มรสุมมติบอร์ด AOT สึนามิถาโถมใส่คลัง

02 ก.พ. 2565 | 18:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2565 | 01:47 น.
2.3 k

คอลัมน์ ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

มาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปเป็น “บริษัทมหาชน” มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ในการจัดการปัญหาใดๆ ภายใต้การตัดสินใจของคณะกรรมการ แต่มีผลกระทบต่อฐานะการเงิน การคลังขององค์กร และวินัยการเงินการคลังของประเทศ กำลังกลายเป็นปมใหญ่ในการจัดการของประเทศ

 

เมื่อ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหนังสือร้องเรียนไปยังประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ให้ตรวจสอบบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) อาจแก้ไขสัญญากับเอกชนโดยมิชอบทำให้รัฐเสียหาย (ฉบับที่ 7) และให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ผู้บริหารของกระทรวงการคลังด้วย..

 

มรสุมมติบอร์ด AOT สึนามิถาโถมใส่คลัง

 

หนังสือร้องเรียนนี้เกิดขึ้นภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ที่มี คุณประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีมติแก้ไขสัญญากับเอกชนของ ทอท. โดยมีเหตุจากการนโยบายปิดน่านฟ้าของภาครัฐ ประกอบกับเหตุสุดวิสัยจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 รวม 3 ครั้ง

ครั้งแรกเมื่อวันที่19 ก.พ. 2563 ที่ประชุมบอร์ด AOT ครั้งที่ 3/2563 อ้างถึงสถานการณ์โควิด-19 และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี บอร์ดจึงมีมติยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้ผู้ที่ประกอบกิจการในสนามบิน 6 แห่ง ระหว่าง 1 ก.พ. 63 - 31 มี.ค.65 ให้ AOT เรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนเป็น “ร้อยละ หรือ % ” ของรายได้จากยอดขายสินค้าปลอดอากร ก่อนหักค่าใช้จ่าย ค่าภาษี และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แทน

 

มรสุมมติบอร์ด AOT สึนามิถาโถมใส่คลัง

 

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 63 เป็นการประชุมบอร์ด AOT ครั้งที่ 5/2563 มีนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานบอร์ด  มีมติกำหนดอัตราการเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำใหม่ หลังมาตรการเยียวยาสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค. 2565 ให้กลับมาใช้อัตราผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของปี 2562 เป็นฐานคำนวณ และให้ปรับขึ้นตามสัญญาเมื่อผู้โดยสารเริ่มปรับตัวมากกว่าช่วงก่อนวิกฤต

 

ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อ 29 ก.ค. 63 เป็นการประชุมบอร์ด AOT ครั้งที่ 8/2563 ครานี้มีมติขยายระยะเวลาเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ผู้ประกอบการ และสายการบินที่ครบกำหนดชำระ ช่วง ก.พ. – ก.ค. 2563 จาก 6 เดือน ขยายเป็น 12 เดือน

 

สำหรับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ที่ประชุมมีมติขยายเวลาการเข้าปรับปรุงพื้นที่ออกไป และมีมติให้เริ่มต้นนับอายุสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ โดยให้เริ่มนับเดือน เม.ย.2565 - 31 มี.ค.2574 จากที่สัญญาสัมปทานเดิมเริ่มนับอายุตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2563 (รวมอายุสัญญาสัมปทาน 10 ปี 6 เดือน)

 

มรสุมมติบอร์ด AOT สึนามิถาโถมใส่คลัง

คุณธีระชัยเห็นว่า มติดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดผลผูกพันทรัพย์สิน หรือ ก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ขัดต่อบทบัญญัติของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่องการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือ ภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการตามมาตราดังกล่าว “ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี”

 

แต่หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ไม่ปฏิบัติตาม...ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในเรื่องมาตรฐานการปฏิบัติงาน และผลกระทบต่อรายได้ของรัฐ เพราะรัฐวิสาหกิจต้องนำส่งเงินเข้าคลังน้อยลงจากความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

มรสุมมติบอร์ด AOT สึนามิถาโถมใส่คลัง

 

ฝ่าย กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการบริษัท  AOT ยืนยันว่า “การแก้ไขสัญญาในเรื่องให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร หรือประกอบกิจการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ ทอท.นั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ทอท. ตามข้อบังคับของบริษัทท่าอากาศยานไทยภายใต้กรอบของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ. 2535 ไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561”

 

นอกจากนี้ยังเห็นว่า “ทอท.ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เพราะการจัดทำงบประมาณของ ทอท. เป็นไปตามข้อบังคับ ทอท. โดยใช้เงินงบประมาณของตนเอง ไม่ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณจากภาครัฐ ดังนั้น การแก้ไขสัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต ตามมาตรา 27 แต่อย่างใด”

 

ฝ่ายหนึ่งเห็นแย้งว่า พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 4 ไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นสำหรับรัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินงบประมาณของตนเอง หรือรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ  เพราะโดยหลักการทั่วไป สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายในการจัดเก็บรายได้จากประชาชนผู้ใช้บริการหรือสินค้า จึงใช้เงินงบประมาณของตนเอง ไม่ต้องไปขอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ตัวอย่างเช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น

 

มรสุมมติบอร์ด AOT สึนามิถาโถมใส่คลัง

 

ดังนั้น การที่รัฐวิสาหกิจใช้เงินงบประมาณของตนเอง ไม่ได้ขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณจากรัฐบาล จึงไม่มีข้อยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ

 

เพราะอะไรนะหรือขอรับ เพราะผลของการแก้ไขสัญญามีผลกระทบโดยตรงต่อแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 โดย ทอท. ทำเรื่องขอกู้เงินกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และได้บรรจุอยู่ในแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 25,000 ล้านบาท

 

แบ่งเป็นการกู้เงินเพื่อนำเงินไปลงทุนโครงการพัฒนา 4,300 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน

 

และขอกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการ หรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปอีก 20,700 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันเช่นกัน

 

“ถึงแม้กระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกัน แต่การกู้โดย ทอท. ก็นับเป็นหนี้สาธารณะ และถือเป็นภาระทางการคลังประเภทหนึ่งด้วย”นั่นเอง

 

ถึงขั้นที่ระบุว่า การแก้ไขสัญญาที่ ทอท.ดำเนินการไปแล้วนั้น เข้าเงื่อนไขก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ และภาระทางการคลังในอนาคต โดยมีเหตุผลว่า ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐในปีงบประมาณ 2563 ที่เผยแพร่บน เว็บไซต์ของกระทรวงการคลัง รายได้อันดับที่ 1 ของรัฐบาล คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม อันดับที่ 2 เป็นรายได้จากรัฐวิสาหกิจ

 

ต่อมาในปีงบประมาณ 2564 รายได้จากรัฐวิสาหกิจลดลง จากอันดับที่ 2 ไปเป็นอันดับที่ 4 แต่ก็ยังเป็นรายได้สำคัญอย่างยิ่งของภาครัฐ โดยรายได้ที่กระทรวงการคลังได้รับจาก ทอท. อยู่ในอันดับที่ 8 เป็นจำนวนเงิน 7,000 ล้านบาท

 

มรสุมมติบอร์ด AOT สึนามิถาโถมใส่คลัง

 

ดังนั้น การดำเนินการใดที่ส่งผลให้รายได้และกำไรของ ทอท. ลดลง ย่อมจะกระทบต่อเงินที่ ทอท.จะสามารถนำส่งให้เป็นรายได้ของรัฐบาล ซึ่งการแก้ไขสัญญาโดย ทอท.อาจทำให้รายได้จากการให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร และ การประกอบกิจการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ ทอท. ในอนาคตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ทอท. ที่ต้องนำส่งคลังในอนาคตลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ซึ่งมีผลกระทบไปถึงการจัดทำงบประมาณในอนาคต ทั้งในแง่ของการพิจารณาปรับลดรายจ่ายลง หรือ แสวงหาแหล่งรายได้อื่น หรือ เงินกู้มาใช้ทดแทน

 

ดังนั้น การแก้ไขสัญญาเอกชนโดย ทอท. จึงมีผลให้เกิดภาระต่องบประมาณในอนาคต

 

เอาละสิครับ มติช่วยเอกชนของรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กับมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตของคณะกรรมการบริษัทจำกัดมหาชน ที่เอาสิทธิแห่งความเป็นรัฐมาบริหารจัดการ จะออกหัวออกก้อยผมไม่รู้

 

รู้แต่เพียงว่าคณะกรรมการบริษัท AOT แต่ละคนมีโซ่ตรวนพัวพันเท้าไว้ทุกคน

 

และหากผลตัดสินออกมาเป็นเช่นไร จะเป็นมาตรฐานการปฏิบัติของรัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินตัวเองมาบริหารว่า จะตัดขาดจากรัฐโดยสิ้นเชิงหรือไม่ มาตรฐานรัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินงบประมาณจะเป็นเหมือนกันหรือไม่ ในไม่ช้าจะมีคำตอบ!