ปัจจัยที่ทำให้ เจ้าของธุรกิจครอบครัว ‘หมดใจ’

27 พ.ค. 2565 | 06:50 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

จากงานวิจัยที่พบว่ามีเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของธุรกิจครอบครัวเท่านั้นที่สามารถก้าวไปสู่รุ่นที่ 2 ได้ ซึ่งมีความเชื่อดั้งเดิมว่าบริษัทเหล่านี้ต้องหยุดกิจการเพราะเจ้าของไม่มีแผนการสืบทอดกิจการ หรือทายาทรุ่นต่อไปไม่พร้อมจะรับตำแหน่งผู้นำ อย่างไรก็ตามพบว่าบางครั้งเจ้าของกลับเป็นผู้ตัดสินใจหยุดดำเนินการเสียเองก็มี

 

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าผลกระทบของเจ้าของที่มีต่อธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเจ้าของและผู้บริหารสามารถสร้างและรักษาคุณค่าของผู้ประกอบการได้ อีกทั้งมีผลต่อทั้งความทุ่มเทและประสิทธิภาพในบริษัท และช่วยบริษัทจัดการความขัดแย้งต่างๆ ดังนั้นหากพวกเขาวางมือออกไปจากธุรกิจก่อนที่ผู้นำคนต่อไปจะพร้อมเข้ามารับช่วงต่อ บริษัทก็อาจต้องปิดตัวลงไปพร้อมกับพวกเขาด้วย

              

มีงานวิจัยจำนวนมากพยายามเจาะลึกถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในงาน และความตั้งใจที่จะอยู่ในธุรกิจต่อไปของเจ้าของและผู้บริหาร โดยศึกษาเจ้าของ/ผู้บริหารของธุรกิจครอบครัวจำนวน 155 ราย ซึ่งดำเนินธุรกิจระหว่างปีค.ศ. 1997 ถึงค.ศ. 2002 ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และการทำแบบสำรวจ เพื่อศึกษาว่าตัวแปร 7 ตัวมีอิทธิพลอย่างไรต่อผลลัพธ์ 2 ด้าน ได้แก่ ความพึงพอใจของเจ้าของ และความตั้งใจของเจ้าของที่จะอยู่หรือออกจากบริษัท

 

โดย 3 ใน 7 ตัวแปร มุ่งพิจารณาลักษณะเจ้าของกิจการ ได้แก่ อายุ ประสบการณ์ที่ผ่านมาในธุรกิจอื่น และเจ้าของเป็นผู้ก่อตั้งหรือไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง ขณะที่อีก 4 ตัวแปร มุ่งพิจารณาลักษณะองค์กร ได้แก่ มีแผนสืบทอดกิจการหรือไม่ ระดับของความขัดแย้ง ความสามารถในการทำกำไรและขยายขนาดกิจการ

ธุรกิจครอบครัว

ทั้งนี้ได้พิจารณาผลกระทบของทั้ง 7 ปัจจัยที่มีต่อ “ความพึงพอใจ” และ “ความตั้งใจที่จะออกหรืออยู่ในธุรกิจ” ของเจ้าของกิจการแยกกัน ซึ่งผลการศึกษาโดยสรุปพบว่าบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรและมีขนาดใหญ่ทำให้เจ้าของมีแนวโน้มที่จะอยู่ในธุรกิจต่อไป ขณะที่ความขัดแย้งอาจทำให้พวกเขาออกจากธุรกิจไปเช่นกัน ดังรายละเอียดข้อค้นพบต่อไปนี้

              

กลุ่มปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจในงาน

1) อายุของเจ้าของและประสบการณ์ก่อนหน้านี้ไม่มีผลต่อความพึงพอใจ อย่างไรก็ตามการเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้ร่วมก่อตั้งทำให้เจ้าของมีความพึงพอใจมากกว่า

2) บริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรทำให้เจ้าของพึงพอใจมาก ขณะที่ความขัดแย้งทำให้เจ้าของไม่พึงพอใจ

3) ขนาดบริษัทและการวางแผนสืบทอดกิจการไม่มีผลต่อความพึงพอใจของเจ้าของกลุ่มปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความตั้งใจที่จะออกจากธุรกิจ

4) มีเพียงอายุของเจ้าของเท่านั้นที่มีผลต่อความตั้งใจที่จะออกจากธุรกิจ ส่วนประสบการณ์ที่ผ่านมาและการเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้ร่วมก่อตั้งไม่มีผลต่อความตั้งใจที่จะออกจากธุรกิจ

5) ลักษณะองค์กรมีผลกระทบมากกว่าลักษณะเจ้าของกิจการ ต่อการที่เจ้าของตั้งใจที่จะอยู่หรือออกไปจากบริษัท โดยบริษัทที่ใหญ่และมีกำไรมากทำให้เจ้าของมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่อมากกว่า และความขัดแย้งทำให้เจ้าของมีแนวโน้มที่จะออกไปจากธุรกิจ ขณะที่การวางแผนสืบทอดกิจการไม่มีผลต่อการที่เจ้าของอยู่หรือออกจากธุรกิจ

 

 

สิ่งที่เจ้าของกิจการต้องตระหนักจากการวิจัยนี้คือลักษณะองค์กรมีผลกระทบมากกว่าลักษณะของเจ้าของกิจการต่อการที่ธุรกิจครอบครัวจะถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป และในขณะที่การวิจัยจำนวนมากมุ่งเน้นไปที่การวางแผนสืบทอดกิจการเพื่อให้แน่ใจว่าการส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จ แต่การวิจัยนี้แนะนำว่าควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆด้วย ตัวอย่างเช่น มีการพบว่า ความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำและความขัดแย้งสูงทำให้เจ้าของพึงพอใจน้อยลงและมีแนวโน้มที่จะออกไปจากธุรกิจมากขึ้น

              

นั่นหมายความว่าเจ้าของกิจการ นักวิจัย และที่ปรึกษาควรมุ่งเน้นที่การช่วยเหลือธุรกิจครอบครัวให้มีผลกำไรมากขึ้น สร้างความมั่นใจว่าเจ้าของจะมีความสุขและไม่ลาออกก่อนที่ผู้นำคนใหม่จะพร้อม โดยอาจมุ่งเน้นไปที่การช่วยให้บริษัทเติบโต ซึ่งพบว่าจะช่วยเพิ่มความเต็มใจของเจ้าของที่จะอยู่ต่อ

 

และการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในการบริหารจัดการ เช่น การทำงานร่วมกันเพื่อลดความขัดแย้ง นอกจากนี้ผู้บริหารและเจ้าของกิจการที่ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีอาจช่วยลดผลกระทบจากการแก่ชรา และช่วยให้การถ่ายโอนกิจการเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,784 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565