เงินดิจิทัลในภาวะ “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก”

05 ต.ค. 2566 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2566 | 12:09 น.

เงินดิจิทัลในภาวะ “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” โดยสมหมาย ภาษี

นโยบายแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคนำของรัฐบาลปัจจุบันดูเหมือนว่าจะติดหล่มยึกยักจนหาช่องหายใจไม่ได้จนถึงทุกวันนี้เสียแล้ว เพราะถึงขณะนี้ยังไม่รู้ว่าวิธีดำเนินการจะทำอย่างไรกันแน่ ทราบแต่เพียงว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา ดูเหมือนว่าจะใช้วิธีเดียวกันกับรัฐบาล 8 ปีที่เพิ่งหมดยุคออกไปนั่นแหละ

ประเทศไทยแม้ว่าต้องอยู่กับภาวะการเงินการคลังที่ไม่ค่อยจะดี แถมต้องเจอกับมรสุมรุนแรงด้านเศรษฐกิจมาหลายครั้งตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากวิกฤตน้ำมันสมัยท่านนายกป๋าเปรมประมาณช่วงปี 2523 - 2524 ภาวะเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ทำให้สถาบันการเงินและธุรกิจเอกชนล้มระเนระนาดในปี 2540 จนถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และในช่วง 2554 - 55 ยุคที่คนไทยมีแต่การแยกกันเป็นสีต่างๆ ออกมาเดินตามท้องถนนในยุคจำนำข้าวเปลือก เป็นต้น ซึ่งเราก็เอาตัวรอดมาได้ทุกครั้ง แต่อย่าลืมนะครับว่าทุกครั้งจะมีต้นทุนที่ประชาชนผู้เสียภาษีอากรต้องรับภาระจ่ายมากมายมหาศาล และไม่ใช่จ่ายครั้งเดียวจบ แต่ต้องนำภาษีอากรในอนาคตมาจ่ายหนี้ก้อนโต ซึ่งวันนี้ก็ยังมีภาระอีกมากเป็นหลักแสนๆ ล้านบาท

แล้วตอนนี้คนไทยทุกคนก็กำลังเห็นชัดกับเงินดิจิทัลที่รัฐบาลโดยการนำของพรรคเพื่อไทยกำลังจะนำออกมาแจกภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีงบประมาณนี้เป็นจำนวนถึง 560,000 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีนี้ จำนวน 3,480,000 ล้านบาท หรือเท่ากับ 16% ของงบทั้งปีซึ่งเงินยอดนี้โตเกือบเท่างบประมาณขาดดุลที่รัฐบาลต้องไปกู้เงินมาใช้ตามปกติทีเดียว

คำถามที่ทั้งประชาชนและผู้รับผิดชอบในรัฐบาล นับตั้งแต่ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ลงมาจนถึงท่านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กำลังหาคำตอบอย่างหัวปักหัวปำอยู่ในขณะนี้ คือ จะหาเงินจำนวน 560,000 ล้านบาท นี้มาจากไหน โดยไม่ไปสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เพิ่มขึ้นมากจนออกนอกกรอบ อะไรทำนองนี้

เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย กรอบด้านการคลังที่ออกมาเป็นกฎหมาย กฎกระทรวงและระเบียบ ที่คนที่ได้ทำงานให้ประเทศชาติด้านการเงินการคลังรุ่นก่อนๆ ได้วางไว้ให้รัฐบาลใช้เพื่อกำกับดูแลเศรษฐกิจและการเงินการคลังของประเทศนั้น ถือว่ารัดกุมแต่ก็เปิดความคล่องตัวให้รัฐบาลใช้บริหารการเงินการคลังอย่างมีวินัยและมีธรรมาภิบาลได้เป็นอย่างดี

ดีจริงๆ ครับ แต่ที่ไม่ดีคือโครงสร้างด้านการคลังของไทยถูกรัฐบาลยุคหลังๆ ทำให้ไขว้เขวจนบิดเบี้ยว คือจะให้โตแต่ด้านรายจ่าย ซึ่งรวมรายจ่ายที่โยงกับการคอร์รัปชั่นไปถึง 20 - 30% แต่ด้านรายได้กลับไม่ได้รับการใส่ใจดูแล และด้านคอร์รัปชั่นก็มีแต่เลวลง นี่คือปัญหาใหญ่ของประเทศ

ขอยกตัวอย่างว่ากรอบการคลังของไทยที่ดีสักเรื่อง คือ บรรดางบประมาณที่รัฐบาลต้องเอาไปใช้จ่ายในเรื่องใดก็ตาม ต้องมีที่มาจากรายได้ของรัฐบาลเท่านั้น ถ้าจะเอาจากรัฐวิสาหกิจก็ต้องให้เขาแบ่งกำไรแต่ละปีมาให้เป็นรายได้ของรัฐก่อน แล้วก็เอารายได้อื่นที่เป็นของรัฐมาใส่เข้าไป เช่น รายได้จากค่าสัมปทาน เป็นต้น

ซึ่งปกติทุกปีรายได้ของรัฐบาลจะไม่พอ ขาดเท่าไหร่ก็ต้องกู้เงินมาจากแหล่งเงินต่างๆ ที่สำคัญคือจากตลาดตราสารหนี้ ยอดเงินที่ต้องกู้มานี้เรียกว่า ยอดการคลังขาดดุล ซึ่งมีกรอบเป็นกฎหมายที่ชัดเจนว่าแต่ละปีจะกู้มาได้เท่าไหร่ ส่วนเงินที่รัฐจะนำออกมาใช้จะเป็นเงินดิจิทัล หรือ แอปเป๋าตัง หรือเป็นธนบัตรที่ต้องพิมพ์ออกมา ก็ต้องอยู่ในกรอบนี้ นอกกรอบนี้ทำไม่ได้ครับ

เคยมีทำกันนอกกรอบข้างในอดีต เช่น โครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาลท่านยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยไปขอแบบบังคับให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เอาเงินสำรองที่มีอยู่มาใช้ก่อน เพราะถือว่าเป็นเรื่องการเกษตร และตั้งโจทย์ว่าเป็นเงินหมุนเวียนไม่ได้คิดเรื่องของการขาดทุนที่มากมายเลย ผ่านมาประมาณ 10 ปีแล้ว จนทุกวันนี้ยังมีหนี้คงค้างที่ ธกส. ต้องแบกรับรอทยอยการชำระจากกระทรวงการคลังถึง 200,000 กว่าล้านบาท งานนี้แม้รัฐบาลจะตั้งงบประมาณทยอยจ่ายให้ทุกปี แต่ ธกส. ก็เจ็บตัวและเหนื่อยฟรี

มีข่าวออกมาทางสื่อว่ารัฐบาลจะไปเอาเงินจากธนาคารออมสินมาใช้เพื่อการนี้สักประมาณ 200,000 ล้านบาท พอข่าวออกคนฝากเงินก็ขยับตัวที่จะถอนเงินฝากที่ฝากกันมาจนแก่เฒ่าออก อย่างนี้ก็เป็นเรื่องอันตรายนะครับ ธนาคารออมสินถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้ช่วยรัฐบาล แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบที่วางไว้ ไม่ใช่ใช้วิธีตาแป๊ะไปหยิบเอาเงินอาม่าที่นอนหายใจระรวยมาใช้นะครับ

ในประเทศสหรัฐอมริกาที่มีข่าวว่ารัฐบาลอาจต้องปิดทำการ หรือ ชัตดาวน์ในเร็วๆ นี้ เมื่อวันเสาร์ที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา สองพรรคการเมืองใหญ่ตกลงกันได้ให้แก้ปัญหาชั่วคราวโดยสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างงบประมาณระยะสั้นให้ใช้จ่ายงบประมาณต่อไปได้อีก 45 วัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลของไบเดน ได้กู้เงินชนเพดานหนี้แล้ว จะไปกู้เงินเพิ่มอีกไม่ได้แล้ว พูดภาษาชาวบ้านก็คือรัฐบาลไปพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาไม่ได้อีกแล้ว ต้องถูกชัตดาวน์เท่านั้น ผมเคยฟังคนไทยพูดกันเรื่อยว่า รัฐบาลอเมริกาจะพิมพ์แบงค์ดอลลาร์ออกมาเมื่อไหร่เท่าไหร่ก็ได้ อ่านเรื่องนี้คงเข้าใจนะครับว่าอเมริกาใหญ่อย่างไรก็พิมพ์แบงค์ดอลลาร์ตามใจชอบไม่ได้

ได้เห็นงบประมาณรายจ่ายเบื้องต้นของรัฐบาลใหม่ ประจำปี 2567 แล้ว รู้สึกเห็นใจแทนเหลือเกินกล่าวคือ งบประมาณ 3.480 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้ว 9.26% ประมาณการรายได้ 2.787 ล้านล้านบาทเพิ่มจากปีที่แล้ว 11.93% อันนี้เรียกว่าเบ่งเต็มที่แล้ว ด้วยประมาณการของสถาบันการเงินนานาชาติว่าเราจะโตได้ 25 - 3.5% แค่นั้น การจะเก็บรายได้เพิ่มถึง 12% เป็นไปไม่ได้ถ้าหากไม่รีบปรับปรุงเรื่องภาษีให้เป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน

ที่สำคัญโปรดสังเกตงบขาดดุลงบประมาณปีนี้ที่กำหนดไว้ 693,000 ล้านบาท ลดจากยอดขาดดุลปีที่แล้วจำนวน 695,000 ล้านบาท หน่อยหนึ่ง ตัวนี้ชี้ให้เห็นชัดมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว แสดงว่าปีนี้ติดกรอบการเงินการคลังที่ผมบอกว่าเป็นกรอบที่ดีและรัดกุมแบบไม่มีช่องให้ดิ้นได้อีกแล้ว

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลนี้ทำอย่างที่พูดว่าจะรักษาวินัยทางการคลังจริงๆ ละก็ ต้องใช้มีดที่คมกริบหั่นงบประมาณ 3.480 ล้านล้านบาท ลงให้ได้อย่างน้อย 10% หรือเท่ากับ 348,000 ล้านบาท แล้วนำไปใช้ทำเป็นเงินดิจิทัลแจกประชาชนเฉพาะที่ยากจนจริงๆ เท่านั้น ก็จะได้ผลตามความเห็นและความเป็นห่วงของท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย