เหลียวหลัง แลหน้า สังคมไทยไปทางไหนดี

15 มิ.ย. 2565 | 12:09 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2565 | 19:16 น.
1.2 k

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย... ประพันธุ์ คูณมี

เช้าวันนี้ จิบกาแฟนั่งดูข่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของบ้านเมือง ในช่วงวัยที่กำลังก้าวสู่ความอาวุโส ทำให้หวนคิดคำนึงถึงการเดินทางของชีวิตในวัยที่ผ่านมา บางครั้งดูเหมือนเวลาผ่านไปช้าๆ หากมองไปข้างหน้า ครั้นเมื่อหันมองไปข้างหลังย้อนกลับไปที่อดีต ชีวิตช่างก้าวไปรวดเร็วเสียเหลือเกิน 
 

ย้อนมองกลับไปเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนประถมมัธยม เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ยังมีภาพจำในอดีตเหมือนผ่านไปไม่นาน แต่นับเรื่องราวเหตุการณ์ชีวิตที่ผ่านมา แบบเหลียวหลังและมองไปข้างหน้า ชีวิตผู้เขียนก็ผ่านโลกผ่านเหตุการณ์อะไรต่อมิอะไรมาไม่น้อย ถึงวันนี้ก็ย่างเข้าวัยของพวกสูงวัย (สว.) ซ่ะแล้ว คือก้าวสู่วัยเลข 6-7 นำหน้าแล้วครับ 
 

เมื่อต้องมีหน้าที่เขียนบทความ ส่งให้กับ “ฐานเศรษฐกิจ” เป็นประจำ และต้องเขียนในช่วงเวลาที่ครบรอบวันเกิดของตน เลยต้องขออนุญาตย้อนอดีตที่ผ่านและมองไปข้างหน้าสักวันครับ 
 

ด้วยความเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของประเทศชาติ บ้านเมือง เคยสัมผัสชีวิตทางการเมือง การปฏิวัติสังคมมาตั้งแต่เยาว์วัย เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษามาจนถึงปัจจุบัน จึงต้องถามตัวเอง คอยมองเหลียวหลังแลหน้าอยู่เสมอว่า จากนี้ไปบ้านเมืองของเราจะเป็นอย่างไร ชีวิตที่เหลือเราจะอยู่ในสังคมแบบไหน ประเทศของเราจะก้าวเดินไปในทิศทางใดกันดี

เมื่อพลิกดูภาพเก่าๆ ที่เพื่อนส่งต่อกันมาทางไลน์ ก็พบวาทะและคำคมของบุคคลสำคัญของโลกและในบ้านเมืองของเราหลายท่าน อ่านแล้วรู้สึกว่าโดนใจเข้ากับบรยากาศของบ้านเมืองในยามนี้ เสียเหลือเกิน จึงอยากจะนำมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง อย่างน้อยก็เป็นคติเตือนใจ หรือให้ปัญญา ทำให้เราท่านทั้งหลายได้คิดอ่านร่วมกันว่า บ้านเมืองของเราที่เริ่มมีเค้าความวุ่นวายจากการประท้วง หรือ จุดเปลี่ยนทางการเมืองที่กำลังจะมาถึง เราจะเลือกหนทางอนาคตแบบไหนดี ท่านทั้งหลายลองอ่านและพิจารณาว่า บ้านเมืองของเราเจอแบบนี้ไหม แล้วเราจะเอาแบบไหนกันดี กับอนาคตของบ้านเมืองของเรา
 

คนแรกคือ โสกราตีส นักปราชญ์ชาวกรีก ที่มีชื่อเสียงมานับพันๆ ปีทำไมโสเกรตีสจึงเกลียดประชาธิปไตย โดยเขากล่าวว่า "การให้ประชาชนออกเสียงโดยที่พวกเขาไม่ได้รับการศึกษา หรือการอบรม ถือว่าเป็นความไม่รับผิดชอบ เพราะว่ามันจะเหมือนกับการส่งคนที่ไม่มีความรู้การเดินเรือให้ควบคุมเรือแล่นในท้องทะเล ในขณะที่มีพายุร้ายพัดกระหน่ำ"
 

ฟังดูแล้วมันคล้ายบ้านเราหรือเข้าเคล้าไหมครับ ว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบปกครองที่ใช้กับพลเมืองอย่างไร คนที่มีวุฒิภาวะ มีการศึกษาอบรมในระดับใดจึงจะดีและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม
 

คนที่สองคือ อับราฮัม ลินคอร์น ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา คนนี้กล่าวไว้ตรงเป้าเลยครับว่า "เผด็จการยังไม่น่ากลัวเท่าประชาธิปไตยจอมปลอม" วาทะนี้จะโดนใครบ้างไม่ทราบ แต่ก็เป็นปัญหาถกเถียงกันเอาเป็นเอาตายในบ้านเมืองเรามาทุกยุคสมัย เพราะบ้านเมืองเรามีการปฏิวัติยึดอำนาจ สลับไปมากับการเมืองแบบประชาธิปไตยจอมปลอม จนไม่รู้ว่าอย่างไหนดีกว่ากัน แต่ต้นตำรับประชาธิปไตยจ๋าอย่างอเมริกา เป็นผู้ให้คำตอบชัดแจ้งดั่งแสงตะวัน

คนที่สามคือ ขงเบ้งครับ เขากล่าวว่า "บ้านเมืองเราจะฉิบหาย ไม่ใช่เพราะว่ามีคนเลว แต่จะฉิบหายเพราะคนเลวคิดว่าตนเป็นคนดี" บ้านเราจะมีแบบนี้หรือไม่ไม่ทราบ ดูกันเอาเองครับว่า ที่ผ่านมาเรามีผู้ปกครองที่เลวแล้วคิดว่าตนเป็นคนดีมีไหม ขณะนี้มีชีวิตอยู่ในแผ่นดินไทยหรือไม่
 

แต่คำคมที่น่าจะตรงกับการเมืองบ้านเราที่สุด ผมเห็นมี 3 ท่านคือ 1.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ท่านกล่าวไว้ว่า "รัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหา คณะปฏิวัติเป็นเพียงปลายเหตุ "คนโกง"ต่างหาก...คือต้นเหตุ" วาทะนี้ น่าจะตอบปัญหาคาใจคนไทยหลายคน ที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว ปัญหาอยู่ที่จะมองและประเมินปัญหานี้อย่างไร หม่อมคึกฤทธิ์ คือผู้ตอบคำถามเรื่องนี้ตรงที่สุด 
 

ท่านที่ 2 คือ ท่านนายกฯ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภา ท่านกล่าวว่า "ทหารยุคนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตย ธุรกิจการเมือง ทุนนิยมสามานย์ต่างหากที่เป็นมะเร็งร้ายของระบอบประชาธิปไตย" จริงเท็จอย่างไร การเมืองในอดีตที่ผ่านมา ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ไว้แล้ว อยู่ที่ใครจะมองเห็นสัจจะจากความเป็นจริงหรือไม่ต่างหาก หรือจะทำเป็นปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ ทำเป็นมองไม่เห็น

ท่านที่ 3 คือ นางอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกหญิงอเมริกัน ที่เธอกล่าวได้ตรงเป้ามากว่า "ประเทศไม่ได้อยู่ได้เพราะประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ได้เพราะรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ได้เพราะกฎหมาย แต่ประเทศจะยั่งยืนอยู่ได้ก็ด้วยกำลังของพลเมืองดีที่ไม่ดูดาย และไม่ยอมแพ้ต่อคนชั่ว คนทุจริต ที่กัดกร่อนทำลายประเทศชาติ พลเมืองดีจึงต้องยืนหยัดรักษาบ้านเมืองไว้ให้มั่นคง เพื่อลูกหลานรุ่นต่อไป"
 

ฟังมาแล้วทั้งหมดข้างต้น ล้วนเป็นคำคมที่ให้ข้อคิดอันทรงคุณค่าแก่พวกเราที่เป็นพลเมืองในประเทศทั้งสิ้น แต่เราจะคิดอ่านทำอย่างไรให้บ้านเมืองเดินหน้าไปในทิศทางที่ดี ย่อมเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยทุกคน ที่จะต้องมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนบ้านเมืองของเรา ให้ก้าวหน้าไปสู่จุดหมายที่ดีงามร่วมกัน
 

สุดท้ายครับ เพื่อให้ครบเครื่องเรื่องบ้านเมืองไทย คงต้องเอาคำพระในทางพุทธศาสนา มาร่วมคิดและพิจารณาไตร่ตรอง หนีไม่พ้นที่จะต้องนำคำกล่าวเทศนาของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ มากล่าวไว้ปิดท้ายครับ ท่านเทศนาไว้ตรงกับสภาพสังคมไทยอย่างยิ่งว่า
 

"เมื่อไม่มีศีลธรรมเป็นพื้นฐานแล้ว ระบบประชาธิปไตยนั่นแหละจะเป็นระบบที่เลวร้ายที่สุด สิ่งที่น่ากลัวที่สุดใน "สังคม" ไม่ใช่...คนทำชั่วมากขึ้น ไม่ใช่...คนทำดีน้อยลง แต่อยู่ที่...คนเราแยกแยะไม่ได้ว่า "อะไรชั่ว...อะไรดี" ซึ่งดูเหมือนสังคมไทยมีลักษณะเช่นนี้มากขึ้นชัดเจนทุกวัน ยิ่งเทคโนโลยีเจริญ โลกเจริญก้าวหน้าในทางวัตถุ แต่จิตใจมนุษย์กลับมิได้เจริญตามแต่อย่างใดสังคมไทยจึงเต็มไปด้วยข่าวสาร เหตุการณ์ เรื่องราวที่แสดงถึงความไร้ศีลธรรมมากขึ้นแทบทุกวัน และนี่ก็เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในขณะนี้
 

ฟังบรรดานักปราชญ์ ผู้รู้ นักการเมือง บุคคลสำคัญของโลก และระดับประเทศหลายท่าน รวมถึงพระภิกษุผู้ทรงศีล อันที่เคารพกราบไหว้บูชา ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด เกี่ยวกับเรื่องสังคม บ้านเมือง ประเทศชาติ ผู้นำและผู้คนในสังคมที่เป็นพลเมือง ควรยึดถือและปฎิบัติตนอย่างไรแล้ว เราท่านจะได้คำตอบกับตนเองแล้วหรือยังว่า สังคมแบบไหนที่จะดีกับบ้านเมืองของเรา ซึ่งในที่สุดแล้วระบอบปกครองอะไร แบบไหน ก็ไม่สำคัญ เท่ากับเราต้องมีผู้นำและคนดีปกครองบ้านเมือง ทุกสิ่งทุกอย่างชี้ขาดอยู่ที่คน ถ้าผู้นำดี พลเมืองดี ประเทศชาติเจริญครับ ดังที่ นายเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตประธานาธิบดีจีน กล่าวไว้นั่นแหละครับว่า "แมวสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้ ก็ถือว่าเป็นแมวที่ดีเช่นกัน"