บิ๊กดีล ”TRUE & DTAC” การควบรวมกิจการบนความกลัว

24 พ.ย. 2564 | 14:49 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2564 | 21:56 น.
709

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับความร่วมมือกันของค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ TRUE & DTAC ที่ประกาศจับมือกันเป็นพันธมิตรในการควบบริษัทและเตรียมจัดตั้งบริษัทใหม่ ในรูปแบบของ A+B = C เป็นการร่วมมือแบบ 50-50 ไม่มีฝ่ายใดกำหุ้นไว้มากกว่า จนเกิดเป็นกระแสครึกโครมไปทั่วประเทศ จนมีคนเห็นด้วยและคนที่ไม่เห็นด้วย 
 

บล.เอเซีย พลัส เชื่อว่านี่คือ จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย

1. การแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ดีขึ้น โดยเฉพาะขนาดบริษัทใหม่ (TRUE+DTAC) ขึ้นมาใกล้เคียง ADVANC ทั้งคลื่นความถี่ในมือ โครงข่าย และจำนวนลูกค้า ขณะที่เป้าหมายของบริษัทใหม่จะเน้นไปที่การขยายไปยังธุรกิจใหม่ที่จะเปลี่ยนการแข่งขันไปสู่การนำเสนอความแตกต่างในการบริการ 


2. ภาระการลงทุนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนและงบลงทุนที่ซ้ำซ้อน 

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการกำกับดูแลหน่วยงานรัฐฯ ที่ยังเป็นประเด็นต้องติดตาม แม้ล่าสุดจะมีข่าวว่าไม่มีอำนาจยับยั้งการควบรวมกิจการแต่ต้องพิจารณาให้รอบด้าน
 

บล.เอเซีย พลัส ประเมินมูลค่ากิจการหลังควบรวมว่า หากอิงการประเมินโดยใช้วิธี EV/EBITDA มูลค่ากิจการบริษัทใหม่ภายใต้สมมติฐาน EBITDA ตกปีละ 9.4 หมื่นล้านบาท มูลค่าบริษัทใหม่น่าจะอยู่ราว 3.0-3.48 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าหุ้น TRUE ได้ในช่วง 5.2-6.0 บาท ส่วน DTAC อยู่ที่ 53.4-61.8 บาท
 

ขณะที่คำประกาศของการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นในปลายปี 2565 ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ TRUE และ DTAC คือ กลุ่มซีพี และ เทเลนอร์ จะตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) ขึ้นมารับซื้อหุ้น TRUE ในราคา 5.09 และรับซื้อหุ้น DTAC ในราคาหุ้นละ 47.76 บาท 
 

อย่าลืมว่าในมิติของยักษ์ใหญ่มือถือค่ายเทเลเนอร์นั้น ยังมีประเด็นความคลางแคลงใจที่ว่า กลุ่มเทเลเนอร์ที่เป็นบริษัทแม่ของ DTAC จะปลีกตัวออกจากตลาดในไทย เมื่อพิจารณาจากการประกาศถอยจากประเทศอินเดีย ด้วยการประกาศขายกิจการ กรณีประเทศมาเลเซียที่ทางเทเลเนอร์ไปควบรวมกับบริษัทรายหนึ่ง การรวบกับ TRUE จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มเทเลเนอร์จะโบกมือลาธุรกิจไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 

ถ้าพิจารณาในกรอบนี้จะเห็นว่า ดีไม่น้อยในแง่ของการบิหารจัดการองค์กร
 

แต่ดูเหมือนว่าสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ไม่เห็นเช่นนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นว่า แม้ว่าปัจจุบันการควบรวมจะยังมีอยู่ในผู้ถือหุ้นเท่านั้น และยังไม่มีการควบรวมในองค์กรระหว่างทรูและดีแทค แต่ผลกระทบดังกล่าว ถ้ามีการควบรวมจริง จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคชัดเจน เพราะจะทำให้เหลือแค่บริษัทเดียว และจะทำให้เกิดการแข่งขันน้อยมาก 
 

ถ้าเกิดทั้งสองบริษัทมีการกำหนดค่าบริการให้สูงขึ้น หรือ มีการเอาเปรียบผู้บริโภค ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบแน่นอน  
 

เพราะในประเทศไทยมีค่ายมือถืออยู่แค่ 3 ค่าย มีการแข่งขันกันทั้งทางด้านการพัฒนาและการบริการ การขยายพื้นที่การให้บริการ และการแข่งขันด้านราคา แต่ถ้าหากว่ามีการควบรวมกัน แม้จะเป็นในระดับผู้ถือหุ้น ก็อาจจะทำให้สัดส่วนของการแข่งขันเปลี่ยนแปลง เเหลือเพียงแค่ 2 ค่ายเท่านั้น 
 

ประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คือ การดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน หรือ ผู้บริโภคถูกหลอก การที่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพราะถ้ามีการควบรวมจะมีผลกระทบในเรื่องนี้ไปด้วย
 

สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอไปไกลให้ กสทช.ควรพิจารณาว่า เมื่อควบรวมกันแล้วส่วนแบ่งตลาดที่รวมกันแล้วได้ 52% จะกลายเป็นการมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ ขอเรียกร้องให้ กสทช. ช่วยกำกับดูแลการเกิดผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหม่ให้มากขึ้น ไม่ใช่สนับสนุนให้มีผู้ประกอบการเหลือน้อยลง


 

สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ทำการยื่นหนังสือไปยัง กสทช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  3 ประเด็น 
 

1. ไม่เห็นด้วยต่อการควบรวม เพราะจะส่งผลทางลบต่อผู้บริโภค ทำให้มีการแข่งขันน้อยลง และไม่มีการพัฒนาทางด้านบริการ 
 

2. ทาง กสทช. เอง มีหน้าที่ต้องทำให้เกิดการพัฒนาและการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม และมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค
 

3. ขอให้หน่วยงานให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะจะทำให้ธุรกิจแข็งแรงและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนได้
 

ประหลาดมากที่การควบรวมกิจการของผู้ประกอบการค่ายมือถือ 2 ค่ายจะทำให้องค์กรผู้บริโภค ต้องออกมาตั้งลำขวางขนาดประกาศว่า จะทำข้อเสนอดังกล่าวไปถึง กสทช.ให้สั่งห้ามการควบรวมที่อาจจะส่งผลให้มีอำนาจเหนือตลาด จะส่งข้อเสนอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้พิจารณาผลกระทบในเรื่องนี้ด้วย เพราะทั้งสองบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าไม่มีใครดูแลจะทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี
 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า การควบรวมกิจการมือถือของค่ายทรู และ ดีแทคนั้น องค์กรผู้บริโภคตกอยู่บนความกลัว
 

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ประกาศจาก กสทช. ระบุชัดว่า ถ้าทั้งสองบริษัทต้องการจดนิติกรรม เช่น ควบบริษัท หรือยกเลิกบริษัทเดิม ต้องทำเรื่องแจ้ง กสทช. ก่อนอย่างน้อย 90 วัน ก่อนทำนิติกรรม เพื่อส่งรายงานเหตุผลของการควบรวมบริษัท ความจำเป็น ประโยชน์ โครงสร้างการบริหารงาน ทำให้ 2 บริษัท ยังมีเวลาอีกหลายเดือนในการรายงานผลต่อ กสทช.


หมอลี่ตั้งข้อสังเกตว่า “รู้สึกกังวลผลกระทบต่อภาพรวมตลาดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย รวมทั้งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งสุ่มเสี่ยงอาจเกิดปัญหาการฮั้วค่าบริการ ซึ่งบอร์ด กสทช.ได้สั่งการให้สำนักงาน กสทช. ตั้งคณะทำงานติดตามการเจรจาควบรวมกิจการอย่างใกล้ชิด ให้ศึกษาเทียบเคียงการกำกับกิจการโทรคมนาคมในต่างประเทศว่า มีกรณีบริษัทขนาดใหญ่พยายามจะแตกย่อยบริษัทจนมีปัญหาการแข่งขันบ้างหรือไม่”


 

จะเห็นได้ว่ามีข้อวิตกกังวลในเรื่องนี้พอสมควร เพราะเมื่อมีการรวมกิจการกัน จะกระทบกับผู้ใช้มือถือในประเทศร่วม 100 ล้านเลขหมาย เฉพาะ 2 บริษัท คือ TRUE & DTAC ตกประมาณ 52-53 ล้านเลขหมายเข้าไปแล้ว
 

ครั้นพิจารณาจากท่วงท่าของ สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. เธอบอกว่า กิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่พิเศษ เป็นกิจการที่มีผู้แข่งขันในตลาดน้อย และเข้าข่ายผูกขาดโดยธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผู้บริโภคจะย้ายค่ายก็ทำไม่ได้ เพราะไม่รู้จะย้ายไปไหน ในเมื่อผู้ให้บริการมีเพียง 3 ราย
 

ดังนั้น หากเหลือผู้ให้บริการเหลือ 2 ราย จะเป็นเรื่องที่ไม่ดีเอามากๆ มันจะทำให้การแข่งขันน้อยลง ความตื่นตัวของ 2 ราย ก็จะน้อยลง อำนาจในการต่อรองของผู้บริโภคก็น้อยลง  ถ้าเกิดการฮั้วกันแอบไปตกลงกันหลังฉาก มันจะนำไปสู่การผูกขาดในตลาดเกือบสมบูรณ์  
 

นี่ก็เป็นความกลัวของ  กรรมการ กสทช. ซึ่งน่าจะสะท้อนภาพบางประการในเรื่องการทำธุรกิจที่เกี่ยวพันกับประชาชนจำนวนมากในประเทศไทย
 

ผู้บริหาร ผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะมาหาคำตอบว่า ....ทำไมทุกคนจึงกลัว!

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3734 หน้า 6  ระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย.2564