภาพจำลองการเมืองของประเทศ บ่งบอกให้เห็นถึงความคิดความรู้สึกของทุกชนชั้นในสังคม ที่มีต่อรัฐบาลผลิตผลของคสช.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2565 ในวาระครบรอบ 8 ปี ของการยึดอำนาจโดย คสช.พอดิบพอดี คำถามดังๆ ที่อื้ออึงไปในสังคมโดยทั่วไปขณะนี้คือ “รัฐบาลลุงตู่” ควรไปต่อหรือควรจะพอแค่นี้ เสถียรภาพและสถานะในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงสถานะอยู่ต่อไปอย่างไร 
 

แม้จะเป็นผลการเลือกตั้งของจังหวัดเดียว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งกทม. ของพลังฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลหรืออาจมองว่าเป็นความพ่ายแพ้ของพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็ย่อมมองได้ว่าเป็นเช่นนั้น ซึ่งพลังอนุรักษ์นิยมส่วนนี้นี่แหละ ที่สนับสนุนคอยค้ำจุนรัฐบาลลุงตู่ ให้ยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงมาตลอดจนครบ 8 ปี และเป็นพลังสำคัญที่ต้านยันกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างเข้มแข็งที่สุด อย่างมิอาจปฏิเสธได้
 

8 ปี รัฐบาล คสช.และ 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นช่วงเวลา และวาระสำคัญยิ่งที่ทีมงานการเมืองของนายกฯ จะต้องหันมาสำรวจและวิเคราะห์ตนเองของนายกลุงตู่ ว่าจะอยู่ต่อหรือพอแค่นี้ เพื่อส่งมอบระบอบประชาธิปไตย ให้กับพรรคการเมืองและประชาชนช่วยกันประคับประคองต่อไป หรือยังคิดว่า พี่น้อง 3 ป. ยังต้องควรอยู่ในอำนาจ เพราะคิดว่าตนยังมีหน้าที่ทำงานให้บ้านเมืองต่อไป 
 

นี่จึงเป็นโจทก์ใหญ่ที่สุด ที่นายกรัฐมนตรี ต้องตีโจทก์ของตนเองให้แตก วิเคราะห์สำรวจตนเองให้ถูกต้องกับความเป็นจริงที่สุด หากมองผิดวิเคราะห์พลาด ก็อาจเดินทางผิดและจบไม่สวยได้ เพราะความเป็นผู้นำเมื่อขึ้นสู่อำนาจได้ ต้องเรียนรู้การลงจากอำนาจให้เป็น

 

ผู้เขียนวางตนเป็นอิสระ กำหนดจุดยืนของตน ไม่เป็นฝ่ายของใครในทางการเมือง ยึดเอาประโยชน์ชาติ ประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้งมานานแล้ว พยายามคิดดีและปารถนาดีกับทุกคน ที่ทำความดีกับบ้านเมืองเป็นสำคัญ เมื่อมีผู้ถามประเด็นนี้ จึงขอตอบตรงไปตรงมาครับ จากคนที่เห็นด้วยกับการเข้ามายุติวิกฤติการเมืองของ คสช. เมื่อปี 2557 แต่มิใช่เห็นด้วยทุกการกระทำ เพียงแต่ท้วงติงอย่างมิตรไม่ใช่ศัตรูเท่านั้นเอง
 

1. คสช.และรัฐบาลลุงตู่ เกิดขึ้นและเข้ามาอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในภาวะวิกฤติที่สุดในช่วง 4 ปีแรก คือปี 2557-2561 วิกฤติอย่างไรต้องไปเปิดดูภาพบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองขณะนั้น ว่าทักษิณกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำอะไรไว้บ้างกับบ้านเมือง จนเป็นสาเหตุให้ประชาชนเรียกร้อง คสช.เข้ามาหยุดวิกฤติ
 

2. การปฎิวัติยึดอำนาจในขณะนั้น สามารถหยุดวิกฤติ แก้ปัญหาความไม่สงบในบ้านเมือง คืนความสงบสุข แก้วิกฤติทางสังคมและปัญหาทางเศรษฐกิจ ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติและดีขึ้นโดยลำดับได้ในระดับหนึ่ง และถือเป็นทางออกเดียวของบ้านเมืองในขณะนั้น แม้พวกโลกสวย พวกประชาธิปไตยจ๋า จะไม่ยอมรับ แต่ก็ปฏิเสธโลกของความจริงมิได้
 

3. ช่วง 4 ปีหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการเลือกตั้ง (2562-2565) การเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ฯ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ที่ประชาชนยังยอมรับได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แม้จะมีข้อตำหนิบ้างก็ตาม รัฐบาลเลือกตั้งยังทำหน้าที่ได้ดีและแก้ปัญหาบ้านเมือง สามารถคลี่คลายวิกฤติโควิดได้ รัฐบาลยังไม่มีเรื่องทุจริตฉาวโฉ่จนประชาชนมิอาจทนได้
 

4. บ้านเมืองมีความสงบสุข มีการพัฒนาและมีความเจริญก้าวหน้ามากตามสมควร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก้าวหน้าไปมาก การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์สอบผ่าน เศรษฐกิจที่ไม่ดีได้รับผลกระทบทั่วโลก แม้อาจจะไม่ดีที่สุดก็ตาม

 

5. การปฏิรูปการเมือง ปฎิรูประบบราชการและหน่วยงานสำคัญๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอื่นๆ น่าจะเป็นผลงานที่ไม่มีความก้าวหน้าที่สุดของรัฐบาล อาจถือเป็นความล้มเหลวก็ได้
 

สรุป รัฐบาลมีผลงานด้านที่ดี และด้านที่ล้มเหลว แต่ด้านที่ดียังมีมากกว่า จึงอยู่มาได้ตราบปัจจุบัน
 

คำถาม ณ สถานการณ์ปัจจุบัน คือ ลุงตู่กับพี่น้อง 3 ป. ควรอยู่ในอำนาจต่อไปหรือไม่ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้จงหนัก และต้องพึงตระหนักว่า
 

1. การที่ประชาชนยกมือ ไชโย ต้อนรับการหยุดอำนาจทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ เพราะต้องการความสงบสุข หยุดรัฐบาลโกง ยุติวิกฤติของบ้านเมืองเท่านั้น มิได้ต้องการยกอำนาจโดยเด็ดขาดให้แก่คณะ คสช. ตลอดไปแต่อย่างใด
 

2. รัฐบาลและ คณะ คสช.อยู่ในอำนาจ 8 ปี ถือว่าเป็นระยะเวลามากพอแล้ว จบภารกิจที่ได้รับความยินยอมจากประชาชนแล้ว จึงไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะอยู่ในอำนาจตลอดไป เว้นแต่เข้าสู่กระบวนการทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย
 

3. ประชาชนไทยโดยพื้นฐานต้องการระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องการผู้นำทางการเมืองที่มาตามระบอบอันเป็นที่ยอมรับในทางสากล และเป็นผู้นำประเทศที่สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ผู้นำทางทหารจึงมิใช่บุคคลที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน เว้นแต่บ้านเมืองวิกฤติ การเมืองเน่าเฟะ ทุจริตคดโกงใช้อำนาจโดยมิชอบและเป็นเผด็จการ จนระบอบการเมืองปกติมิอาจควบคุมตรวจสอบได้
 

4. ผลสำรวจประชามติของทุกสำนัก ล้วนชี้ให้เห็นถึงความนิยมต่อตัวนายกรัฐมนตรี ลดลงมาโดยลำดับ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนต้องการผู้นำทางการเมืองแบบประชาธิปไตย มิใช่ผู้นำแบบทหาร เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป
 

จากสภาพความเป็นจริงและความเปลี่ยนแปลงไปของสถานการณ์บ้านเมือง และสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก ทั้งภาวะสงครามทางเศรษฐิจ และความขัดแย้งของโลกและภูมิภาค ความจำเป็นและความเรียกร้องผู้นำที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อสถานการณ์ จึงเป็นสภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประชาชนโดยทั่วไปมิได้เบื่อหน่าย หรือ จงเกลียดจงชังรัฐบาล และลุงตู่ เพราะเหตุประพฤติตนไม่ดี นายกรัฐมนตรีและพวกทุจริตโกงกินจนสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง และไม่สมควรอยู่ในอำนาจแต่อย่างใด 
 

เพียงแต่ประชาชนเห็นว่า รัฐบาล คสช. อยู่ในอำนาจมานานมากพอสมควรแล้ว ควรคืนอำนาจแก่ประชาชน ส่งมอบระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชน และพรรคการเมืองต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตย ช่วยกันประคับประคองบ้านเมืองต่อไป เพื่อให้มีผู้นำประเทศตามระบอบประชาธิปไตย ที่สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองและโลกยุคปัจจุบันเท่านั้น นี้คือความรู้สึกโดยทั่วไปของประชาชน ที่นายกรัฐมนตรีและคณะ คสช.ที่สืบต่ออำนาจมาจนถึงปัจจุบัน จึงต้องควรพิจารณาให้จงหนักว่า ควรอยู่ต่อหรือควรพอแค่นี้
 

บุคคลสำคัญทางการเมืองของบ้านเมือง อย่าง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้สร้างแบบอย่างแห่งการขึ้นสู่อำนาจและลงจากอำนาจอย่างสง่างามไว้แล้ว จนได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ แม้พรรคการเมืองต่างๆยินยอมพร้อมใจ ขอให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ป๋าเปรมก็ปฏิเสธ และตอบว่า "ป๋าขอพอ" จึงหวังว่านายกรัฐมนตรี จะได้ถือเป็นแบบอย่างและเดินรอยตามรัฐบุรุษของแผ่นดิน ดีกว่าต้องลงจากอำนาจเพราะประชาชนขับไล่ จึงเรียนมาด้วยความเป็นปิยะมิตร ครับ