หนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียว พุ่งชนรัฐบาลใหม่

08 ก.ค. 2566 | 07:45 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2566 | 08:12 น.

บทบรรณาธิการ หนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียว พุ่งชนรัฐบาลใหม่

หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่พุ่งไม่หยุดทำให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) นั่งไม่ติด เสนอผ่านกระทรวงมหาดไทย ผ่าทางตัน ในนาทีสุดท้ายก่อนเปลี่ยนผ่าน “รัฐบาลประยุทธ์” ไปสู่ “รัฐบาลใหม่” ที่กำลังจะโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” ในอีกไม่กี่วัน 
 
การชิงเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) (5 ก.ค.66) ครั้งนี้ เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง และดอกเบี้ยในอนาคตทั้งหมด 

โดยปัจจุบันกทม.มีภาระหนี้จากงานโครงสร้างพื้นฐานการซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ ทั้งสิ้น 78,830 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 13 มี.ค. 66) แต่หนี้ก้อนนี้ต้องส่งผ่านไปที่รัฐบาลใหม่เท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันพ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ 2566 มีผลบังคับใช้แล้ว  

การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินรถไฟฟ้าสายสีเขียว  จึงไม่สามารถเสนอ ครม.ประยุทธ์ ให้พิจารณาได้  เพราะจะมีผลสร้างภาระผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป ที่สำคัญถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ อันเนื่องมาจากยุบสภาผู้แทนราษฎร เรื่องนี้ถูกตีตกทำได้เพียงมีมติรับทราบ และในเบื้องลึก กทม. ต้องการให้ครม.ประยุทธ์ มีมติปลดล็อกคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. (ม.44 ) เพื่อใช้พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2562 แทน  
 
ย้อนไปก้อนหน้า (22 ก.พ. 65 ) ผู้ว่าฯ กทม.สมัยนั้น พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ยืนยันว่าได้มีการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ครบถ้วน และถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำสั่งหัวหน้า  คสช. (ม.44 ) เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2562 แล้ว

ต่อมา นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน มีแนวทางดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือ ลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชน ทำให้การบริการสาธารณะเป็นโครงข่ายเดียวกัน มีการขอรับสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถที่เป็นในส่วนของไฟฟ้าและเครื่องกล เหมือนกับรถไฟฟ้าสายอื่น ที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ค่าโดยสารถูกลงประชาชน รับภาระได้ โดยเฉพาะส่วนต่อขยาย หมอชิตสะพานใหม่-คูคต และแบริ่งไปสมุทรปราการ  

และให้ดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2562 เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกเอกชนผู้ลงทุนมีความรอบคอบตรวจสอบได้ แตกต่าง จาก “ม.44”  ที่นำมาใช้แก้ปัญหาหนี้ โดยขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบให้กับเอกชนอีก 30 ปี หากหมดอายุสัมปทาน ปี 2572   
 
สำหรับทางออก เห็นด้วยกับที่สำนักงบประมาณเสนอ คือ กระทรวงมหาดไทยโดยกทม.ต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำข้อมูลการประมาณการวงเงินภาระหนี้สิน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมด จนจบสัญญาสัมปทานในปี 2572 เปรียบเทียบการประมาณการ รวมถึงรายได้สถานะทางการเงิน ของกทม.จัดทำข้อเสนอแผนการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นรายปี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาครม.ในโอกาสแรกต่อไป

ชัดเจนว่า หนี้ก้อนใหญ่ที่ลุกโชนของ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” กำลังพุ่งชนรัฐบาลใหม่