ฝนตกห่าใหญ่... “สั่งไม่ฟ้อง” เลขาฯพจมาน

08 ต.ค. 2564 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2564 | 16:04 น.
2.2 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

“ไม่มีความเลวร้ายใดที่จะยิ่งไปกว่า ความเลวร้ายที่ได้กระทำไปโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือในนามของกระบวนการยุติธรรม” ทวิตของคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยกเอาคำพูดของชาร์ล มองเตส กิเออร์ จนสนั่นลั่นทุ่งเมื่อวันที่ 30 ส.ค.2560 หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางหนีออกนอกประเทศไป หลังจากไม่ไปฟังการพิจารณาคดีจำนำข้าว เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2560 กลับมาดังก้องหูคนไทยอีกคราในสาระขันธ์นคร...
 

วาทะของแนวคิด มองเตส กิเออร์ สามารถนำมาใช้ในมหานครอันศิวิไลย์ของเมืองไทยได้ทุกขณะจิต แล้วแต่คนจะหยิบมาใช้ในสถานการณ์ใด แม้แต่ พ่อโอ้ค-พานทองแท้ ชินวัตร ก็ยังยิบมาใช้ในยามเดินเกมทางการเมือง เพื่อบางสิ่งอย่าง ตามที่ใจปรารถนา
 

แนวคิดของ ชาร์ลส์ มองเตสกิเออร์ ที่ต่อต้านระบอบการปกครองของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และคิดค้นทฤษฎีการปกครองแบบถ่วงดุล โดยอำนาจการปกครองสูงสุด หรือ อำนาจอธิปไตย ต้องแบ่งเป็น 3 ฝ่ายที่แยกออกจากกัน “อำนาจตุลาการ อำนาจนิติบัญญัติ และ อำนาจบริหาร” เพื่อให้แต่ละอำนาจมีการตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน
 

แต่ที่สาระขันธ์ประเทศนี้ มิเคยมีการถ่วงดุลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเงินตรา ทุนหนา ศักดินาสูงเท่านั้น ที่สามารถ “หักลิ้นช้าง” ได้ในแทบทุกคราไป โปรดทัศนาให้ชื่นสะดือ ชื่นใจใครต่อใครได้จากเหตุการณ์เหล่านี้ที่กำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่ในประเทศนี้
 

วันที่ 25 พ.ค.2562  ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร (โอ๊ค) บุตรชายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย กรณีถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60 
 

และความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา 91 กรณีรับเช็ค 10 ล้านบาท จากนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร และ นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรนายวิชัย ที่ถูกกล่าวหาว่าเช็คดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งจากการทุจริตในคดีที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร
 

ศาลฯ พิพากษาให้ยกฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร โดยเห็นว่า เส้นทางการเงินดังกล่าวเป็นไปด้วยความเปิดเผย ไม่ปิดบัง หรือซุกซ่อน หรืออำพรางแต่อย่างใด 
 

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถตรวจสอบเส้นทางเงินได้ตลอดเวลา ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลภายหลังได้ ไม่ใช่เป็นการปกปิด หรืออำพรางการได้มา พฤติการณ์จึงยังเชื่อไม่ได้ว่า นายพานทองแท้ ได้เงินจากนายวิชัยมา จากการกระทำความผิด ในเมื่อไม่รู้ หรือเชื่อว่าไม่รู้ว่าเงินดังกล่าวมาจากการกระทำความผิด คดีจึงฟังไม่ได้ว่าสมคบกับนายวิชัย ในการฟอกเงิน
 

ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาชี้แจงว่า คดีดังกล่าวเกิดความเห็นแย้งกันขึ้น ภายใต้การพิจารณาข้อกฎหมายเดียวกัน โดยหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษายืนยันความเห็นว่า ควรพิพากษาลงโทษจำคุกนายพานทองแท้ 4 ปี โดยในคำพิพากษาศาลฉบับเต็ม จะแนบความเห็นแย้งของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไว้ด้วย (สำนักข่าวอิศรา:เบื้องหลัง’โอ๊ค’รอด! เผยความเห็นแย้งคดีฟอกเงิน องค์คณะผู้พิพากษาให้จำคุก 4 ปี)
 

คดีนี้ในทางปฏิบัติทางสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เป็นทนายความของแผ่นดินจะต้องทำการอุทธรณ์เพื่อสู้คดีของแผ่นดิน...
 

ทว่าคณะทำงานในสำนักอัยการคดีศาลสูง สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) มีมติไม่ยื่นอุทธรณ์คดีฟอกเงินของนายพานทองแท้ โดยส่งความเห็นไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต่อมาเดือน เม.ย. 2563 ดีเอสไอทำความเห็นส่งกลับไปยัง อสส. ว่า คดีนี้มีประเด็นสำคัญควรให้ศาลสูงวินิจฉัย จึงขอให้อุทธรณ์คดี...
 

24 พ.ค.2563 นายเนตร นาคสุข ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด (นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์) สั่งไม่อุทธรณ์คดีฟอกเงิน 10 ล้านบาทธนาคารกรุงไทย ของ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลคดีอาญาทุจริตและพฤติมิชอบกลางยกฟ้อง
 

สังคมได้ซักถามเรื่องนี้อย่างหนัก จนเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2563 นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการคดีพิเศษสำนักงานคดีอาญา 3 ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน อสส. ชี้แจงว่า การพิจารณาผลสรุปคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร เป็นขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่โดยผู้ลงนามคำสั่งชี้ขาดไม่อุทธรณ์คือ นายเนตร นาคสุข รอง อสส. คนที่ 1 อาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายวงศ์สกุล ระหว่างเดินทางไปราชการในพื้นที่สำนักงานอัยการภาค 7 ตลอดสัปดาห์
 

นายประยุทธ กล่าวอีกว่า สำนวนดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดี สำนักงาน อสส. ที่มีหน้าที่พิจารณาความเห็นแย้ง ได้ทำความเห็นควรไม่อุทธรณ์คดีดังกล่าว ก่อนส่งความเห็นมายัง อสส. โดยมีนายเนตรรักษาการแทน และพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ควรอุทธรณ์คดีตามที่สำนักงานชี้ขาดคดีทำความเห็นมา จึงมีความเห็นชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลอุทธรณ์ตั้งแต่ 24 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา
 

เป็นการทำความเห็นไม่อุทธรณ์ในขณะที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 ผู้รับผิดชอบสำนวน ได้ทำเรื่องยื่นขยายเวลาอุทธรณ์ไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2563 และศาลอาญาคดีทุจริตฯขยายเวลาอุทธรณ์ไป 25 มิ.ย. 2563 
 

แต่การกระทำดังกล่าวถูกอัยการชี้แจงว่า สำนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 ผู้รับผิดชอบสำนวน ยังไม่ทราบคำสั่งชี้ขาดของ อสส. จึงยื่นอุทธรณ์ไปตามระเบียบก่อน จึงถือว่าคดีนี้สิ้นสุดลงแล้วตามกฎหมาย ...จบไป 1 คดี
 

ส่วนคดีที่สองที่เกี่ยวพันกับเงินอีกก้อน 26 ล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลพบว่า พนักงาน บริษัท กฤษดามหานคร ซื้อแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท โดยหักจากบัญชีของนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร สั่งจ่ายนายพานทองแท้ แต่มีการยกเลิกรายการก่อน วันรุ่งขึ้นพนักงานบริษัท กฤษดามหานคร ซื้อแคชเชียร์เช็ค 26 ล้านบาท สั่งจ่ายบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต เพื่อชำระค่าหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางเกศินี จิปิภพ ต่อมานางเกศินี ได้สั่งจ่ายเช็ค 1.8 ล้านบาท เข้าบัญชีของนายพานทองแท้ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน
 

ข้อมูลที่ นายพานทองแท้ ชี้แจงว่า ฝากนายวันชัย หงษ์เหิน ซื้อหุ้นบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ผ่านบัญชีของนางเกศินี ซึ่งครบกำหนดชำระหุ้นเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2546 แต่ก่อนครบกำหนด เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2546 นายรัชฎา แจ้งว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่นำแคชเชียร์เช็คค่าหุ้น 26 ล้านบาท เข้าบัญชีของนายพานทองแท้ เพื่อฝากโอนบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต แต่เกรงว่า อาจล่าช้าไม่ทันกำหนด จึงแนะนำให้นายรัชฎา ชำระเงินให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ธนชาตโดยตรง คดีนี้อัยการสั่งไม่ฟ้อง นายพานทองแท้ และนางเกศินี จิปิภพ เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานไม่พอที่จะสั่งฟ้อง 
 

ขณะที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก็เห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน เนื่องจากยังขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน 
 

แต่ในส่วน นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยาของนายทักษิณ กับนายวันชัย หงษ์เหิน ผู้เป็นสามี อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องฐานสมคบ และร่วมกันฟอกเงิน เฉพาะการรับเช็ค 26 ล้านบาทในช่วงเดือนพ.ย.2561 และสั่งให้ติดตามนำตัวผู้ต้องหาไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางต่อไป 
 

ปัจจุบัน นางกาญจนาภา และ นายวันชัย อยู่ระหว่างถูกออกหมายจับ หลังหลบหนีคดีออกไปนอกประเทศ ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.2561 
 

25 กันยายน 2564 อื้ออึงกันในซอยจันทร์ส่องหล้า ย่านจรัญสนิทวงศ์ว่า เจ้าพนักงานอัยการมีคำสั่งกลับความเห็น สั่งไม่ฟ้องในคดีนี้
 

ทั้งนี้มีรายงานจากสำนักงานอัยการสูงสุดว่า ทางอัยการได้ส่งสำนวนคดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย กรณีแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท  ในส่วนของ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และนายวันชัย หงษ์เหิน สามี กลับไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า จะโต้แย้งความเห็นของพนักงานอัยการที่กลับความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้หรือไม่ 
 

การกลับความเห็นสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมพนักงานอัยการถึงกลับความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา และ นายวันชัย ที่หลบหนีในต่างประเทศ 
 

ผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศ มีการทำเรื่องขอความเป็นธรรมมายังสำนักงานอัยการสูงสุดด้วยช่องทางไหน   
 

ขณะที่สายข่าวลึกลับออกมาชี้แจงผ่านสื่อว่า หลังจากที่ นายเนตร นาคสุข ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด สั่งไม่อุทธรณ์คดีฟอกเงิน 10 ล้านบาทของนายพานทองแท้ ชินวัตร ที่ศาลคดีอาญาทุจริตและพฤติมิชอบกลางยกฟ้อง นางกาญจนาและนายวันชัยผู้เป็นสามี จึงร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งอัยการ 3 ราย ร่วมพิจารณา ก่อนจะมีความเห็นกลับคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 2 คน 
 

ภายหลังจากที่พนักงานอัยการกลับคำสั่งไม่ฟ้องคดี และตีคืนสำนวนกลับไปให้อธิบดีดีเอสไอพิจารณา ตามขั้นตอนนั้น ถ้าอธิบดีดีเอสไอมีความเห็นแย้ง ก็จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาด 
 

แต่ถ้าไม่ทำความเห็นแย้ง คดีรับเช็คจากการฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทยของนางกาญจนาภา และ นายวันชัย ผู้เป็นสามี ก็เป็นอันยุติคดี
 

ฝนตกห่าใหญ่ในป่าคอนกรีตแบบนี้....ผู้คนในประเทศสารขันธ์ก็บรรลัยกันทุกคนละครับ...

 

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,721 วันที่ 10 - 13 ตุลาคม พ.ศ. 2564