ควบกิจการ True & DTAC ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับ “ขาใหญ่”

27 พ.ย. 2564 | 08:00 น.
1.2 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ประเด็นการควบรวมกิจการของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ  TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ  DTAC ที่กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และ กลุ่มเทเลนอร์ เห็นพ้องต้องกันในการประกาศเป็นพันธมิตรธุรกิจอย่างเท่าเทียม ผ่านวิธีการปรับโครงสร้างธุรกิจ การจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา และการแลกหุ้นเพื่อทำการควบรวมกิจการระหว่างทั้งสองบริษัทยังกลายเป็นประเด็นร้องของสังคมไทย
 

ร้อนขนาดที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ปัจจุบันกำลังแปลงกายเป็น โทนี่ วู้ดซัม ได้ร่วมสนทนาในรายการ CARE Talk x CARE ClubHouse ได้ตอบคำถามกรณีมีคนตั้งคำถามถึงการควบรวมกิจการระหว่าง True กับ DTAC ว่าจะเป็นการกินรวบประเทศหรือไม่ว่า 

“ถ้ามองในมุมธุรกิจ ต้องยอมรับว่า True หรือ DTAC สู้ AIS ไม่ไหว ก็เลยควบรวมเพื่อให้สู้ได้ วันนี้ตัวเลขแม้แต่ลูกค้าจะมาก แต่การบริหารจัดการถือว่าสำคัญที่สุด เรื่องการคุมต้นทุน เรื่องการลงทุนต่อลูกค้า 1 ราย จะเป็นยังไง อันนี้คือ สิ่งที่วัดผลกัน เขาควบรวมเพื่อหวังจะสู้ได้ เพราะพวกเขาแข่งมาทั้งชีวิตและต้องแข่งต่อไป AIS ถือว่าแข็งในตัวเองอยู่แล้ว 
 

วันนี้การควบรวมยังต้องเอาเงินไปซื้อ กว่าเริ่มได้ก็อีก 3 ปี กว่าที่ True-DTAC จะรวมแล้วแข็งแรง แล้วเอาค่ามารวมกัน ปรับความถี่ใหม่ ต้องอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะเข้าสู่การแข่งขันอย่างจริงจัง แต่ไม่ได้หมายความว่า รวมแล้วลูกค้ามากกว่าแล้วจะมีกำไรดีกว่า...

ก่อนโยนระเบิดลูกใหญ่ไปว่า “ถ้ามองเรื่องการครอบงำ ผมอาจจะไม่ได้ติดตามเท่าไหร่ ที่เมืองนอกเนี่ย ถ้าจะทุนใหญ่ควบรวมกันจนอาจจะการครอบงำตลาด บางที่ต้องขออนุญาตสภาเลยนะ ส่วนในไทยนี่ ผมไม่ทราบว่าระบบตรวจสอบเป็นยังไง ไม่ทราบว่าทำได้แค่ไหน ซึ่งก็เห็นว่าทำได้ตลอด ไม่ค่อยมีหน่วยงานไหนคัดค้าน ไม่รู้ทำไม น่าจะต่างตรงที่ไม่มีชื่อทักษิณ ถ้ามีชื่อทักษิณนะ เขาเอาตายเลย” ...ไม่ต้องพูดมากเจ็บคอ
 

ร้อนขนาดว่า น.พ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ เสนอญัตติด่วนให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาผลกระทบต่อประชาชน “กรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมและการค้าปลีก-ค้าส่ง ตลอดจน ผลกระทบจากการขยายตัวของทุนขนาดใหญ่ที่กระทบต่อทุนขนาดกลาง ขนาดเล็ก เกิดการขยายช่องว่าง ของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เพื่อหามาตรการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภค และธุรกิจ SME
 

เพราะการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมระหว่าง TRUE & DTAC กระเทือนไปยังลูกค้าผู้ใช้มือถือ 52-53 ล้านเลขหมาย จากปัจจุบัน บริษัท เอไอเอส มีลูกค้า 44 ล้านราย บริษัท ทรู มีลูกค้า 32 ล้านราย บริษัท ดีแทค มีลูกค้า 20 ล้านราย จะเกิดการครองการตลาดมากกว่า  50% ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการแข่งขัน การบริการ และราคาค่าบริการ ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนที่เป็นผู้บริโภค
 

อย่างไรก็ตาม แม้ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีอำนาจในการกำกับดูแลตามประกาศเรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (ประกาศแข่งขัน) และประกาศเรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศรวมธุรกิจ)
 

ผมแยกให้เห็นภาพ ประกาศแข่งขัน เน้นหลักการว่า การกระทำหรือพฤติกรรมลักษณะใดเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน และกำหนดกระบวนการไต่สวนว่ามีการกระทำลักษณะเหล่านี้หรือไม่ 
 

ถ้าเห็นว่า “มี” กสทช. ก็มีอำนาจกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำเหล่านั้น 
 

ส่วนประกาศแข่งขัน ได้กำหนดพฤติกรรมต้องห้าม คือ ห้ามการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยเข้าซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์ของผู้ให้บริการรายอื่น เพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจ ไม่ว่าโดยทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน ทั้งหมดนี้ไม่สามารถกระทำได้ (ถือเป็นพฤติกรรมต้องห้าม) ยกเว้นได้รับอนุญาตจาก กสทช.
 

ขณะที่ประกาศรวมธุรกิจ มุ่งเน้นไปที่หลักการว่าอะไรคือ การรวมธุรกิจตามประกาศนี้ และกระบวนการรวมธุรกิจต้องรายงาน กสทช. อย่างไรบ้าง 
 

หากการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ 
 

แต่ดูเหมือนสังคมจะยังตั้งคำถามว่า ตกลง บอร์ด กสทช.จะเอาอย่างไรกับปรากฎการณ์ควบรวมกิจการของ “บิ๊กธุรกิจขาใหญ่” ในด้านบริการโทรคมนาคม 
 

หากการรวมกิจการของ 2 ยักษ์ใหญ่ เข้าลักษณะตามประกาศแข่งขัน กสทช. ย่อมมีอำนาจในการพิจารณาอนุญาต หรือ ไม่อนุญาต แต่หากไม่ทำอะไรเลย หรือปล่อยผ่าน ผมรับประกัน “ช้ำหนัก”
 

สถานการร์ตอนนี้ ลำพังคำสั่งของ กสทช.ให้ 2 บริษัททำแผนเยียวยาผู้บริโภค ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการควบรวมกิจการ รูปแบบการดำเนินการ รายละเอียดและกำหนดเวลาในการควบรวมกิจการ ตลอดจนผลกระทบและแนวทางเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ใช้บริการและตลาดโทรคมนาคม...ไม่พอแน่นอน
 

ผมขอบอกตรงนี้ไปเลยว่า ไม่มีอะไรที่จะฝ่าด่านนี้ไปง่ายๆ แน่ เพราะนี่คือปมใหญ่ที่สังคมตั้งคำถาม 
 

แถมเป็นสังคมแห่งการก้มหน้า ไถไป ไถมา ในวงสังคมนักเลงคีย์บอร์ดเสียด้วยสิ...ผมไม่อยากจะคิด
 

ผมได้พยายามสอบถาม ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ที่ปรึกษาบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด มือกฎหมายด้านการควบรวมกิจการระดับปรมาจารย์ในการควบรวมกิจการว่างานนี้สำเร็จใคร มีเงื่อนปมกฎหมายอย่างไร
 

คุณกิติพงศ์ ชี้ปมนี้ว่า การประกาศควบรวมกิจการการควบรวมกิจการ ระหว่าง TRUE กับ DTAC (Amalgamation) แบบ Equal Partnership และการทำคำเสนอซื้อของกลุ่มบริษัท TRUE และ DTAC กับผู้ถือหุ้นรายย่อยของทั้ง 2 บริษัท ผ่านการแลกหุ้นของบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้น จากการควบบริษัทให้แก่ผู้ถือหุ้น TRUE และ DTAC อันนี้แหละที่เขาเรียกว่า “การควบกิจการ” โดยมีอัตราส่วน 1 หุ้นเติมใน TRUE ต่อ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน DTAC ต่อ 24.503775 หุ้นในบริษัทใหม่
 

นั่นเท่ากับว่า...การควบบริษัทแล้วเกิดบริษัทใหม่ขึ้นมา และยังมีฐานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหมายความว่า ในอนาคตบริษัท TRUE กับบริษัท DTAC จะหายไปโดยผลของกฎหมาย และเกิดเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยการดำเนินงาน เพื่อให้การควบรวมเสร็จสมบูรณ์ จะต้องดำเนินการจัดประชุมกรรมการ ผู้ถือหุ้น และการได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด “ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ กสทช. หรือ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า”  
 

คุณกิติพงศ์ประเมินว่า การควบรวมของธุรกรรมนี้ จะมีมูลค่าประมาณ 250,000 ล้านบาท นับได้ว่าเป็น deal ที่ใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของตลาดทุนไทย 
 

ขณะนี้มีกระแสสนับสนุนการควบรวมของ 2 บริษัทอย่างมาก แต่ยังมีความกังวลของนักวิชาการ และสภาผู้บริโภคในเรื่องการผูกขาด และการมีอำนาจเหนือตลาดก็มีไม่น้อยเช่นกัน 


ดังนั้น ความสำเร็จของธุรกรรมการควบรวมกิจการในนี้ จึงควรจะเป็นความสำเร็จของทุกภาคส่วน หากเกิดขึ้นจริง
 

คุณกิติพงศ์ ชี้ปมอีกว่า สิ่งที่อยากให้พิจารณาหลังจากนี้คือ การควบรวมของธุรกิจจะมีเรื่องทางภาษีเข้ามาเกี่ยวพัน จึงขอให้ผมไปศึกษางานวิจัยส่วนบุคคลของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เรื่อง “ข้อพิจารณาทางกฎหมาย และภาษี ในการซื้อควบรวมกิจการเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจไทย : ศึกษากรณีธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม” 
 

งานวิจัยชิ้นนั้นของ คุณกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ได้เขียนประเด็นทางกฎหมายไว้หลายเรื่องและให้ความเห็นว่า การควบรวมกิจการของกิจการสื่อสารโทรคมนาคมมีความจำเป็น และยังได้เสนอให้มีการพิจารณาควบรวมระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ เดิมมีอำนาจผูกขาดภาครัฐก็ประสบปัญหาที่แข่งขันกับเอกชนไม่ได้ และจึงควรหาโอกาสควบรวมกิจการของรัฐร่วมลงทุนดังกล่าวกับผู้รับสัปทานเพื่อให้สามารถแข่งขันในธุรกิจได้
 

เอกสารวิจัยดังกล่าวได้มีการศึกษาเรื่องการขายหุ้นของ UCOM ให้แก่กลุ่ม DTAC และการขายหุ้นชินคอร์ป ของกลุ่ม AIS ให้กับกลุ่ม Temasek อันเป็นที่มาของวิกฤติการเมืองไทย และต่อมาได้มีกลุ่ม GULF กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน INTUCH ที่ถือหุ้นบริษัท AIS 
 

ผมถามคุณกิติพงศ์ว่า เห็นด้วยหรือไม่ หากมีการควบรวมกิจการกัน คุณกิติพงศ์บอกว่า เห็นด้วย 
 

ก่อนจะทิ้งหมัดเข้ามุมให้ตรึกตรองในอนาคตว่า ถ้าหากการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นของกลุ่ม TRUE และ DTAC ประสบความสำเร็จ ก็จะสร้างปัญหาให้กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ในการแข่งขันธุรกิจกับเอกชนทันที
 

เพราะในอนาคตประเทศไทย จะเหลือผู้เล่นในกิจการโทรคมนาคมเพียง 2 เจ้าใหญ่เท่านั้น คือ กลุ่ม TRUE & DTAC กับ กลุ่ม AIS 
 

ส่วน NT คงเป็นผู้เล่นภาครัฐซึ่งน่าจะยากที่จะแข่งขันกับเอกชนอีก 2 รายต่อไปได้ และบริษัทที่มี Economy of Scale และขนาดใหญ่ย่อมจะอยู่รอดได้
 

“ผมเชื่อว่ากิจการของ NT อาจจะกลายเป็นปัญหาของภาครัฐต่อไปในอนาคต” นี่คือมุมองของปรมาจารย์ทางกฎหมายที่ทิ้งปมให้ขบคิด


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3735 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 28 พ.ย. – 1 ธ.ค.2564