คนอีสานจากอดีต-ปัจจุบัน กับทางเลือกใหม่ ของการเมือง (2)

29 มิ.ย. 2565 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2565 | 09:28 น.
1.9 k

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์-กำเนิดแผ่นดินอีสาน คนอีสานเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ เป็นชาติพันธุ์ที่มีเกียรติ เป็นที่รวมของชนชาติต่างๆ ที่เป็นผู้ให้กำเนิดแผ่นดินอีสาน ในทางการเมืองอีสานถือว่าเป็นดินแดนของนักการเมือง นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมทางชนชั้น และเพื่อความถูกต้องเป็นธรรมของประชาชนผู้ถูกกดขี่ กระทั่งเป็นจุดกำเนิดของนักปฏิวัติทางสังคมจำนวนมากซึ่งจะได้กล่าวในตอนต่อไป 


คนอีสานจึงควรภูมิใจในเกียรติประวัติของตนและบรรพบุรุษ ที่ได้ร่วมกันสร้างแผ่นดินนี้ให้ยิ่งใหญ่และดำรงอยู่มาถึงตราบปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดียังมีผู้คนจำนวนไม่น้อย ไม่ค่อยจะรู้จักที่มาแห่งชาติพันธุ์และเกียรติประวัติแห่งแผ่นดินอีสานของตน รวมถึงคนภาคอื่นๆ มักจะมองคนอีสานในลักษณะดูถูก จึงขอนำเรื่องนี้มาเล่าสู่ฟังพอสังเขป

อีสาน เป็นชื่อเรียกพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย


คำว่า "อีสาน" มีรากมาจากภาษาสันสกฤตสะกดว่า "อีศาน" หมายถึงนามพระศิวะ ผู้เป็นเทพยดาประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และชื่ออีศานเคยใช้มาแล้วเมื่อราวหลัง พ.ศ.1000 ในชื่อรัฐว่า "อีศานปุระ" และชื่อพระราชาว่า อีศานวรมัน แต่คำบาลีเขียน อีสาน ฝ่ายไทยนำรูปคำจากบาลีมาใช้ หมายถึง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่นิยมเรียกกันจนติดปากว่า "ภาคอีสาน" ได้เริ่มใช้เป็นทางการเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อราว พ.ศ.2442 ในชื่อมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก่อนหน้านั้นเรียกว่า "หัวเมืองลาว" ในสมัยโบราณภาคอีสานเคยเป็นอาณาจักรขอมก่อนจะตกมาเป็นของไทย เนื่องจากเมื่อประมาณ พ.ศ.1000 พวกละว้าเสื่อมอำนาจลง ขอมจึงเข้ามามีอำนาจแทน และตั้งอาณาจักรเจินละหรือ "อิศานปุระ" ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีชนชาวเขมรและส่วยปะปนอยู่กับชนชาติไทยทางตอนใต้ ส่วนทางตอนเหนือและตะวันออก มีชนชาวเวียดนามเข้ามาปะปนอยู่บ้าง นอกจากนั้น ยังมีชนชาติอื่นอยู่ทั่วไปทั้งที่เป็นจีนแท้ และลูกผสม


ด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมทวารวดี ที่แพร่ขยายครอบคลุมดินแดนอีสาน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-14 และขยายอิทธิพลสูงมากที่สุดในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-18 ต่อมาเมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1761) อิทธิพลของขอมในแผ่นดินอีสานเริ่มเสื่อมลง หัวเมืองภาคอีสานของไทยนับตั้งแต่หนองหานลงไปจนถึงเมืองร้อยเอ็ด ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของสุโขทัย ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงในปี พ.ศ.1827 


เมื่อถึงสมัยพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ.1893 แขวงเมืองร้อยเอ็ด ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอยุธยา และต่อมาเมื่อไทยเริ่มมีอำนาจและเข้าครอบครองดินแดน และได้มีการอพยพคนเข้ามาตั้งหลักแหล่งเพิ่มมากขึ้น ราชอาณาจักรไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงมีอาณาเขตกว้างขวางมาก


สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ.2200 มีชาวกวยกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากเมืองอัตปือแสนแป (แสนปาง) ในแคว้นจำปาศักดิ์ ข้ามลำน้ำโขงมาสู่ฝั่งขวาแล้วเดินเลียบตามเชิงเขาพนมดงรัก จนถึงดินแดนเมืองรัตนบุรี (สุรินทร์) แล้วแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานตามที่ต่างๆ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้แผ่นดินอีสาน เป็นดินแดนที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่อดีต 


โดยมีแหล่งชุมชนโบราณจำนวนมากกระจายอยูบริเวณลุ่มแม่น้ำชีและลุ่มแม่น้ำมูล โดยแบ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมทวราวดี ซึ่งนิยมทำคูน้ำคันดินเป็นวงรี หรือวงกลมรอบเมือง และกลุ่มวัฒนธรรมขอมเดิม มักทำผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีการขุดบารายไว้เป็นแหล่งน้ำในเมือง ด้วยเหตุนี้ จึงจะเห็นได้ว่า "คนอีสาน" เป็นชาติพันธุ์ที่มีหลักแหล่งอยู่อาศัยในแผ่นดินอีสานมาต่อเนื่องยาวนาน มีวัฒนธรรมที่เจริญและหลากหลาย


ดินแดนอีสานเป็นเขตแห้งแล้ง ลักษณะเป็นที่ราบสูง มีขอบยกสูงคล้ายสี่เหลี่ยมแล้วลาดลงตรงกลางเป็นแอ่งคล้ายก้นกระทะ บริเวณผืนดินอันกว้างใหญ่ที่เรียกว่า "ทุ่งกุลาร้องไห้" จะมีแม่น้ำสำคัญ 3 สายพาดผ่านคือ แม่น้ำโขง, ชี, มูล และ มีหนองน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ หนองหานหลวง (จังหวัดสกลนคร) และ หนองหาญน้อย (จังหวัดอุดรธานี) 


โดยภาคอีสานปัจจุบันมีเนื้อที่มากที่สุดของประเทศไทย คือประมาณ 168,854 ตารางกิโลเมตร หรือมีเนื้อที่เทียบได้กับ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดของแผ่นดินไทย จึงจัดได้ว่า ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศ และมีความหลากหลายของเชื้อชาติมากที่สุด เพราะเป็นดินแดนอันมั่งคั่งทางอารยธรรม จึงมีการเรียกแผ่นดินนี้ว่า สุวรรณภูมิ หรือ อุษาคเนย์โบราณ ซึ่งสิ่งนี้ควรถือเป็นสมบัติอันล้ำค่า ที่คนอีสานควรภาคภูมิใจ ควรรักษาเกียรติภูมิของตนที่จะไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ใครง่ายๆ


แผ่นดินไทยปัจจุบันได้แบ่งเป็น ภาคเหนือ กลาง ใต้ และ อีสาน รวมปึกแผ่นเป็นคนไทย อยู่ในผืนแผ่นดินไทยเดียวกัน แม้คนอีสานจะถูกเรียกว่าลาวอีสาน ก็อย่าได้อายที่จะยอมรับ ถึงแม้จะเป็นคนเว้าลาว ฟังหมอลำ กินปลาแดก (ปลาร้า) ก็จงภูมิใจที่เราเกิดเป็นคนไทยในภูมิภาค เป็นสายเลือดวงศ์วานเชื้อสายชาติพันธุ์ของบรรพบุรุษไทย ของคนอีสานที่ควรสำนึกในคุณแผ่นดิน เคารพในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นตน 


เมื่อรวมชาติรวมแผ่นดินเป็นประเทศไทย ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ทุกพระองค์ได้ทรงงานหนัก ต่อสู้เพื่อดำรงความเป็นชาติไทยมาได้ตราบปัจจุบันนับหลายร้อยปี เราชาวอีสานจึงควรมีความรักชาติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ 


ประชาชนคนอีสาน จึงควรมีส่วนร่วมในการสร้างการเมืองใหม่ที่สร้างสรรค์ และนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ให้แผ่นดินอีสานได้พบและมีทางเลือกใหม่ทางการเมือง มิควรนำพาตนไปจมปลักอยู่กับการเมืองเดิมๆ ที่ฉุดรั้งแผ่นดินอีสานให้ตกต่ำอีกต่อไป