จากฐานันดรที่สี่สู่เจ้าเหมืองหยก (3)

26 ก.ค. 2564 | 09:11 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในช่วงที่เป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ของคุณสุวรรณี เธอได้มีโอกาสเดินทางไปทำรายการที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายต่อหลายประเทศ สิ่งหนึ่งที่เธอได้จากอาชีพนี้ คือลู่ทางในการทำธุรกิจ เธอจึงลองทำอยู่หลากหลายอาชีพมาก เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ที่ผู้ใหญ่หลายท่านกล่าวถึงหรือชี้แนะนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องเป็นจริงหรือไม่
 

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เป็นการอวดดีหรืออยากลองของ แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์วัยรุ่น หรือผู้ที่มีอายุน้อยมักจะมีด้วยกันทุกคน เพราะบางครั้งผู้ใหญ่จะพูดหรือสอนด้วยประสบการณ์ใดๆก็ตาม มักจะมีความคิดที่ขัดแย้งกับเด็กๆ เสมอ น้อยคนนักที่จะยอมเชื่อฟังผู้ใหญ่ก่อน และมักจะคิดว่าผู้ใหญ่มักจะหมดยุคไปแล้ว จึงอยากจะทดลองทำดูด้วยตนเองก่อนเสมอ แต่เมื่อเจอเข้ากับตัวเองแล้ว จึงจะเชื่อว่า “รู้อย่างนี้......” 
 

ในรายของคุณสุวรรณีก็เช่นเดียวกัน ท่านผู้มีพระคุณเคยชี้แนะว่า การค้าเพชรค้าพลอยคืออาชีพที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้แก่ชีวิต ในอนาคตข้างหน้าจะสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ คงไม่ใช่เป็นการดูหมอหรือโหราศาสตร์ แต่เป็นเพราะท่านคงเห็นว่าเด็กสาวคนนี้มีความกล้า บ้าบิ่น และมีความสารถในการเดินทางไปในสถานที่ทุรกันดาร  อย่างเช่นภายในประเทศเมียนมาได้ จึงได้ชี้แนะให้เธอไปเรียนในวิชาด้านจิวเวลรี่นั่นเอง
 

แต่พอเธอได้เข้าสู่วงการทีวี เธอก็เห็นหลากหลายอาชีพ เพราะเธอคิดเสมอว่า การทำการค้าเพรชค้าพลอยนั้น จะต้องมีเงินทุนที่มากพอ จึงจะประสบความสำเร็จได้ เพราะว่ามูลค่าสินค้าเช่นพลอยหนึ่งเม็ด ถ้าเป็นพลอยที่ดี ก็ต้องใช้เงินมากเป็นตัวเลขเจ็ดหลัก หรือถ้าเป็นพลอยขนาดย่อมลงมา ก็ต้องเป็นเรือนหมื่นเรือนแสนอยู่ดี และหากพลอยตกค้างอยู่ในมือยังไม่ได้ขาย โอกาสที่จะดำเนินงานค้าขายต่อ ก็ยากแสนยาก จึงทำให้เธอต้องคิดหนัก

อีกทั้งพอเธอได้เข้าไปพบเห็นที่ประเทศสปป.ลาว มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีความคิดอยากจะทำการค้าไม้ เพื่อส่งออกจากลาวและนำเข้าสู่ประเทศไทยที่มีความต้องการไม้ค่อนข้างมาก แต่ทุกอาชีพล้วนมีเส้นผมที่บังภูเขาไว้อยู่เสมอ พอเธอเดินเข้าสู่วงการค้าไม้ ที่มีผู้เก่งกาจในอาชีพนี้มากมาย เธอจึงประสบกับความล้มเหลว ทำได้ไม่นานก็ต้องเลิกไปโดยปริยาย อีกหลากหลายอาชีพที่เธอทำ ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เด็กสาวทั่วไปใฝ่ฝัน เช่น การเปิดร้านกาแฟ ร้านอาหาร เธอก็ประสบความล้มเหลวมาแล้ว เธอจึงได้เห็นสัจจธรรมว่า คำพูดของผู้มีประสบการณ์ น่าจะใช่ความเป็นจริงนั่นเอง
 

หลังจากทดลองดูหลายช่องทางในการดำเนินธุรกิจ สุดท้ายเธอพอจะสรุปได้ว่า อาชีพที่เธอควรจะทดลองทำต่อไปดู น่าจะเป็นอาชีพที่เธอได้ไปร่ำเรียนมา ได้เพราะรับความรู้มาจากครูบาอาจารย์โดยตรง และมีความถนัดมากที่สุด นั่นคืออาชีพ “ค้าพลอย” นั่นเอง
 

เธอจึงย้อนกลับไปที่อำเภอแม่สาย เข้าไปยังตลาดค้าเพชรพลอยอีกครั้ง การไปครั้งแรกอาจจะเป็นการลองหยั่งเชิงดู แต่ครั้งนี้เธอต้องทำให้สำเร็จให้ได้ เธอจึงเริ่มด้วยการซื้อหาพลอยที่มูลค่าไม่สูงมากนัก จากนั้นก็อาศัยช่องทางการขาย ด้วยช่องทางส่วนตัวของเธอเอง ทำอยู่ได้ไม่นาน ท่านผู้มีอุปการะคุณก็เห็นความตั้งใจจริงของเธอ จึงได้ช่วยเหลือเธอ ด้วยการหาออเดอร์มาให้ ซึ่งเป็นการให้เธอหาหยกขนาดใหญ่ที่เป็นหยกแท้ ห้ามเอาหยกเทียมหรือหินอ่อนย้อมแมวโดยเด็ดขาด
 

เธอเล่าว่าหยกชิ้นนั้นเป็นหยกขนาดฟุตครึ่ง ซึ่งใหญ่มากๆ สำหรับเธอ มูลค่าหลายแสนบาท ที่ผู้ซื้อต้องการนำมาแกะสลักเป็นพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระองค์หนึ่งในรูปทรงยืน หากแต่ว่ามูลค่าเมื่อแกะสลักสำเร็จแล้ว จะเพิ่มมูลค่าขึ้นมาอีกหลายเท่าเลยทีเดียว
 

หากจะพูดถึงหยกดังที่กล่าวมานั้น ต้องขออธิบายเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจถึงเนื้อหยกเพิ่มอีกนิดนะครับ เนื้อหยกจะฝังอยู่ในหินที่มีอยู่ในไม่กี่แห่งทั่วโลก แต่หยกที่มีชื่อเสียงที่สุดและดีที่สุดอยู่ที่ประเทศเมียนมา ในรัฐกระฉิ่น เมืองปะกันใกล้ต้นน้ำของแม่น้ำอิยะวดี เนื้อหยกเราเข้าใจกันว่าจะต้องมีสีเขียว แต่จริงๆแล้วหยกมีหลากสีมาก เช่นสีเขียว ทั้งเขียวเข้ม เขียวขาว เขียวลาย สีเขียวใส สีขาวก็มีทั้งสีขาวใส สีขาวขุ่น สีขาวน้ำนม สีขาวน้ำแข็ง สีม่วง สีราเวนเดอร์ สีน้ำผึ้ง สีสามสี ยังมีหลากหลายสีเช่นกัน ซึ่งราคาของแต่ละสีก็จะแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ความนิยมของแต่ละประเทศ

ทุกสีที่กล่าวมา ประเทศเมียนมามีอยู่ทั้งหมด ส่วนที่พูดถึงหยกปลอมนั้น ส่วนใหญ่จะนำเอาหยกที่ตกเกรดหรือหยกที่สีสันไม่สวย มาย้อมสีให้เป็นหยกสีที่ต้องการ ซึ่งพ่อค้าหัวใสเขาสามารถทำได้ด้วยฝีมือที่ชำนาญการปลอมนี้อย่างแนบเนียน ที่แย่กว่านั้นบางครั้งก็นำเอาหินอ่อนมาย้อมสีให้เป็นหยก เราในฐานะคนนอกวงการ จะดูไม่ออกเลยว่านั่นไม่ใช่หยก ซึ่งเนื้อของหินอ่อนกับเนื้อของหยกความแข็งจะต่างกันมาก 
 

การหาหยกมาให้แก่ลูกค้าที่ท่านผู้ใหญ่ใจดีหามาให้ในครั้งนี้ ทำให้คุณสุวรรณีได้พบกับเพื่อนใหม่ ที่ต่อมาได้เป็นเพื่อนคู่ใจและกลายมาเป็นคู่ชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งนับว่าเป็นโชควาสนาของเธอ ที่หยกทำให้เธอได้เจอะเจอคนที่ดีและเป็นคู่ครองที่สามารถเรียกได้ว่า เป็น “กิ่งทองใบหยก” สมดังคำโบราณที่กล่าวขานต่อๆกันมานั่นเอง
 

อาทิตย์หน้า ผมจะเล่าถึงการได้พบกับพระเอกของเรื่องนี้อย่างไรให้ฟังนะครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ