ไปดูความยั่งยืนที่ไม่พูดแต่ปากของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย

25 ก.ย. 2566 | 11:10 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2566 | 11:17 น.

ไปดูความยั่งยืนที่ไม่พูดแต่ปากของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย โดยสมหมาย ภาษี

ในช่วงวันที่ 9 - 1 7 กันยายน ที่ผ่านมา ในฐานะประธานกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่กำกับดูแลตลาดตราสารหนี้ที่มีมูลค่าตลาดขณะนี้ถึง 16.7 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 96% ของ GDP ผมได้ร่วมในคณะกรรมการและที่ปรึกษาสมาคมฯ ไปดูงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมการนำธุรกิจไปสู่การระดมทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาลที่ดี (Environment, Social, and Good Governance) หรือที่เรียกว่า ESG

การไปดูงานครั้งนี้เราพยายามจะไปศึกษาจากประเทศที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มายาวนานคือจากกลุ่มประเทศ Scandinavia หรือ Nordic โดยได้เลือกไปประเทศนอร์เวย์และสวีเดน เรื่องนี้ในปัจจุบันถือเป็นแนวโน้มที่สำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้มากที่สุดทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและที่กำลังพัฒนา ซึ่งขณะนี้มีการพูดถึงกันมาก ไม่ว่าจะเป็น Green Project, Green Business เป็นต้น

โดยสรุป ESG คือสามมิติหลักที่ทั้งส่วนราชการและบริษัทต้องให้ความสำคัญ เริ่มมาจากการมุ่งพัฒนาให้ตลาดทุนแข็งแกร่งจริงๆอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องสนใจดูผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจด้วย คือ Stake holders ที่ควรได้รับสิ่งที่ดีจากสิ่งแวดล้อม (E) จากสังคม (S) และจากการมีธรรมาภิบาลที่ดี (G) ด้วย

ปัจจุบันตลาดการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศยุโรปได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนหรือการให้กู้เงินเพื่อสนับสนุนให้โลกของเราดีขึ้น หรืออย่างน้อยให้เสื่อมโทรมช้าลง โดยมีกองทุนที่มุ่งเน้นลงทุนในโครงการที่สนับสนุน ESG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคธุรกิจต่างๆ เช่น พลังงาน คมนาคมอุตสาหกรรม และการก่อสร้างมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้โลกร้อนขึ้น จึงเกิดมีศัพท์ใหม่ขึ้นมา สำหรับการระดมทุนเพื่อโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมว่าเป็น Green Financing หากเป็นเงินกู้ธนาคารก็เป็น Green Loan ส่วนถ้าระดมทุนด้วยตราสารหนี้ก็เรียก Green Bond เป็นต้น

เมื่อได้เดินทางกลับมาประเทศไทย เพื่อนฝูงบางคนได้ถามว่าหายไปไหนมาร่วม 10 วัน ผมก็ได้ตอบไปว่าผมได้ไปดูความยั่งยืนของเมืองสวรรค์บนดินมา คือไปเมืองออสโล (Oslo) ของนอร์เวย์และเมืองสตอคโฮล์ม (Stoc kholm) ของสวีเดน ซึ่งจะขอเล่าสู่กันฟังสัก 3 เรื่อง ดังที่จะสาธยายต่อไปนี้

เรื่องแรก คือ ด้านการจัดการจราจรภายในย่านกลางเมืองหลวงให้คล่องตัวและเป็นระเบียบ

บนถนนที่สมบูรณ์แบบนอกจากมีเลนให้รถยนต์วิ่งแล้วยังมีเลนกว้างประมาณ 3 เมตร ให้ผู้คนขี่จักรยานและสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าสัญจรอย่างร่าเริง คนเดินผ่านได้แต่อย่าให้จักรยานมาชน เพราะกฎเขาจะถือว่าฝ่ายผู้ขับขี่จักรยานที่ชนคนเดินเท้าเป็นฝ่ายถูกเสมอ นอกจากนี้ฟุตบาทแต่ละข้างของถนนจะกว้างกว่าฟุตบาทแถวเพลินจิตของกรุงเทพมหานครถึงสองเท่า แต่ไม่มีแม่ค้าพ่อค้ามาวางของขายบนฟุตบาทให้เห็นเลย ยิ่งกว่านั้นก็ไม่ค่อยเห็นรถจักรยานยนต์วิ่งบนถนนหรือจอดข้างถนนเลย ยกเว้นตามที่ว่างเปล่าบางจุดกลับจะเห็นที่จอดรถจักรยานแบบปลอดภัยไม่ให้ใครสามารถขโมยไปได้อีกด้วย ถ้าท่านผู้ว่ากทม. จะจัดให้คนกรุงใช้จักรยานกันอย่างจริงจังและปลอดภัย ก็ควรส่งผู้บริหารไปดูงานที่เมืองสตอคโฮล์มนี่แหละ

ที่มีให้เห็นชัดทั่วไปคือ ช่องที่จัดให้รถยนต์ออกจากถนนในเมืองไปเข้าถนนทางด่วนมีมากในย่านกลางเมือง ผมสันนิษฐานเอาว่าทางการเขาจงใจจัดการดูแลและกำหนดให้ช่องทางที่สมควรให้มีการต่อเชื่อมทางเข้าออกทางด่วนได้อย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดของการจราจรในเขตเมือง ที่ทำอย่างนี้ได้เพราะไม่มีการเก็บค่าผ่านทางด่วนเลย เรื่องนี้ถ้าผู้ว่ากทม. สามารถคุยกับการทางพิเศษฯ และทำได้ก็จะน่าชื่นชมอีกเรื่อง

เรื่องที่น่าทึ่งมากสำหรับกรุงสตอกโฮล์ม คือ การจัดถนนที่มีการสัญจรมากในใจกลางเมือง โดยเฉพาะถนนที่มีศูนย์การค้าที่มีผู้คนพลุกพล่านให้เป็นถนนสองชั้น ถนนชั้นสองพร้อมฟุตบาทและมีเลนรถรางด้วยนั้นไม่ใช่แคบเหมือนถนนทางด่วนยกระดับในกรุงเทพมหานครนะครับ แต่นี่กว้างใหญ่กว่านั้นถึงสามเท่า และทอดยาวไปร่วมสองกิโลเมตรโดยไม่มีรถเข็นหรือรถจักรยานยนต์ให้เห็นแต่อย่างใด ผมคิดว่าบริษัทที่ผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยคงไม่มีโอกาสส่งออกรถจักรยานยนต์ไปขายให้ประเทศเขาได้เลย

สิ่งที่เราคนไทยรู้สึกได้ดีเมื่อเดินบนถนนที่นั่น ก็คือไม่มีกลิ่นควันพิษต่อหลอดลมเราแม้แต่น้อย ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่าบ้านเมืองเขามี ESG อย่างเต็มที่ ดีทั้งสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านการบริหารจัดการ


เรื่องที่สอง คือการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีให้เห็นภาพของความยั่งยืน

ในเมืองออสโลไม่ว่าในสวนสาธารณะน้อยใหญ่ที่มีอยู่ทั่วไป จะมีต้นไม้เก่าแก่และสวนหย่อมของดอกไม้บานสะพรั่งสวยงาม ตามแนวชายฝั่งของฟยอร์ด หรือทะเล จะมีแต่ความสะอาด เป็นที่ให้ประชาชนได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริง จะมีร้านอาหารอยู่บ้างแต่ก็มีการกำหนดที่ทางให้เข้ากับธรรมชาติเป็นอย่างดี

สภาพสิ่งแวดล้อมที่มองเห็นชัดว่าเป็นการจัดให้เกิดขึ้นและมีการดูแลให้เกิดเป็นความยั่งยืนที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นสีเขียว (Shades of green) ที่แท้จริงนั้น คือ การปลูกต้นไม้ใหญ่เป็นแนวสองข้างถนนที่ เป็น Highway ตลอดแนว โดยเฉพาะทางด่วนใจกลางเมืองสตอคโฮล์มไปสนามบินที่ต้องขับรถใช้เวลาถึงหนึ่งชั่วโมงเต็ม ซึ่งต่างกับภาพของอาคารเรียงรายตลอดแนวจากใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครไปสนามบินสุวรรณภูมิ

จำได้ว่าเมื่อประมาณยี่สิบห้าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยโดยรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และรวมทั้งภาคเอกชน เช่น ปตท. ได้จัดสรรรายได้ก้อนโตมาทำการปลูกป่าทั่วประเทศ ถือเป็นการเริ่มรณรงค์เรื่องปลูกป่าที่เอาจริงเอาจังมาก แต่พอผ่านไปได้ 2 ปีก็เงียบ โดยตอนนี้มีแต่ ปตท. ที่ยังดำเนินการปลูกป่าอยู่บ้าง แต่ทางการเงียบสนิท ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับรัฐบาลเรา

เรื่องที่สามที่สำคัญ คือ สภาพของความเป็นอยู่ที่มีความสุขแบบยั่งยืนของประชาชนที่เสียภาษีอยู่ในอันดับสูงมากของโลก แต่ประชาชนได้รับสวัสดิการจากรัฐดีที่สุดเหนือประเทศต่างๆ ในโลก

เรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะแต่ละประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียล้วนมีประชากรน้อย กล่าวคือ นอร์เวย์ มีประชากรแค่ 5 ล้านคน และสวีเดนมีประมาณ 9.5 ล้านคน แต่เขาสามารถสร้างฐานะการคลังของประเทศได้อย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศที่มีการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีความเป็นธรรมาภิบาล และประชาธิปไตยที่โปร่งใสและยั่งยืน เขาบริหารจัดการประเทศอย่างไรกัน

โครงสร้างพื้นฐานของประเทศในกลุ่มนี้เป็นประเทศที่มีพลเมืองค่อนข้างน้อย แต่เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ผ่านการต่อสู้มามาก มีผู้นำที่มีความเฉลียวฉลาดและบริหารประเทศด้วยธรรมาภิบาลสูง จึงสามารถสร้างโครงสร้างทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ที่ยั่งยืนแทบไม่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เมื่อเป็นเช่นนี้โครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลก็ทั้งแข็งแกร่งและมั่นคงยั่งยืน

ดูโครงสร้างของภาษีของประเทศนอร์เวย์ปี 2020 จะเห็นได้ชัดว่าเป็นภาษีที่จัดเก็บจากรายได้จากภาษีบุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล รวมกันถึง 36% ของภาษีทั้งหมด ในสัดส่วนนี้เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 29% รองลงมาเป็นภาษีการค้ามีสัดส่วน 29% ในสัดส่วนนี้เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถึง 24%

ดูจากโครงสร้างภาษีของประเทศนอร์เวย์แล้ว ทั้งประเทศพึ่งภาษีหลักอยู่ 2 ประเภทแค่นั้น คือภาษีเงินได้จากบุคคลธรรมดา 29% และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 24% รวมแล้วเกินครึ่งของรายได้ของรัฐบาลทั้งหมด

เมื่อนำมาเทียบกับโครงสร้างภาษีของไทยที่มีพลเมือง 65 ล้านคน มากกว่านอร์เวย์ถึง 13 เท่า ปรากฎว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสัดส่วนแค่ประมาณ 12% ของรายได้รัฐบาลเท่านั้น แสดงว่าของเราพลเมืองมากแต่เป็นคนจนเสียส่วนใหญ่ และจะจนยั่งยืนแบบนี้ไปอีกนาน ถ้าได้รัฐบาลที่ไม่กล้าแตะภาษี ภาษีหลักของไทยที่เป็นที่พึ่งหลักของประเทศคือภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30% ของรายได้รัฐบาล โดยไทยเราเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราแค่ 7% ถือว่าต่ำสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามานาน การคลังของไทยจึงไม่เข้ากรอบ ESG เลย

สรุปจุดอ่อนของระบบภาษีไทยเมื่อเทียบกับกลุ่มของประเทศนอร์ดิก

หากไทยเราต้องการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะละเลยไม่เอาใจใส่เรื่องภาษีที่เป็นรายได้ของรัฐเหมือนรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่ได้อีกแล้ว เพราะภาษีที่เพิ่มจะไปเพิ่มสวัสดิการและความอยู่ดีกินดีของประชาชน และภาษีที่ขยายตัวก็จะเป็นฐานในการขยายตัวของ GDP

เร็วๆ นี้กระทรวงการคลังได้ออกข่าวใหญ่ว่าจะปฏิรูประบบภาษี ก็น่าจะต้องพุ่งความสนใจไปที่การปรับปรุงระบบของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นลำดับแรก จะกำหนดอัตราขั้นต่ำของเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีที่ 25,000 บาทก็ได้ ถ้ามีการปรับกฎเกณฑ์ให้ผู้รับเงินเดือนน้อยเข้าระบบและรู้จักเสียภาษีเงินได้ให้รัฐบ้าง แม้จะน้อยนิดก็ยังดีกว่าปล่อยให้ประชาชนไม่รู้จักการเสียภาษี หากบางคนใหญ่โตเป็นนักการเมืองขึ้นมาจะรู้จักการเสียภาษีที่ดีให้รัฐ

เรื่องสำคัญต่อมา คือ กระทรวงการคลังต้องได้รับฉันทามติ (Mandate) จากรัฐบาลให้มีการปรับปรุงระบบภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบัน ให้เวลาไปศึกษาให้จบและนำไปใช้ให้ได้ภายใน 1 ปี โดยต้องไปศึกษาจากระบบของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความยั่งยืนทางด้านการเก็บภาษีของประเทศ กระทรวงการคลังต้องไม่กลัวการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ในกลุ่มนอร์ดิกอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสูงสุดอยู่ที่ 25% นี่สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย ของเขามีหลายอัตรา ต่ำสุดเป็นกลุ่มยาและอาหารเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 3% เท่านั้น ของเราก็ทำหลายอัตราได้ อย่าไปคิดแต่จะขึ้นทีละ 1 - 2 เปอร์เซ็นต์

ได้คุยกับคนที่เป็นนอร์ดิกในสองประเทศที่ไปดูงานมา ได้ฟังเขาพูดด้วยความภูมิใจว่า เขามีความสุขที่จ่ายภาษีให้รัฐบาลเขา 30% ของรายได้ของเขา เพราะว่าไม่ต้องเป็นห่วงเมื่อพ่อแม่เขาเจ็บป่วย เพราะรัฐบาลรับรักษาฟรีด้วยโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานดีพอๆ กัน และไม่ต้องห่วงเรื่องการศึกษาที่เป็นอนาคตของลูกๆ เพราะเมื่อถึงวันที่ลูกจะต้องเข้าโรงเรียน ก็สามารถเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี

แล้วรัฐบาลไหนของไทยจะทำให้คนไทยเกิดความภูมิใจใกล้เคียงกับเขาได้บ้างไหมครับ