แบงก์ชาติทลายกำแพง ปฏิรูประบบการเงินครั้งใหญ่

05 ก.พ. 2565 | 08:00 น.
2.0 k

คอลัมน์ ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ทุกข์ของคนไทยในขณะนี้นอกเหนือจากปัญหาเศรษฐกิจและรายได้ที่ลดลง ยังมีเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงิน ที่เป็นปมทำให้ผู้คนในประเทศมีต้นทุนที่แตกต่างกันก็เป็นเรื่องใหญ่
 

ประเด็นสำคัญที่ทุกคนควรให้ความสนใจอย่างยิ่ง คือ เรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังปฏิรูประบบการเงินครั้งใหญ่ของประเทศ เพื่อเปิดทางให้มีการแข่งขันทางด้านราคา เปิดทางให้มีการนำแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการให้บริการทางการเงินเพื่อให้ต้นทุนของผู้กู้ลดลง
 

ทิศทางที่ธปท.ให้ความสำคัญ ผมประมวลออกมาแล้วพลว่า มีอยู่ 3 ด้าน
 

ด้านแรก กระแสของดิจิทัล การเติบโตของดิจิทัลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนบัญชีบนดิจิทัล ทั้งอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง และโมบายแบงกิ้ง ปัจจุบันเติบโตขึ้น 3 เท่า เป็น 121 ล้านบัญชี จาก 36 ล้านบัญชี 
 

ขณะที่ปริมาณการโอนเงินเติบโตขึ้น18 เท่า และจาก 5 ปีที่ผ่านมา ที่เห็นแบงก์แข่งขันเปิดสาขาแบงก์ แต่ปัจจุบันสาขาแบงก์ปิดไปแล้ว 1.4 พันแห่ง เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงโลกใหม่ที่เติบโต ในขณะที่การทำธุรกรรมผ่านโลกเก่าหดตัวลง
 


ด้านที่ 2 กระแสการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ที่กระทบต่อภาคการเงินไทย โดยปัจจุบันมีเงินไหลเข้าลงทุนในด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร ( AUM) เพิ่มขึ้น 10 เท่า ของ ESG-Funds ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่กว่า 50% ของ Global Aum ที่นักลงทุนเข้าไปลงทุน มุ่งไปสู่ Net Zero ภายในปี 2593
 

ทั้งนี้มองว่า 60% ของการส่งออก จะถูกกระทบจากมาตรการกีดกันด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ CBAM จากสหภาพยุโรปที่กระบทต่อภาคการลงทุนและภาคการเงินไทย
 

ด้านที่ 3 คือ กระแสจากการเข้ามาแข่งขันของผู้เล่นหน้าใหม่ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสินเชื่อรายย่อยประมาณ 40% เติบโตมาจากผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์(นอนแบงก์) เมื่อเทียบกับธนาคารดั้งเดิมเติบโต 24% และมี 500% เติบโตจากสินเชื่อทั่วโลกที่ปล่อยโดยฟินเทค และบิ๊กฟินเทคมีการเติบโตถึง 4,000%
 

อีกทั้งเพื่อรักษาสมดุล ระหว่างนวัตกรรมและความเสี่ยง โดยมีแนวทางการดูแลความเสี่ยงในระยะข้างหน้า เช่นอะไรที่เสี่ยงมาก อาจต้องมีการกำกับที่เข้มขันขึ้น เสี่ยงน้อยอาจมีการผ่อนปรนการกำกับได้ ขณะที่อะไรที่มีความไม่แน่นอนไม่ชัดเจน ไม่ทราบผลกระทบวงกว้างแค่ไหน เหล่านี้ ธปท.จะมีการใส่ราวกั้น เพื่อประเมินความเสี่ยง ซึ่งอนาคตอาจยืดหยุ่น หรือถอดราวกั้นได้ หากพบว่ามีความเสี่ยงไม่มาก เช่น สินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังต้องมีราวกั้น
 


ความสำเร็จจากการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงิน

ธปท. คาดหวังว่าการปรับภูมิทัศน์ของภาคการเงินไทยตามทิศทางที่กล่าวมาข้างต้น จะส่งผลให้ภาคการเงินสามารถทำหน้าที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างราบรื่นและทันการณ์ ตลอดจนสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้อย่างเท่าทัน ดังนี้
 

สร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล​ 

ภาคการเงินใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาบริการทางการเงินและสามารถสนับสนุนการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้การดำเนินการในเรื่อง Open Competition, Open Infrastructure และ Open Data
 

กล่าวคือ จะมีทางเลือกบริการชำระเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนและธุรกิจแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนที่เหมาะสม ด้วยกระบวนการทำธุรกรรมการค้าและการชำระเงินดิจิทัลแบบ end-to-end เช่น ผ่าน e-commerce platform และโทรศัพท์มือถือ
 

 

ควบคู่กับการส่งเสริมทักษะทางการเงินดิจิทัลและการมีช่องทางให้บริการชำระเงินด้วยเงินสดที่มีประสิทธิภาพสำหรับกลุ่มที่ยังไม่พร้อมใช้ digital payment ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ less-cash society โดยสามารถลดการใช้เงินสดด้วยอัตราเร่งเป็น 2 เท่าภายใน 3 ปี และลดการใช้เช็คกระดาษเหลือไม่ถึงร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี
 

มีบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการได้ดีขึ้น ทั่วถึงขึ้น และเป็นธรรมมากขึ้น โดยไม่ส่งเสริมการก่อหนี้เกินตัว จากการที่ผู้ให้บริการทั้งรายเดิมและรายใหม่แข่งขันกัน
 

ข้อมูลการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล (digital footprint) ไปใช้ในการพิจารณาให้สินเชื่อและบริการทางการเงินอื่น ๆ

 

ทำให้ประชาชนและธุรกิจสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้โดยสะดวก มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และเป็นธรรมมากขึ้น
 

ใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ช่องทางดิจิทัล และเทคโนโลยีในการพัฒนานวัตกรรมและปรับปรุงบริการทางการเงิน รวมถึงมีกลไกค้ำประกันเครดิตที่ช่วยสนับสนุนความต้องการเงินทุนของภาคธุรกิจที่หลากหลาย
 

ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการด้วยราคาที่เหมาะสมกับความเสี่ยง (risk-based pricing) และทำให้ SMEs และครัวเรือนที่มีศักยภาพแต่ติดข้อจำกัด เช่น มีประวัติทางการเงินไม่มากพอ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้อย่างเหมาะสม
 

สนับสนุนเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านได้อย่างยั่งยืน​
 


ภาคการเงินสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านท่ามกลางกระแสดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืนที่มาแรงและเร็วกว่าคาด ภายใต้การมีรากฐานสำคัญของระบบนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนกลุ่มเปราะบางอย่างครบวงจรเพื่อให้ปรับตัวและอยู่รอดได้ โดยสามารถประเมินความเสี่ยงและโอกาสจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน และมีความทนทานต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
 

มีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์การปรับตัว ลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยภาคธุรกิจได้รับการจัดสรรเงินทุนอย่างเพียงพอและสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและจำกัดผลกระทบเชิงลบได้อย่างทันการณ์
 

มีการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและตัดสินใจลงทุนหรือให้สินเชื่อได้ดีขึ้น และมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางอยู่รอดและปรับตัวสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน ทั้งการแก้หนี้อย่างครบวงจรเพื่อให้ครัวเรือนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวสามารถบริหารจัดการหนี้และอยู่รอดได้ในระยะยาว
 

การพิจารณาให้สินเชื่อแก่รายย่อยโดยดูแลไม่ให้ลูกค้าก่อหนี้เกินตัว การสร้างภูมิคุ้มกันและเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชนด้วยการเสริมสร้างทักษะทางการเงินและการเงินดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ และสามารถบริหารจัดการการเงินของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 

มีกำกับดูแลยืดหยุ่นเท่าทันความเสี่ยงรูปแบบใหม่​
 


ภาคการเงินสามารถพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินโดยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงสำคัญและความเสี่ยงรูปแบบใหม่ได้อย่างเท่าทันและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ที่ยืดหยุ่นขึ้นและไม่สร้างภาระแก่ผู้ให้บริการทางการเงินมากจนเกินจำเป็น
 

โดยเกณฑ์ของ ธปท. ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวและการแข่งขันกันพัฒนาบริการทางการเงิน
 

ผู้ให้บริการทางการเงินเป็นผู้รับผิดชอบและสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงของตนได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งถูกกำกับตรวจสอบอย่างความเหมาะสมกับความเสี่ยง
 


การกำกับดูแลความเสี่ยงสำคัญและความเสี่ยงรูปแบบใหม่เป็นไปอย่างเท่าทันและมีประสิทธิผล สามารถลดช่องโหว่การบังคับใช้นโยบาย และดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินและผู้บริโภคในวงกว้างได้ เช่น ความเสี่ยงด้าน IT และ cyber ความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบการชำระเงิน ความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจฯ ที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกลุ่มธุรกิจและขยายไปสู่ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและช่องทางดิจิทัลเพื่อต่อยอดไปยังบริการทางการเงิน
 

ทั้งนี้ การปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินให้เกิดผลสำเร็จตามที่คาดหวังนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันกำหนดทิศทางที่เหมาะสมและร่วมกันผลักดันการดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ธปท. จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากท่านเพื่อที่ ธปท. จะได้นำไปปรับปรุงทิศทางและแนวนโยบายการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมต่อไป
 

ใครเห็นอย่างไร ช่วยกันเสนอแนะกันนะครับ