อัยการแจงยิบเหตุไม่ฟ้องอดีตเลขา "คุณหญิงพจมาน" และสามี คดีฟอกเงิน

07 ต.ค. 2564 | 19:46 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2564 | 03:35 น.

อัยการแจงยิบเหตุสั่งไม่ฟ้อง “กาญจนภา หงส์เหิน” อดีตเลขา "คุณหญิงพจมาน" และ สามี คดีฟอกเงิน อ้างผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมเเละพิจารณาประกอบคำพิพากษาศาลฎีกา -ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เป็นไปตามระเบียบและหลักฐาน ยันอิสระ-ไม่ถูกการเมืองแทรกแซง

วันนี้(7 ต.ค.64) หลังมีกระแสข่าวพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน และ นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหา ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินนั้น 

 

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารเอ ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษในฐานะรองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงว่า

 

สืบเนื่องจากคดีนี้ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ โดยสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้รับสำนวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 คดีระหว่าง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยนายสุนทรา พลไตร ผู้กล่าวหา นางเกศินี จิปิภพ ผู้ต้องหาที่ 1 นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้ต้องหาที่ 4 ข้อหา ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงิน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 ต่อเนื่องกัน

โดยคดีนี้มีมูลเหตุเกี่ยวพันกับคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 55/2558 ซึ่งอัยการสูงสุด ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกอีกหลายคน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ยักยอก ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ความผิดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยมูลคดีสืบเนื่องจากธนาคารกรุงไทย ปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัท กฤษดานครมหานคร จำกัด (มหาชน) นายวิชัย กฤษดาธานนท์ และ นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ กับพวก

 

คดีดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 55/2558 ตัดสินเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 โดยพิพากษายกฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 โดยวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่ไต่สวนมายังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1

 

สำหรับคดีที่กล่าวหา นางกาญจนาภา หงษ์เหิน และ นายวันชัย หงษ์เหิน ตามที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวในครั้งนี้ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 พิจารณาแล้ว มีคำสั่งไม่ฟ้อง นางเกศินี จิปิภพ ผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นพ้องกับการสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว คดีในส่วนนางเกศินี จิปิภพ เสร็จเด็ดขาดแล้ว

 

สำหรับนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 และนายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้ต้องหาที่ 4 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงินตามข้อกล่าวหา แต่ยังไม่ได้ยื่นฟ้อง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 เพราะหลบหนี

ส่วน นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้ต้องหาที่ 4 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงิน เรียบร้อยแล้ว ต่อมาศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นพ้องด้วย คดีถึงที่สุดแล้ว

 

ต่อมาในวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ขอให้ทบทวนคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง โดยอ้างว่าข้อเท็จจริง รูปแบบพฤติการณ์ที่กล่าวหาตนเป็นกรณีเดียวกันกับที่กล่าวหา นายพานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ยกฟ้องไปแล้ว

 

อีกทั้งมูลเหตุก็เป็นกรณีสืบเนื่องจากการกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเป็นเหตุให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกฟ้อง ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่ไต่สวนฟังไม่ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทำความผิดตามฟ้อง และพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้วเช่นกัน 

 

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวอ้างว่าเช็คที่ นายวิชัย กฤษดาธานนท์ สั่งจ่ายเงิน 26 ล้านบาท ที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาทั้งสองถูกกล่าวหาคดีนี้ก็เป็นเรื่องธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์ผ่านบริษัท หลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด และต่อมามีการขายหุ้นและได้คืนเงินลงทุนพร้อมกำไร รวมแล้วประมาณ 27 ล้านบาทเศษไปแล้ว ข้อเท็จจริงนี้มีทั้งพยานบุคคล และพยานเอกสารสนับสนุน

 

ดังนั้น พนักงานอัยการได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการร้องขอความเป็นธรรม เห็นว่า คดีมีข้อเท็จจริงใหม่ตามที่ผู้ต้องหาทั้งสอง ร้องขอความเป็นธรรมเพราะคดีที่ฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายพานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งศาลต่างยกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว

 

อีกทั้ง ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 (ซึ่งเป็นระเบียบที่บังคับใช้ในขณะนั้น) ข้อ 58 ก็วางหลักเกณฑ์ให้เป็นแนวทางปฏิบัติของพนักงานอัยการทั่วประเทศในการดำเนินคดีอาญาไว้ด้วยว่า ในคดีที่มีผู้ต้องหาหลายคนกระทำความผิดในคดีเดียวกันและได้ฟ้องผู้ต้องหาบางคนไว้แล้ว แต่ต่อมาศาลยกฟ้องในเหตุลักษณะคดีและคดีเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้วให้พนักงานอัยการทบทวนความเห็นหรือคำสั่งสำหรับผู้ต้องหาที่สั่งฟ้องและยังจับตัวไม่ได้ไว้ด้วย

 

นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังเห็นว่า ทางคดีไม่มีพยานหรือข้อเท็จจริงใด ๆ ว่าผู้ต้องหาทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย หรือมีบทบาทหรืออำนาจใด ๆ ในการบีบบังคับธนาคาร ตลอดจนไม่มีส่วนรู้เห็นถึงกระบวนการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มนายวิชัย กฤษดาธานนท์กับพวกดังกล่าว

 

พนักงานอัยการ เห็นว่า การร้องขอความเป็นธรรมมีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นและคำสั่ง จึงมีคำสั่งกลับความเห็นเดิมที่สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง เป็นสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน

 

ขณะนี้สำนวนคดีพร้อมความเห็นและคำสั่งดังกล่าว ได้ส่งไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายว่าจะเห็นพ้องหรือแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ หากเห็นพ้องคำสั่งไม่ฟ้องเป็นอันเสร็จเด็ดขาด แต่ถ้าอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นแย้งก็จะนำเสนออัยการสูงสุดเพี่อพิจารณาชี้ขาดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ผลคืบหน้าทางคดีเป็นประการใด สำนักงานอัยการสูงสุดจะแถลงให้ทราบต่อไป

 

ส่วนกรณีตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนอยู่ต่างประเทศ การร้องขอความเป็นธรรมมีการรับรองจากทางกงศุลหรือสถานทูต ถูกต้องหรือไม่ว่าเป็นตัวผู้ต้องหาจริง นายประยุทธ กล่าวว่า ขณะที่ผู้ต้องทั้ง 2 ร้องขอความเป็นธรรมระเบียบปฏิบัติการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ 2547 ข้อ48 ว่าด้วยการร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งในระเบียบระบุว่าสามารถยื่นผ่านทนายความของผู้ต้องหาหรือผู้เเทนก็ได้ กรณีนี้จึงถูกต้องตามระเบียบ เเต่ทางสำนักงานสูงสุดเล็งเห็นว่า ระเบียบนี้มีข้อบกพร่องที่ต้องเเก้ไขปรับปรุงให้เป็นธรรมมากขึ้น ฉนั้นระเบียบในปัจจุบันนี้จึงเเก้ไขใหม่ว่าผู้ต้องหาต้องมาเเสดงตัวต่อพนักงานอัยการ ถ้าไม่มายื่นด้วยตัวเองอัยการก็ไม่รับ

 

เมื่อถามถึงพฤติการณ์ผู้ต้องหาทั้งสองรายเหมือนกับ นายพานทองเเท้ ทุกอย่างใช่หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า พฤติการณ์ไม่ได้เหมือนกันทุกอย่าง เเต่ข้อเท็จจริงพัวพัน ลักษณะการกระทำเเตกต่างเเต่อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงหลักการเดียวกัน สำหรับคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการคดีนี้เป็นคำสั่งของ ร.ท.ไชยา เปรมประเสริฐ รอง อสส. ซึ่งเป็นการสั่งตามระเบียบที่ให้อำนาจใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีโดยไม่จำเป็นที่จะต้องปรึกษาผู้บังคับบัญชาเเละไม่เกี่ยวกับอดีตอสส.

 

นายประยุทธ กล่าวเสริมว่า คดีสืบเนื่องจากคดีหลักที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้กลุ่มบริษัท กฤษฎามหานคร ที่ศาลฎีกาฯ นักการเมืองมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานฟังไม่ได้ว่า นายทักษิณ ชินวัตร ที่มีส่วนให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ เมื่อศาลยกฟ้องก็ดูในเส้นทางการเงิน ซึ่งหลักของการฟอกเงิน มีหลักสำคัญในเรื่องของการสมคบของความผิดมูลฐานเรื่องการฟอกเงิน ซึ่งก็คือ การยักยอกถ่ายเททรัพย์ ซึ่งเกิดจากความผิดมูลฐาน

 

และในส่วนของเช็คเงินสด 10 ล้าน นายพานทองแท้ ที่ศาลยกฟ้อง เพราะชี้ว่าเป็นเงินลงทุนธุรกิจรถยนต์ ส่วนเช็ค 26 ล้านของผู้ต้องหาทั้งสองเป็นเรื่องของการซื้อหุ้น ช.การช่าง ในตลาดหลักทรัพย์ เเละ สุดท้ายมีการซื้อขายจริง โดยมีหลักฐานมายืนยันที่ว่ามีการขายหุ้นและก็ถือเงินกัน

 

พนักงานอัยการได้ดูภาพรวมประกอบกลับมองว่า ผู้ต้องหาทั้งสองไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพล บทบาทที่จะไปร่วมทำผิดธนาคารกรุงไทย กระบวนการทั้งหมดจึงมีลักษณะเป็นพฤติการณ์คล้ายกันกับของ นายพานทองแท้ เป็นเหตุที่อัยการต้องทบทวนคำสั่ง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ 2547 ข้อ58 จึงต้องทบทวนให้ผู้ต้องหา เเม้ถึงไม่มีการขอความเป็นธรรมเข้ามา ซึ่งหลักเกณฑ์อัยการทั่วประเทศใช้กัน สำหรับคดีนี้จากเอกสารผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมมา1ครั้ง

 

คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการนั้นได้ส่งไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อประมาณเดือนกันยายน ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการทำความเห็นมายังอัยการ แต่ตามกฎหมายถ้าอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความเห็นพ้องกับพนักงานอัยการ คดีก็จะยุติ แต่หากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความเห็นแย้ง เรื่องก็จะถูกส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด

 

เมื่อถามว่าคดีนี้พนักงานอัยการที่ร่วมพิจารณามีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันหมดหรือไม่ในการกลับคำสั่ง นายประยุทธ กล่าวว่า ใช่ มีการกลั่นกรองจากพนักงานอัยการหลายขั้นตอน ซึ่งเเต่ละคนมีความเห็นเเนวทางเดียวกันหมด ตั้งแต่อธิบดีอัยการคดีพิเศษผ่านไปยังสำนักงานกิจการคดีพิเศษเ เละถึงรอง อสส.ในการกลับคำสั่ง โดยยืนยันว่า เเม้คดีนี้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง เเต่การสั่งคดีของพนักงานอัยการมีความเป็นอิสระเเละไม่ถูกเเทรกเเซงเเต่อย่างใด