ชัดๆ จาก...ธนาคารโลก ศก.ไทยจะบินขึ้นได้มั้ย!

02 ต.ค. 2564 | 06:30 น.
2.2 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน 2564 เดือนสุดท้ายของการทำงานสำหรับข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปี ดูเหมือนว่า หน่วยงานสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศ ทยอยออกมาส่งสัญญาณ ถึงแนวนโนบายการขับเคลื่อนประเทศไทย ที่ตอนนี้ “ชีพจรอ่อนล้าจนเกือบดับสนิท” ให้มีความหวังในการรักษาตัวให้รอดพ้นหุบเหวลึก
 

ไล่จาก อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ออกมาค้ำยันสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการว่า ไม่ว่าใครหน้าไหน สำนักวิจัยบางแห่งอาจคาดการณ์ว่าจีดีพีของไทยในปีนี้จะติดลบต่ออีก 1 ปี แต่รัฐบาลขอยืนยันว่า จะดำเนินการไม่ให้จีดีพีของไทยปีนี้ติดลบเด็ดขาด คาดว่าจะทำใหจีดีพีของไทยขยายตัว 3-4%
 

รัฐบาลจะออกมาตการเสริมในเรื่องการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคให้กับประชาชน และมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ออกมาตรการเพิ่มเติมในช่วง 1-2 เดือนนี้ และอาจจะลากยาวไปถึงปีใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอย 
 

เทคโนแครตมืออาชีพที่ทำงานในหน่วยงานด้านยุทธศาสตร์ของประเทศมายาวนานตลอดชีวิตข้าราชการอย่าง อาคม ยืนยันหลักการสำคัญในยามวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม รัฐบาลต้องใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งทุกประเทศในโลก รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 

สำหรับประเทศไทย การใช้จ่ายของรัฐบาลจะมาจากการจัดทำงบประมาณขาดดุล 
 

“หากไม่พอ รัฐบาลก็ต้อง กู้เงินเพิ่มขึ้น แม้จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในระยะสั้นช่วง 1-3 ปี เพราะเป็นการกู้เงินเพื่อนำมาเพื่อใช้ช่วยเหลือเยียวยา” ชัดมั้ย ชัดมั้ย!
 

คนที่คอนเซอร์เวทีฟสูงสุดในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังบอกว่า “ตอนนี้การกู้เงินเป็นประโยชน์เศรษฐกิจการทำให้นโยบายการเงินต้องผ่อนคลาย ต้องทำนโยบายนอกตำรา  เพราะเวลานี้ประชาชนเดือดร้อน นโยบายการเงินการคลังต้องนอกตำรา แต่การใช้จ่ายต้องมีประโยชน์”
 

ผมจึงบอกว่า นี่คือ สัญญาณที่ผู้ประกอบการต้องนำมาพิจารณาในการกำหนดนโยบายทางธุรกิจ
 

แค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังไม่พอ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาส่งสัญญาณชัด ว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทยมีความเจริญช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงมาเฉลี่ยไม่ถึง 3% ภาคอุตสาหกรรมการเติบโตแค่ 2% และสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีเหลือไม่ถึง 25% สะท้อนว่ายุคที่เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูเป็นยุคที่ภาคอุตสาหกรรมเข้มแข็ง เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการลงทุนและเศรษฐกิจของไทย

แต่วิกฤติโควิด เป็นวิกฤติที่หนัก ส่งผลกระทบในวงกว้างและแรง ทั้งต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน จีดีพีติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี เป็นรองแค่ปี 2541 แต่ตัวเลขจีดีพียังไม่สะท้อนผลกระทบในวงกว้างที่ภาคธุรกิจและประชาชนต้องเผชิญจากโควิด ซึ่งรอบนี้ นับได้ว่าเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบแรงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
 

ผลสำรวจธปท.เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการโรงแรมถึง 65% จะมีสภาพคล่องในการทำธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน ทำให้หลายรายต้องปิดกิจการชั่วคราวและบางส่วนสู้ไม่ไหวต้องประกาศขายกิจการ
 

ภาคการผลิตก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงระลอกแรกที่มีการประกาศล็อกดาวน์การผลิตไตรมาส 2/ 2563 ต่ำสุดรอบ 10 ปี  
 

การผลิตเพื่อการส่งออกก็ถูกกระทบไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์หรือตู้คอนเทนเนอร์ และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน  แม้ว่าต้นทุนส่วนนี้ ยังส่งผ่านไปยังผู้บริโภคไม่มากนัก สะท้อนจากราคาฝั่งขายที่ปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 0.7%
 

แต่ที่หนักสุดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงและมีภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่ มีกลุ่มเปราะบาง เช่น ครัวเรือนยากจน แรงงานที่เพิ่งเรียนจบ แรงงานอิสระที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือได้ค่าจ้างเป็นรายวัน และธุรกิจเอสเอ็มอีมีจำนวนมาก ไม่สามารถรับมือและปรับตัวต่อวิกฤตได้
 

“กลุ่มเปราะบางจะมีสายป่านทางการเงินที่สั้น ไม่มีเงินออม กู้ยืมเงินได้ยาก พึ่งพาความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงในยามวิกฤตไม่ได้ เพราะประสบปัญหาช่นกัน ขณะที่ไม่ได้รับการชดเชย ช่วยเหลือ และเยียวยาจากภาครัฐอย่างรวดเร็วและเพียงพอ เนื่องจากอยู่นอกระบบ ยิ่งไปกว่านี้ กลุ่มนี้จะมีข้อจำกัดด้านทักษะและเทคโนโลยี รวมถึงทางเลือกในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน เช่น ไม่สามารถทำงานจากบ้านหรือเปลี่ยนอาชีพได้ในระยะเวลาอันสั้น”
 

เศรษฐพุฒิ เสนอว่า การปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการวางรากฐานในอนาคตให้เศรษฐกิจไทย 


1.เรื่องดิจิทัล ขณะนี้เริ่มเห็นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการทำธุรกิจที่ชัดเจนขึ้นมีนวัตกรรม มีผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องของดิจิทัล ซึ่งการเตรียมความพร้อม เป็นโจทย์สำคัญกับทุกภาคส่วน  
 

2.การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่จะกระทบต่อภาคธุรกิจจากการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนของประเทศพัฒนาแล้ว
 

นี่เป็นสัญญาณของ 2 หน่วยงานสำคัญหลังจากที่ธนาคารโลกออกมาระบุว่า ในปี 2564 ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคครัวเรือนของไทยมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีขาดรายได้ ทำให้ในปี 2564 ประเทศไทยจะมีผู้ที่มีความยากจนเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคน 
 

ซึ่งถ้าเราไปตรวจสอบข้อมูลก่อนหน้านี้ช่วงปี 2558-2561 ธนาคารโลกนี่แหละประเมินว่า อัตราความยากจนของประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นจาก 7.21% เป็น 9.85%
 

ขณะที่ค่าสัมบูรณ์ของประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนได้เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 4.85 ล้านคน ขึ้นมาเป็นกว่า 6.7 ล้านคน โดยประชากรในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นผู้คนยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 คน ในช่วงเวลาดังกล่าว

ผลจากการที่ธนาคารโลกได้มีการประเมินว่า ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลทำให้คนไทยยากจนเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านคน เพราะนับตั้งแต่ไตรมาส2/2563 เป็นต้นมา พิษของโรคร้ายโควิด-19 ทำให้ตำแหน่งงานหายไป 3-4 แสนตำแหน่ง ชั่วโมงการทำงานลดลง 2-3 ชั่วโมง การว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าจ้างลดลง 
 

ตลาดแรงงานของไทยจึงเต็มไปด้วย “ความเปราะบาง” และนี่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของหนี้ครัวเรือนในที่สุด
 

และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเดินหน้าเข้าสู่โหมดของการเปิดประเทศ แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนยังต่ำ แต่มิได้หมายความความยากจน ความกินดีอยู่ดีของผู้คนจะดีขึ้นมามากนัก 
 

รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ประจำเดือน ต.ค. 2564 ของธนาคารโลกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขจัดความยากจน และการกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง ธนาคารโลกได้ปรับลดอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2564 ลงเหลือแค่ 1% จากเมื่อเดือน ก.ค.2564 ที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 2.2% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ 3.6% ในปี 2565 
 

ธนาคารโลกประมินว่า เศรษฐกิจของไทยจะใช้เวลาในการฟื้นตัวอย่างน้อยราว 3 ปี 
 

ทำไมธนาคารโลกชี้โพรงให้เราพิจารณาร่วมกันว่าจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ต้องปรับเปลี่ยนก่อนสายไป
 

ธนาคารโลกชี้ปมชัดเจนว่า แม้เศรษฐกิจไทยยังสามารถรักษาอัตราการขยายตัว และมีการเติบโตด้านการส่งออกที่ดี แต่การส่งของไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการไม่ค่อยมีพลวัตรด้านการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประเทศไทยเท่าไรนัก แตกต่างจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่เห็นชัดเจนที่สุดในบรรดาสมาชิกอาเซียนว่า มีการออกกฎหมายเพิ่มเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ และยังเปิดเสรีในอุตสาหกรรมค้าปลีกด้วย 
 

“ไทยได้รับการชื่นชมจากทั่วโลกว่า มีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง แต่กลับกลายเป็นว่า ความสามารถที่จะปฏิรูปเชิงลึก เพื่อนำพาเศรษฐกิจประเทศไปสู่ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ยังไม่มีความชัดเจน และนี่เป็นสิ่งน่าห่วงในขณะนี้ เพราะอาจส่งผลต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต”
 

ขณะที่การท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักของประเทศจะต้องมีการปรับปรุงโดยเร็ว โดยปี 2564 เลิกคิดมากได้เท่าไหร่ก็ดีกว่าไม่มี แต่ในปี 2565 คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เนื่องจากมีการเร่งกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านคน ส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจนของประเทศไทยมากขึ้น
 

อีกประเด็นหนึ่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเวิลด์แบงก์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ประเมินว่า กลุ่มแรงงานชาวเมียนมาที่ข้ามแดนมาทำงานในไทย จะมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของไทยทั้งในปัจจุบัน และหลังเปิดประเทศแล้ว ดังนั้น ไทยควรใช้โอกาสนี้ปฏิรูประบบสวัสดิการประชาชนในประเทศ และแรงงานต่างชาติเพื่อเสริมศักยภาพในการเปิดประเทศ....เพื่อจะได้ติดปีกบินทันที
 

ส่วนใครที่กังวลหนี้ที่รัฐบาลกู้นั้น ฟัง “เบอร์กิท ฮานสล์” ผู้จัดการธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย ที่กล่าวว่า การที่รัฐบาลปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะนั้นถือเป็นมาตรการที่สร้างความสมดุล ที่เป็นเรื่องสำคัญที่จะนำมาใช้ในการให้ความช่วยเหลือในช่วงที่มีความเปราะบาง และจำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อรักษาระดับการเติบโตที่ยั่งยืน และถือเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการศึกษา และด้านพลังงานสะอาด ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังดำเนินการในส่วนนี้ค่อนข้างน้อย...ไม่เห็นมีใครกังวลเรื่องนี้ นอกจากฝ่ายค้าน...
 

แต่อย่างว่าแหละครับ สองคนมักจะยลตามช่อง คนหนึ่งอาจมองเห็นโคลนตม  แต่คนที่ตาแหลมคมมักจะเห็นดวงดาวอยู่พราวพราย!
 

คุณเห็นอะไรบ้าง!


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3719 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3-6 ต.ค.2564