ผู้นำรุ่นมิลเลนเนียล จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ธุรกิจ

19 มิ.ย. 2565 | 15:43 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2565 | 22:46 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นคนรุ่นมิลเลนเนียลก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางธุรกิจ ทั่วโลกคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ซึ่งเกิดระหว่างปีค.ศ. 1946 ถึงค.ศ. 1964 กำลังเกษียณอายุในอัตราประมาณ 10,000 คน ต่อวัน ขณะที่คนรุ่นมิลเลนเนียลส่วนใหญ่กำลังดำรงตำแหน่งผู้บริหารอยู่แล้วและมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

 

ทั้งนี้จากการศึกษาเกี่ยวกับภาวะผู้นำในกลุ่มมิลเลนเนียลในปีค.ศ. 2015 ที่จัดทำโดย Virtuali พบว่า 91% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลที่ทำงานในบริษัทมีความต้องการที่จะเป็นผู้นำ และมากกว่าครึ่งของกลุ่มมิลเลนเนียลเหล่านี้เป็นผู้หญิง สิ่งที่น่าสนใจคือรูปแบบภาวะผู้นำรุ่นมิลเลนเนียลจะแตกต่างจากคนรุ่นก่อน 3 ประการต่อไปนี้

              

ความยืดหยุ่นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คนรุ่นมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับสถานที่ทำงานที่มีความยืดหยุ่น มากกว่าคนรุ่นเบบี้บูมหรือคนรุ่นก่อนๆ มีความต้องการที่จะทำงานไม่ยุ่งยากจากโครงสร้างการบริหารที่ซับซ้อน Virtuali พบว่า

ผู้นำรุ่นมิลเลนเนียล จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ธุรกิจ

คนรุ่นมิลเลนเนียล 83 % อยากทำงานในบริษัทที่มีลำดับชั้นการบังคับบัญชาน้อย ขณะที่ American Express ได้ทำการศึกษาพบว่า 75% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลเชื่อว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต้องปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานให้มีความยืดหยุ่น และลดความเข้มงวดลงกว่าในอดีต

              

สอดคล้องกับผลการศึกษาล่าสุดของ Deloitte พบว่า 46% ของคนรุ่นมิลเลนเนียล มองว่าความยืดหยุ่นเป็นคุณลักษณะสำคัญที่สุดของพนักงานในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้อาจหมายถึงการเปลี่ยนไปสู่รูปแบบภาวะผู้นำที่เปิดกว้างและคล่องตัวมากขึ้น เมื่อคนรุ่นมิลเลนเนียลก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้จัดการหรือผู้บริหารระดับสูง 

              

ภาวะผู้นำแบบผู้บริการ (Servant Leadership) แตกต่างจากคนรุ่นก่อนที่ทำงานในโครงสร้างองค์กรแบบลำดับชั้น และซีอีโอเกือบจะเหนือมนุษย์ไปแล้ว ตัวอย่างเช่นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม อาทิ Lee Iacocca, Jack Welch, Richard Branson และ Steve Jobs จากการศึกษาของ Virtuali พบว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลส่วนใหญ่ไม่ต้องการสร้างภาพลักษณ์แบบนั้น โดยเกือบครึ่งของผู้ถูกสำรวจกล่าวว่าการเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้อื่นเป็นแรงจูงใจหลักในการแสวงหาตำแหน่งผู้นำของตน

              

ขณะที่มีเพียง 10% เท่านั้นที่พูดถึงการสืบทอดธุรกิจของครอบครัว และที่น่าสนใจที่สุดคือมีเพียง 5% เท่านั้นที่ต้องการผลประโยชน์ทางการเงิน นอกจากนี้เมื่อถามว่าต้องการเป็นผู้นำแบบไหน 63% ตอบว่า ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคำตอบนี้บ่งบอกถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่ไม่เพียงต้องการปรับปรุงผลลัพธ์ทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังจะช่วยปรับปรุงชีวิตของคนที่ทำงานในธุรกิจนั้นด้วย

 

มี Passion ในเป้าหมายของตนเอง คนรุ่นมิลเลนเนียลต่างจากคนรุ่นก่อนๆ ตรงที่เป้าหมายของพวกเขาความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในงานอย่างมาก ทั้งนี้จากรายงานของ Cone Communications Millennial Employee Engagement Study พบว่าคนรุ่นมิลเลนเนียล 75% ยอมลดค่าจ้างเพื่อให้ได้ทำงานกับบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และ 76% พิจารณาถึงพันธะสัญญาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทก่อนตัดสินใจว่าจะทำงานที่ไหน

              

ขณะที่ผลการศึกษาของ Deloitte รายงานว่า 2 ใน 3 ของคนรุ่นมิลเลนเนียล เลือกบริษัทที่ทำงานเพราะเป้าหมายของพวกเขาสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร และการศึกษาเดียวกันนี้ยังระบุว่ามีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่พึงพอใจในวัฒนธรรมองค์กรที่ขาดเป้าหมาย ซึ่งการมี Passion ในเป้าหมายจะติดตามคนรุ่นมิลเลนเนียลไปจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำ และภาวะผู้นำที่ดีคือการเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน แทนที่จะมุ่งเน้นในการเลื่อนตำแหน่งและผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว

 

แน่นอนว่าไม่ใช่คนรุ่นมิลเลนเนียลทุกคนจะคิดและทำเหมือนกัน แต่ละคนจะมีรูปแบบและแนวทางการเป็นผู้นำในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งความเชื่อที่ขับเคลื่อนคนรุ่นมิลเลนเนียลจะแสดงออกมาในแนวทางที่พวกเขาเป็นผู้นำ และอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานทั่วโลก

 

ที่มา: Sekulich, T. 2021. Three Ways Millennial Leadership is Transforming the Workspace. Available:

https://www.tharawat-magazine.com/grow/three-ways-millennial-leadership/

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,792 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2565